อ.จุฬาฯชี้อย่าตระหนกแมงมุม สงสัยหนุ่มแพร่ให้ข้อมูลไม่ครบ

 

 

นำเสนอข่าวโดยทีมงาน Sanook.com

จากกรณีที่นายอุทัย เวียงคำ อายุ 46 ปี ชาวบ้าน จ.แพร่ อ้างว่าถูก "แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล" กัด จนเป็นเหตุให้จนล้มป่วยอาการสาหัส และต้องตัดขาข้างขวา ซึ่งเป็นข้างที่ถูกกัด ทำให้เกิดกระแสความหวาดกลัวแมงมุมในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก

แต่ล่าสุด ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

"อย่าไปกลัวแมงมุมครับ เห็นหลายคนเริ่มเกิดอาการแตกตื่นกับแมงมุม จนไล่ฉีดยาฆ่าแมลง ไล่ทำลายรังแมงมุม แมงมุมเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมาก และ ไม่ใช่สัตว์อันตรายที่จะต้องไปทำลายมันทิ้งนะครับ (ที่บ้านผมก็มีแมงมุมเยอะ ก็ไม่ได้จะไปฆ่าอะไรมัน)

แมงมุมมีไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่พิษมันรุนแรงมาก ซึ่งที่บอกว่าแรงกี่เท่าๆ ของพิษงูเนี่ย มันหมายถึงในปริมาณของพิษที่เท่ากันด้วย (ปริมาณของพิษแมงมุมที่กัด มันออกมานิดเดียวเอง) เจ้าของภาพของแผลมือเหวอะหวะที่เห็นกันในข่าวนั้น ก็มาจากแมงมุมแม่ม่ายน้ำตาลในต่างประเทศ (Brown Recluse Spider) คนละพันธุ์กับในบ้านเรา แล้วปรกติแมงมุมมันก็ไม่มายุ่งกับเราอยู่แล้ว ขอเพียงแค่เราไม่ไปรบกวนมัน เราก็อยู่ร่วมกับมันได้ครับ"

นอกจากนี้ อ.เจษฎา ยังได้อ้างข้อมูลจากผู้ใช้เฟสบุ๊ก "Chaowalit Songsangchote" ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมงมุม ซึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีของนายอุทัย ว่า

"อาการของนายอุทัยนั้นผมก็ตั้งข้อสังเกตดังนี้

1.นายอุทัยถูกแมงมุมชนิดเดียวกันกัดถึง 2 แห่ง คือ ที่หลังเท้า และที่ขา ทำไมจึงมีบาดแผลเฉพาะที่ขา แต่ที่หลังเท้าไม่มีบาดแผลที่เหวอะหวะแบบที่เกิดขึ้นที่ขาเลย

2.ตกลงแมงมุมที่กัดนายอุทัยเป็นชนิดใดกันแน่ เพราะถ้าดูจากแมงมุมในถุงตัวอย่างที่เก็บส่งแพทย์นั้น ผมก็สังเกตเห็นมีแมงมุมจำนวนประมาณ 7 ตัว มีทั้งแมงมุมหยากไย่ตามบ้าน (แทบไม่มีพิษเลย) แมงมุมพเนจร และมีแม้กระทั่งแมงโหย่ง(ที่ไม่มีพิษเลย และไม่ใช่แมงมุม) ทำไมญาติเก็บมาเยอะแบบนี้ไปหามันมาจากไหน โดยเฉพาะ แมงมุมหยากไย่ และแมงโหย่ง ไม่มีบนที่นอนอย่างแน่นอน และทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นแมงมุมชักใยบนที่สูงทั้งนั้น

3.บาดแผลที่บอกว่าหลังจากถูกกัดไปแล้ว 2 วันแล้วทำให้แผลฉีกขาดแบบนั้น จึงยากที่จะสรุปได้ว่าเกิดจากพิษแมงมุม และหากบาดแผลที่เกิดจากพิษแมงมุม จะต้องเกิดขึ้นทั้งสองตำแหน่งที่ถูกกัด

สรุป คือ นายอุทัยพูดความจริงให้มากกว่านี้ เพราะจากหลักฐานที่ส่งมามันยากที่จะเชื่อจริงๆ ว่าเกิดจากแมงมุมกัด

ทั้งนี้ โอกาสที่เราจะถูกแมงมุมกัดนั้นมีน้อยมากเพราะแมงมุมมันไม่ค่อยจะออกจากใยแล้วเดินเพ่นพ่าน ยกเว้นพวกแมงมุมพเนจรบ้าน หรือแมงมุมหมาป่า แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมันเห็นคนเข้าใกล้หรือทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนก็ทำให้มันวิ่งหนีเตลิดไปเลย ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับแมงมุมกันก่อนนะครับ แมงมุมในโลกของเรามีอยู่ประมาณ 40,000 ชนิด แต่มีแค่ไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่กัดและสามารถทำให้คนตายได้นั่นคือ แมงมุมแม่ม่ายดำ, brazilian wandering spider และ sydney funnel web spider เท่านั้น ที่มีพิษรุนแรงออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท แผลจะไม่เหวอะหวะแบบที่เห็นในรูป

แต่จะมีแมงมุมอีก 2 ชนิดมีพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบเลือด และทำลายเนื้อเยื่อเมื่อถูกกัดแล้วจะทำให้มีอาการเนื้อตายและลุกลาม คือ brown recluse spider และ six eyed sand spider แต่อาการจะค่อยเป็นค่อยไป

โดยจากรูปด้านบนนั้น ที่แผลจะเริ่มเป็นตุ่มหนอง และขยายวงกว้าง ผาดแผลปริออก และลุกลามด้วยอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย หากไม่พบแพทย์โดยด่วนแพทย์อาจจะใช้วิธีคว้านเนื้อที่ตายบริเวณนั้นออก หรืออาจจะต้องตัดส่วนนั้นทิ้งเลย แต่แมงมุมทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีในประเทศไทย

Credit: http://news.sanook.com/1637137/%E0%B8%AD.%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%AC%E0%B8%B2%E0%B8%AF%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%81-%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...