การที่ผู้ชายแอบดูผู้หญิงอาบน้ำหรือร่วมเพศนั้น ถ้าถามผู้ชายทั่วๆ ไปว่าเป็นสิ่งผิดปกติไหม?
คงจะมีคนตอบว่า ปกติ เพราะเขาเองก็อยากแอบดูด้วย ความอยากแอบดูอาจจะมีได้เป็นปกติ แต่ถ้าหากลงมือเจาะรูแอบดูหรือใช้วิธีการแอบดูอยู่เรื่อยๆ นั้น ถือว่าไม่ปกติแน่ๆ ถือว่าเป็นความเบี่ยงเบนทางเพศชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Voyeurism ซึ่งหมายถึง คนที่มีความสุขจากกการแอบดูคนอื่นเปลือยกาย ถ้าหากเป็นคนที่ชอบแอบดูคนอื่นร่วมเพศแล้วมีความสุขเรียกว่า copophilia มีคนรายงานเข้ามาว่า ตามสวนสาธารณะหรือลานจอดรถในที่เปลี่ยวๆ หลายแห่งที่มีหนุ่มสาวไปพลอดรักกัน มักจะมีบุคคลเหล่านี้ไปแอบดูด้อมๆ มองๆ เป็นประจำ บางคนก็แอบดูในบ้านเช่น ตามรูกุญแจ หรือตามรอยแตกของห้องน้ำ หรือตามช่องหน้าต่าง
นอกจากจะถือว่าเป็นความเบี่ยงเบนทางเพศแล้ว ยังเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น และอาจจะถูกทำร้ายได้ง่ายโดยบุคคลที่ถูกแอบดูหรือญาติของเขา มีบางรายเล่าว่าเคยถูกไม้แทงสวนออกมาทางรูที่แอบดูเกือบทำให้ตาบอดก็มี บุคคลเหล่านี้ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านแขาเรียกว่า นักถ้ำมอง (Peeping Tom) พวกนี้มักเป็นผู้ชายแอบดูผู้หญิงเปลือยหรือร่วมเพศกับผู้ชาย แต่ถ้าเป็นผู้ชายที่ชอบแอบดูผู้ชายเปลือยในห้องน้ำ มักจะเป็นพวกรักร่วมเพศ (Homosexual) บุคคลเหล่านี้มักจะหักห้ามใจตัวเองไม่ได้ แม้จะรู้ว่าไม่ถูกต้อง แต่ก็ห้ามใจตัวเองไม่ได้ เป็นลักษณะของการย้ำคิดย้ำทำในขณะที่แอบดูบางคนจะสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองไปด้วย จนถึงจุดสุดอดได้ บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นคนเรียบร้อย สมยอม ไม่ค่อยก้าวร้าว
ส่วนสาเหตุของการแอบดูคนอื่นเปลือยกายหรือร่วมเพศมาจาก
1. ขาดความอบอุ่นตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งในแง่ความรักและความสนใจ ทำให้รู้สึกว้าเหว่ไม่มั่นใจตัวเอง แม้ว่าบางคนจะมีพ่อแม่ที่เข้มแข็งมักจะอวดตัวเอง ยกตัวเอง และดูถูกลูกชายว่าต่ำต้อยด้อยกว่าก็พบได้มาก
2. มีความรู้สึกด้อยในความเป็นชาย คิดว่าตัวเองเป็นลูกผู้ชายไม่พอ และคิดว่าคนอื่นก็คิดเช่นเดียวกัน พวกนี้มักจะถูกดูถูกในความเป็นชายตั้งแต่เด็กๆ เช่น แม่หรือพ่อ ชอบล้อเลียนหรือติฉินว่าไม่เก่ง ไม่เป็นลูกผู้ชาย แหย หรือยกตัวอย่างว่าเขาอ่อนแอเหมือนคนที่อ่อนแออื่นๆ โดนการสบประมาทตลอดมา หลายๆ รายมีแม่ที่เข้มแข็ง มีพ่อที่อ่อนแอ และแม่ชอบประณามพ่อหรือเพศชายให้ลูกฟัง และติเตียนลูกว่า เขาจะอ่อนแอหรือเลวเหมือนพ่อ หรือเหมือนผู้ชายเหล่านั้น เด็กจึงหมดความภาคภูมิใจในความเป็นชาย และคิดว่าตัวเองด้อยความเป็นชายตลอดมา เขาจึงไม่กล้าจะจีบผู้หญิงทั่วไป หรือมีเซ็กส์กับผู้หญิงทั่วไปเหมือนผู้ชายอื่นๆ เพราะเขากลัวความล้มเหลวหรือกลัวว่าจะมีการล้มเหลวแน่ๆ แม้จะเป็นเพียงได้เห็นเท่านั้นก็ตาม
