เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ผลสำรวจเผย เด็กกรุงเทพฯ มีปัญหาเพศสัมพันธ์สูง แถมยังหมกมุ่นกับอบายมุข โดยเฉพาะมอระกู่ ด้านที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ แนะ คสช. กำหนดนโยบายเรื่องครอบครัวให้ชัดเจน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 พ.ต.อ.หญิงจินดา กลับกลาย อาจารย์จากกองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงผลสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 2,448 คน ในปี 2556 โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลปี 2554-2555 มีรายละเอียด ดังนี้
ความรู้สึกเกี่ยวกับโรงเรียน
เด็กและเยาวชนมีความรู้สึกในเชิงบวกกับโรงเรียน บรรยากาศโดยรอบของโรงเรียน รวมถึงรู้สึกปลอดภัยเวลาที่อยู่ในโรงเรียน
ความรู้สึกเกี่ยวกับครู
เด็กและเยาวชนมีความรู้สึกว่า ครูมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอน รวมถึงการเป็นที่ปรึกษา
ปัญหาที่พบในการเรียนการสอน
เด็กและเยาวชน ร้อยละ 91.40 ยังใช้วิธีคัดลอกข้อมูลจากเว็บไซต์ เพื่อทำรายงานหรือการบ้านอยู่
ผลสำรวจเรื่องเพศสัมพันธ์
ร้อยละ 37 ยอมรับว่า เคยมีเพศสัมพันธ์ และมีเพียงร้อยละ 10 ของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ที่ใช้ถุงยางอนามัยหรืออุปกรณ์คุมกำเนิด เมื่อมีเพศสัมพันธ์
ร้อยละ 35.00 ยอมรับ เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ และการอยู่ก่อนแต่ง ซึ่งเดิมมีเด็กและเยาวชนยอมรับเรื่องนี้ เพียงร้อยละ 18.53 เท่านั้น
ผลสำรวจเรื่องอบายมุข
เด็กและเยาวชน ร้อยละ 40.86 สามารถเข้าถึงบุหรี่หรือยาเส้นชนิดอื่น ๆ รวมถึงมอระกู่ได้มากขึ้นจากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 16.73
สำหรับแหล่งอบายมุขที่พบรอบตัวเด็กและเยาวชน พบว่า
ครอบครัว
ร้อยละ 55.53 มีคนสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า
ร้อยละ 51.35 เล่นการพนัน
กลุ่มเพื่อนสนิท
ร้อยละ 47.42 มีคนสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้า
ร้อยละ 27.16 เล่นการพนัน
ขณะที่โรงเรียนยังมีปัญหายาเสพติดถึงร้อยละ 36.24 ส่วนพื้นที่ชุมชน ก็พบว่า มีร้านเหล้า และผับเปิดให้บริการ ร้อยละ 40.30
ผลสำรวจเรื่องการใช้ความรุนแรง
ร้อยละ 46.44 ระบุว่า มีเพื่อนนักเรียนพกอาวุธร้ายแรงเข้ามาในสถานศึกษา
ร้อยละ 32.22 ระบุว่า เคยถูกขู่กรรโชกทรัพย์ หรือรีดไถ
พ.ต.อ.หญิงจินดา กล่าวว่า จากการสอบถามเรื่องปัจจัยที่บ่มเพาะความรุนแรงจากเด็กและเยาวชน พบว่า ร้อยละ 41.45 เกิดจากการลงโทษด้วยการตี หรือการใช้กำลังกับนักเรียนในรั้วโรงเรียน และเด็กร้อยละ 42.31 ยอมรับว่า มีเพื่อนสนิทที่ใช้ความรุนแรงอยู่ในกลุ่ม ขณะที่เด็กร้อยละ 74.26 ระบุว่า ปัจจัยที่บ่มเพาะความรุนแรงมาจากบริโภคสื่อที่นำเสนอความรุนแรงจากฉาก และภาพ ทั้งทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ส่วนร้อยละ 47.08 คือ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการต่อสู้
ขณะที่ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมของเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ กำลังมีปัญหาเรื่องเพศ การใช้ความรุนแรง รวมถึงเรื่องอบายมุขเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กและเยาวชนไม่ได้อยู่กับครอบครัว ทำให้ขาดที่พึ่งทางใจ เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่สามารถปรึกษาใครได้ จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาอีกมากมายตามมาในภายหลัง ดังนั้น จึงอยากขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลใหม่ กำหนดนโยบายเรื่องครอบครัวให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัว ขณะที่ทางโรงเรียนก็ควรจัดกิจกรรมที่หลากหลาย รวมถึงการจัดให้มีครูที่สามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก