เคยเห็นกันไหม ผ้าอนามัยสมัยก่อน

 

 

 

 

 

วิวัฒนาการผ้าอนามัย จาก กาบมะพร้าว กระดาษฟาง นุ่น แกลบ แบบห่วง แบบสายคาด มาจนถึง เบา บางเฉียบ ในปัจจุบัน!

เรื่องของเรื่อง ทิชชี่ มีโอกาสได้ไปนั่งชิวล์ ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ภายในร้านตกแต่งสไตล์ย้อนยุค วินเทจ ประดับประดาด้วยของเก่าทั้งสิ้น มีตู้โชว์ที่เต็มไปด้วยของสะสมแปลกๆ หลากหลาย และที่ ทิชชี่ สะดุดตามากมายเลยก็คือ ของใช้ของผู้หญิง ที่ขาดไม่ได้ ถ้าขาดมีเลือดสาด นั่นก็คือ "้ผ้าอนามัย" ค่ะ

มีหลายยี่ห้อ ผ้าอนามัยแต่ละยี่ห้อ เป็นยี่ห้อที่ทิชชี่ และเชื่อว่าคุณผู้หญิงหลายคนเกิดไม่ทันแน่นอน มองไป อ่านมาก็เพลินตาดี สมัยก่อนเขามีการโฆษณาขายสินค้าน่ารักดีนะคะ เช่น

ผ้าอนามัย ออลเดย์ 8 ชิ้น 15 บาท พร้อม อ.อ่างอรชร มูลค่ารวม 35 บาท ขายเพียง 20 บาทเท่านั้น

ผ้าอนามัย ทีแอลเลดี้ แถมจานแถมช้อน หรืออีกหลายยี่ห้อ ที่มีของแถมแปลกๆ หรือคำโฆษณาน่ารักๆ ให้ได้ยิ้มตาม

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ทิชชี่ ก็ได้กลับมาหาข้อมูลความเป็นมาของ "ผ้าอนามัย" ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ยิ่งอ่านยิ่งรู้เลยว่า มนุษย์เรานี่เก่งสุดๆ เนอะ ช่างคิดทำนู้นทำนี่เพื่ออำนวยความสะดวก ตอบสนองความต้องการตัวเอง

เรื่องของผ้าอนามัย มีความเป็นมาอย่างไร ทิชชี่มีข้อมูลดีๆ มาฝากแล้วค่ะ

ผ้าอนามัยชิ้นแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อใด “ซองคำถาม” ไม่ทราบ เพราะมีแต่ข้อมูลฝ่ายไทย ซึ่งได้มาจากนิตยสาร UPDATE ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘๔ สมัยก่อนคนรุ่นย่า ยาย เวลามีประจำเดือนจะใช้เศษผ้าเก่า ๆ มาพับเป็นแถบยาว สอดไว้หว่างขาแล้วใช้เชือกกล้วย เชือกฟาง หรือผ้าที่เย็บเป็นสายยาว ผูกไว้กับเอวคล้ายนุ่งผ้าเตี่ยว บางคนที่นุ่งผ้าถุงก็ใช้เข็มขัดที่คาดผ้าถุงนั้นคาดแถบผ้าไว้ ส่วนวัสดุที่แทรกไว้ในผ้าเพื่อช่วยซึมซับมีหลากหลาย ตั้งแต่ทบผ้าให้หนา ๆ ไปจนถึงสอดไส้ด้วยกาบมะพร้าวทุบ กระดาษฟาง นุ่น แกลบ หรือขี้เถ้าแกลบ

ส่วนผ้าอนามัยสำเร็จรูปนั้น เอนก นาวิกมูล อ้างไว้ในหนังสือ “แรกมีในสยาม” ว่า หลักฐานเรื่องผ้าอนามัยเก่าสุดที่พบ เป็นโฆษณาขายผ้าซับระตูในหนังสือ “ข่ายเพ็ชร์" ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ (ถ้านับอย่างปัจจุบันเท่ากับ พ.ศ. ๒๔๖๙) เป็นช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่คงมีมาก่อนแล้วอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ ๖

