10 พระกระยาหารที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรด

ที่มา : ToptenThailand
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพรอบด้าน ตั้งแต่เรื่องสำคัญอย่างการบริหารประเทศไปจนถึงเรื่องเล็กๆอย่างการประกอบอาหาร ที่พระองค์ให้ความสนพระทัยอยู่ไม่น้อย ว่ากันว่ารสนิยมด้านพระกระยาหารของพระองค์นั้นเป็นเลิศที่สุดเลยทีเดียว 

เราจะเห็นได้ว่าตามร้านอาหารมักจะนิยมแขวนภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ขณะทรงนั่งอยู่หน้าเตากระทะเหล็ก พระหัตถ์ทรงถือตะหลิว และพระโอสถมวน อันเป็นหลักฐานได้ว่า พระองค์นั้นมีพระอัจฉริยภาพด้านการปรุงอาหารไม่แพ้ใคร วันนี้ทางทีมงาน Toptenthailand ได้รวบรวมพระกระยาหารทรงโปรดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาให้ทุกคนได้อ่านกัน
10. ขนมจีนน้ำยา
ข้อมูลจากหนังสือ “สวนสุนันทา” ได้กล่าวไว้ว่า ท่านทรงโปรดอาหารไทยมากกว่าอาหารฝรั่ง โดยเฉพาะ “ขนมจีนน้ำยา” ที่โปรดมากเป็นพิเศษ ถึงกับมีรับสั่งให้จัดถวายทั้งมื้อเช้าและมื้อเย็น และยังเป็นพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคตเพียง 4 วันอีกด้วย

ขอบคุณรูปจาก http://www.xn--82cz5ba6ain4bb8d7d.com/
9. ปลาทูทอด
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเสวยปลาทูเป็นอย่างมาก ในสมัยนั้นถือว่าปลาทูเป็นของหรู เสด็จเมืองเพชรคราวใดก็มักจะเอ่ยถึงปลาทูเสมอ ได้มีการบันทึกไว้ว่า ท่านไม่โปรดปลาทูทอดที่เหม็นคาว ส่วนผู้ที่ทอดปลาทูได้ถูกพระราชหฤทัยมากที่สุดก็คือ เจ้าจอมเอิบ ซึ่งรับหน้าที่ทอดปลาทูถวายมาตลอด ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีรับสั่งไว้ว่า

“เรื่องทอดปลาทูข้าอยู่ข้างจะกลัวมาก ถ้าพลาดไปแล้วข้ากลืนไม่ลง ขอให้จัดตั้งเตาทอดปลาที่สะพานต่อเรือนข้างหน้าข้างใน บอกกรมวังให้เขาจัดรถให้นางเอิบ ออกไปทอดเตรียมเตาและกระทะให้พร้อม”

พระราชหัตถเลขาจากเพชรบุรี ฉบับที่ 5 วันที่ 15 กันยายน ร.ศ. 128 ที่มีมาถึงมกุฎราชกุมาร หน้า 31 ได้กล่าวถึงเรื่องปลาทูไว้ว่า

“น้ำที่เพชรบุรีวันนี้ขึ้นสูงอีกมาก แต่ถ้าฝนไม่ตกก็น่าจะยุบลงได้อีก อากาศวันนี้แห้งสนิท มีฝนประปรายบ้างในเวลาจวนพลบ แต่ก็ไม่ชื้น มีความเสียใจที่จะบอกว่าปลาทูปีนี้ใช้ไม่ได้ ผอมเล็กเนื้อเหลว และมีน้อย ไม่ได้ทุกวันด้วย”

ขอบคุณรูปจาก http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/
8. ผัดด้วงโสน
หนังสือ "ชีวิตในวัง" ของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ ได้กล่าวถึง ด้วงโสน ซึ่งก็คือ “หนอน” ประเภทหนึ่ง คล้ายๆด้วงมะพร้าวแต่ด้วงมะพร้าวจะมีสีขาวตัวโตกว่าหัวแม่มือ ซึ่งเป็นที่โปรดเสวยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก เพราะทรงเห็นว่ามีวิตามินมาก เมื่อเป็นพระราชนิยม ชาววังสมัยรัชกาลที่ 5 จึงกินกันเป็นเรื่องธรรมดา 