และในช่วงเวลาที่เขาแอบดูนั้นเขาจะรู้สึกว่าเขามีอำนาจอยู่เหนือคนอื่น ที่เขาสามารถเป็นผู้ชนะเป็นผู้กำความลับ โดยคนที่ถูกแอบดูถ้ารู้เข้าจะต้องอับอายเขา เขาจึงยอมเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย หรือเสี่ยงต่ออันตรายจากการถูกทำร้ายเพื่อจะได้รู้สึกเช่นนั้น
3. บางทฤษฎีเชื่อว่ามาจากการที่เด็กได้เห็นพ่อแม่ร่วมเพศกันตั้งแต่เด็กๆ (Primal Scene) เด็กอาจเข้าใจผิดฝังใจในความคิดฝันว่าพ่ออาจทำร้ายแม่ หรือพ่อตัดองคชาตออกไปจากแม่ทำให้แม่ไม่มีองคชาต หรือคิดกลับกันว่าแม่กำลังตัดองคชาตของพ่อออกไป เขาจึงกลัวการร่วมเพศ แต่จะฝังใจแอบดูคนอื่นร่วมเพศด้วยความตื่นเต้น และอาจมาจากความกลัวว่าพ่อแม่จะจับได้ จะถูกลงโทษด้วยการถูกตัดองคชาต เพราะพ่อแม่ชอบขู่เด็กเล็กว่าถ้าทำอะไรผิดจะตัดองคชาติซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้องและ ไม่ควรทำเพราะเด็กกลัวและฝันไปเองได้ต่างๆ นานา
การแอบดูผู้อื่นนี้แม้จะแลดูเป็นเรื่องเล็กน้อย บางคนมองข้ามไปเพราะคิดว่าเป็นความปกติที่ผู้ชายชอบแอบดู แต่ผมขอบอกว่าไม่ใช่เป็นสิ่งปกติหรอก เป็นพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนทางเพศที่มาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่เด็กๆ ในสังคมที่มีความซับซ้อน ทุกคนต้องทำงานหนักไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก โอกาสที่จะเกิดความเบี่ยงเบนเหล่านี้จะเกิดได้ง่าย
บุคคลเหล่านี้จะเติบโตต่อไปด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจตัวเอง รู้ว่าต้องทำความผิด รู้ว่าเป็นความผิดแต่ก็อดใจไม่ได้ที่จะต้องทำ บางรายเกิดความรู้สึกละอายแก่ตนเอง บางรายมีความเศร้าในชีวิตมากขึ้น
การรักษาและช่วยเหลือนั้นทำได้ถ้าหากเขาต้องการให้รักษา ญาติหรือพ่อแม่ต้องให้ความร่วมมือจึงจะทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้น(ในกรณีพาลูกซึ่งยังเป็นเด็กมา) แต่ส่วนใหญ่มักจะอายทั้งตัวผู้ทุกข์เองและญาติจึงไม่นำมารักษาปล่อยไว้ให้เป็น ความเก็บกดทางใจของผู้ทุกข์ต่อไป แม้ว่าเขาจะเติบโตเป็นคนฉลาด มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี แต่เขาก็จะทุกข์จากการที่เขามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมนี้ คนที่อยู่ใกล้ชิดก็ผวา ระแวง กลัวว่าจะถูกแอบมองอีก เหมือนเช่นกรณีเด็กวัยรุ่นแอบดูน้าสาวที่บ้านของเขา ซึ่งน้าสาวจะกลัวและระแวงมากแม้เด็กจะบอกไม่ทำอีกแล้วก็ตาม
การทำพฤติกรรมบำบัด จิตบำบัดและครอบครัวบำบัดจะช่วยได้มาก จะลดอัตราของผู้ที่แอบมองเหล่านี้ลงใครๆ ก็ผวา Peeping Tom ครับ
แหล่งที่มา : ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ (จิตแพทย์)