ผ้าอนามัยเริ่มวิวัฒนาการขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราว พ.ศ. ๒๔๘๕ สาวไทยได้รู้จักผ้าอนามัยแบบห่วงยี่ห้อ “โกเต็กช์” ซึ่งจะต้องใช้ตะขอของสายคาดเอวเกี่ยวกับห่วงสองข้างของตัวผ้าอนามัย

ผ้าอนามัยแบบห่วงมีข้อจำกัดอยู่ที่เมื่อใช้ไปนาน ๆ จะไม่กระชับเพราะสายคาดยืด จน พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงมีการพัฒนาเป็นผ้าอนามัยแถบปลายโดยเซลล็อกช์ ผ้าอนามัยแถบปลายจะคล้ายกับผ้าอนามัยแบบห่วง แต่ในส่วนปลายของด้านกว้างทั้งสองข้างจะเป็นผ้าใยเทียมปลายเรียวยาวออกไปแทนห่วงทั้งสองข้าง ทำให้สามารถปรับเลื่อนปลายผ้าที่ติดอยู่กับตัวผ้าอนามัยได้จึงกระชับตลอดเวลา แต่ทั้งแบบห่วงและแบบแถบปลายก็ยังต้องใช้สายคาด เวลาใช้จะเห็นรอยของสายคาดและปมตะขอพลาสติก ทำให้ใส่เสื้อผ้ารัดรูปไม่ได้ จึงมีการวิวัฒนาการรูปแบบอีกครั้งเป็นผ้าอนามัยแถบกาว ซึ่งแซนนิต้านำเข้ามาในกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๕

ถึงแม้ว่ารูปแบบของผ้าอนามัยจะมีการพัฒนา แต่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตก็ยังคงเป็นแบบเยื่อกระดาษ (pulp) มาตลอด จุดสำคัญของการผลิตอยู่ที่เยื่อกระดาษที่ถูกตีจนละเอียดเหมือนปุยสำลี (crushed pulp)แล้วหุ้มด้วยผ้าใยเทียมไม่ทอ (nonwoven) เป็นชั้นนอก ผ้าใยเทียมไม่ทอจะทำหน้าที่เหมือนถุงที่บรรจุเยื่อกระดาษไว้ภายใน โดยมีคุณสมบัติปล่อยผ่านของเหลวให้ไหลลงสู่เยื่อกระดาษอย่างเร็วที่สุด ไม่ค้างอยู่ภายนอกนาน ส่วนเยื่อกระดาษที่ดี อุ้มของเหลวได้มาก จะต้องละเอียด แต่เมื่อตีจนละเอียดถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว จะตีให้ละเอียดมากกว่านั้นอีกไม่ได้ ทำให้ผ้าอนามัยแบบเยื่อกระดาษต้องมีความหนาพอสมควร เพื่ออุ้มของเหลวได้มากตามต้องการ

แต่เดิมอเมริกาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตผ้าอนามัยที่ใช้เทคนิคการผลิตแบบ pulp แต่แล้วผ้าอนามัยก็สู่ยุควิวัฒนาการใหม่ เมื่อญี่ปุ่นค้นคว้าพบสารชนิดหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เรียกว่า โพลิเมอร์ เจล (polymer gel) ซึ่งเป็นวัสดุจำพวกพลาสติกชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายเม็ดทรายละเอียด มีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถดูดน้ำได้เร็ว อุ้มซึมน้ำได้หลายร้อยเท่าของน้ำหนักตัวมันเอง และดูดซับประจำเดือนได้ถึง ๖๐ เท่าตัว ดังนั้นเมื่อนำเจลนี้ไปผลิตผ้าอนามัย จึงทำให้ผ้าอนามัยมีลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นแผ่นหนา เพราะลดเยื่อกระดาษลง และน้ำที่กลายเป็นเยลลี่แล้วจะไม่ซึมกลับออกมา ขณะที่ผ้าอนามัยที่ใช้เทคนิคการผลิตแบบ pulp จะคล้ายสำลี เมื่อถูกกดบีบจึงมีโอกาสที่ของเหลวจะไหลกลับออกมาได้