วิธีเตรียม คือ นำด้วงใส่ลงไปในหม้อกะทิให้มันกินกะทิ แล้วเอาลงทอดในน้ำมัน จนตัวด้วงเหยียดออกไปเป็นตัวยาว เอาขึ้นมาหั่นเป็นแว่นแล้วจิ้มน้ำจิ้ม 

ขอบคุณรูปจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/237
7. ข้าวต้มสามกษัตริย์
ที่เรียกว่าข้าวต้มสามกษัตริย์นั้น เพราะใช้วิธีต้มแบบเดียวกับข้าวต้มหมู แต่ใช้ปลาทู กุ้ง และปลาหมึกสดแทน ซึ่งเป็นของทรงประดิษฐ์ในเช้าที่เสด็จทรงเรือฉลอมแล่นใบออกไปประพาส ที่ละมุ พระองค์ตรัสหลังจากเสวยว่า “ตั้งแต่ฉันเกิดมายังไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยอย่างวันนั้นเลย”

จดหมายของนายทรง อานุภาพ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
"ข้าวต้มสามกษัตริย์ ตำรับพระยาพิทักษ์ภูบาล พิมพ์เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2478"
เครื่องปรุง หมู ไก่ กุ้ง (ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ปลาทู กุ้งทะเล กับ ปลาหมึกสด) ใบผักกาดหอม ใบตั้งโอ๋ ใบขึ้นฉ่าย น้ำปลา น้ำซอสฝรั่ง น้ำซีอิ้วญี่ปุ่น

วิธีการปรุง นำหมู กุ้ง ไก่ หั่นเป็นชิ้นแล้วนำไปต้มเก็บไว้ จากนั้นเจียวกระเทียมให้หอม แล้วเอาข้าวสารผัดกับน้ำมันกระเทียมเจียว ใส่น้ำปลา กับน้ำต้มเนื้อที่เก็บไว้ต้มเคี่ยวจนได้ที่ จึงใส่เนื้อหมู ไก่ และกุ้ง ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำซีอิ้วญี่ปุ่น และน้ำซอสฝรั่ง ใส่ผักสดที่เตรียมไว้ลงไป โรยพริกไทยป่น จะใส่น้ำส้มแบบใส่ก็ได้ตามรสปาก

ขอบคุณรูปจาก http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/
6. ผัดหมี่
นายแพทย์นวรัต ไกรฤกษ์ เล่าไว้ใน "รถยนตร์และเรือยนตร์พระที่นั่ง" หนังสือปกิณกะในรัชกาลที่ ๕ ว่า
อีกตอนหนึ่ง บริษัทไฟฟ้าสยามได้ถวายรถไฟฟ้านับเป็นคันที่ ๓ เป็นรถขนาดเล็กมีที่นั่งเฉพาะ ๒ ที่เป็นรถโถง พระองค์โปรดขับเองตามถนนต่าง ๆ ผ่านไปถึงตลาดเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์เป็นเวลาพลบค่ำแล้ว ได้กลิ่นหอมจากร้านเจ๊กผัดหมี่ทรงรับสั่งว่า

"หอมกลิ่นหมี่จริง" แล้วทรงหยุดรถริมถนนรับสั่งต่อไปว่า"เจ้าลงไปลองให้เขาผัดหมี่ซื้อไปสักกระทะเถิด" 

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เคยเล่าไว้ถึงพระญาติองค์หนึ่งชื่อหม่อมเจ้าวิทยา เจ้านายในราชสกุลปราโมชเรียกว่า "ท่านกู๋" เพราะกู๋ในภาษาจีนแปลว่าเขย หม่อมเจ้าวิทยาทรงมีฝืมือในการผัดหมี่กรอบ จนถึงขั้นตั้งร้านขายได้ คนทั่วไปเรียกว่า "หมี่เจ้ากู๋" 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าโปรดฯเสวยหมี่เจ้ากู๋ มีพระกระแสรับสั่งให้เข้าไปผัดหมี่ตั้งเครื่องเสวยอยู่บ่อยๆ วันใดผัดหมี่ถูกพระโอษฐ์ ก็ตรัสชมเชยว่า 
"วันนี้เจ้ากู๋ผัดหมี่อร่อย" แต่ถ้าวันไหนผัดหมี่ไม่ถูกพระโอษฐ์ ก็ตรัสบริภาษว่า "วันนี้ไอ้เจ้ากู๋ผัดหมี่ไม่เป็นรส"