ทั้งคุณผู้หญิงคุณผู้ชายที่ชอบดูโทรทัศน์ อาจเคยได้ยินคำเหล่านี้จากโฆษณา อาทิ เยื่อหุ้มสเตดรายโคเวอร์ แผ่นซอฟต์ทัช แผ่นใยดรายวีฟ ดรายเมจิก ชื่อที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นชื่อที่ผ้าอนามัยแต่ละยี่ห้อใช้เรียกส่วนที่ทำหน้าที่เป็นถุงห่อเยื่อกระดาษสำหรับซึมซับไว้ภายใน ถ้าดูที่แผ่นผ้าอนามัยจริง ๆ ก็จะเป็นส่วนผิวที่สัมผัสกับร่างกายผู้ใช้นั่นเอง ซึ่งเป็นด่านแรกที่สัมผัสกับของเหลวที่ออกจากร่างกาย และส่งผ่านลงสู่ส่วนล่าง ซึ่งเป็นส่วนที่จะดูดซับและอุ้มของเหลวไว้อีกทีหนึ่ง เติมที่เยื่อหุ้มเหล่านี้จะเป็นผ้าใยเทียมไม่ทอ จำพวกเรยอน (ดูเผิน ๆ จะคล้ายกระดาษ) จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ผ้าอนามัยมีปีกยี่ห้อแรกก็ได้นำพลาสติกโพลิเอทธิลีน (PE) หรือบางยี่ห้อก็เปลี่ยนเป็นพลาสติกโพลิโพรพิวลีน (PP) ซึ่งพลาสติกทั้งสองชนิดนี้มีน้ำหนักเบา รับแรงอัดและแรงดึงได้ดี เป็นฉนวนไฟฟ้า ทนความเย็น ทนกรดและด่างได้ดี มาใช้เป็นส่วนหุ้มเยื่อกระดาษแทนผ้าใยเทียมไม่ทอ เพราะพลาสติกไม่ดูดซับความชื้น ทำให้ส่งผ่านความชื้นลงสู่ส่วนล่างได้เร็วขึ้น จึงรู้สึกแห้งสบาย สะอาด แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้บ่นว่าผ้าใยเทียมไม่ทอจะให้สัมผัสที่นุ่มสบายกว่า ปัจจุบันจึงมีการผนวกแผ่นใยสองชนิดเข้าด้วยกัน

ไม่เพียงแต่ส่วนของเยื่อกระดาษหรือชนิดของผ้าห่อเยื่อกระดาษที่มีวิวัฒนาการ แม้แต่การปั๊มลายของแผ่นเยื่อด้านบนก็มีการค้นคว้าใหม่ ๆ เพื่อให้ซึมผ่านได้ดีและไม่ไหลย้อนกลับ เช่น รูปกรวย ช่องซิกแซ็ก จนต้องมีการจดลิขสิทธิ์เฉพาะของแต่ละผลิตภัณฑ์

อีกอย่างหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือรูปร่างหน้าตาของผ้าอนามัย จากแบบห่วงเป็นแบบแถบปลาย จากแถบปลายเป็นแถบกาว จากแถบกาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายเหลี่ยมเป็นปลายมน เป็นบอดี้ฟอร์มที่ด้านหน้ากว้าง ปลายเรียว ตรงกลางนูน เป็นแบบเว้าขอบขา และสุดท้ายเป็นแบบมีปีก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ผ้าอนามัยที่ว่า ต้องสวมสบายไร้รูปรอย ไม่ซึมเปื้อน และไม่ระคายเคืองนั่นเอง

 


ผ้าอนามัย แบบตะขอ กลางปี ค.ศ. 1920

ผ้าอนามัย ประมาณ ปลายทศวรรษที่ 1940 ถึงตอนต้นทศวรรษที่ 1970 (อเมริกา)
 

ผ้าอนามัย แบบยางยืด ของฟิลิปปิน

 

"ผ้าอนามัย" ที่ทิชชี่เก็บภาพมาฝาก จะมียี่ห้อไหน สรรพคุณอะไรบ้าง คุณจะเคยเห็นหรือไม่ ตามทิชชี่มาดูกันค่ะ

 

ที่มา: http://women.sanook.com/25961/เคยเห็นกันไหม-ผ้าอนามัยสมัยก่อน/
 
Credit: http://board.postjung.com/791943.html
27 ก.ค. 57 เวลา 19:33 2,364 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...