ขอบคุณรูปจาก http://meesuabanpong.blogspot.com/
5. หมูหวาน
กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเล่าไว้ว่า คุณท้าววรจันทร ซึ่งเป็นคุณย่าของพระองค์ได้เคยตั้งเครื่องเสวยถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่บ้าง เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเสด็จฯ ประทับสวนพระราชวังดุสิต ครั้งหนึ่ง คุณท้าววรจันทรได้รับพระราชดำรัสชมเชยว่ากับข้าวอร่อย โดยเฉพาะหมูหวาน ซึ่งเป็นของประจำสำรับของท่านขาดไม่ได้ เพราะทำให้ทรงระลึกถึงกาลก่อนครั้งทรงพระเยาว์ได้เคยเสวยหมูผัดเช่นนี้บ่อยๆ ทรงอธิบายว่าหมูอย่างนี้ แต่ก่อนเรียกกันว่า หมูผัด คำว่าหมูหวานเป็นคำใหม่ เกิดขึ้นภายหลัง

ครั้นสิ้นรัชกาลที่ 4 แล้ว มิใคร่ได้เสวยหมูผัดเช่นนี้เลย ทรงยกย่องถึงโปรดฯ ให้ตีฆ้องร้องป่าวทั่วพระราชสำนักว่าได้เสวย หมูผัดของท้าววรจันทร เป็นหมูผัดชนิดหนึ่งซึ่งทำดีเกือบเหมือนที่เคยเสวยครั้งรัชกาลก่อน และได้พระราชทานน้ำตาลสามเท่าลูกฟักเป็นรางวัล

ขอบคุณรูปจาก http://pantip.com/topic/30693462
4. เป็ดอัด
ย้อนกลับไปในอดีต ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน มีการบันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งเสด็จฯประพาสกรุงปารีส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้เสวยเป็ดทอด ซึ่งเป็นอาหารจานเด็ดของเรสเตอรองต์แห่งนี้ 

" ...พ่อได้ส่งบาญชีกับเข้า ทั้งมีบทกลอนสรรเสริญ แลบอกจำนวนเป็ดตัวที่กินเป็นนัมเบอร์ที่เท่าไร เป็ดที่กินนี้สองตัว ตัวหลังที่สุดนัมเบอร์ 28348 คิดตั้งแต่แกตั้งมาดู คงมีคนกินปีละ 1000 ตัวเศษ”

ขอบคุณรูปจาก http://www.hflight.net/forums/topic/
3. ซุปปอดโอโฟ หรือซุปลูกหมา
เป็นสำรับที่ทรงคิดและโปรดปรุงด้วยพระองค์เองเสมอ ที่มาของสำรับนี้เกิดขึ้นตอนเสด็จประพาสยุโรป ทรงมีโอกาสได้ชิมอาหารฝรั่งและหนึ่งในนั้นคือ ซุปปอดโอโฟ ที่มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า pot au feu ที่ปรุงจากเนื้อวัวและผัก หลังจากเสด็จกลับแล้วก็ทรงโปรดซุปปอดโอโฟเป็นพิเศษจนได้กลับมาปรุงเสวยที่ประเทศไทย และทุกครั้งจะพระราชทานให้แก่สุนัขทรงเลี้ยง เนื่องจากสุนัขทรงเลี้ยงชอบมาก พระองค์จึงทรงเรียกซุปปอดโอโฟว่า “ซุปลูกหมา” 

ขอบคุณรูปจาก http://www.oregonlive.com/foodday/
2. ไข่เจียว
ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ มิได้โปรดเฉพาะเสวยพระกระยาหารทั้งไทยและเทศ แต่ยังทรงสนพระราชหฤทัยถึงวิธีทำอาหารด้วย จนถึงขั้นทรงแปลตำราทำกับข้าวภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสมาเป็นภาษาไทย ซึ่ง “ไข่เจียว” อาหารจานอร่อยที่แสนจะเรียบง่ายในสมัยนี้ ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยในสมัยนั้น ไข่เจียวของชาวสยามปรับปรุงสูตรมาจากออมเล็ตของฝรั่งนี่เอง ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ ๑๓ วันที่ ๘ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖ ขณะประพาสต้นยุโรปพระองค์ทรงประทับอยู่ ณ เมืองซานเรโม ประเทศอิตาลี ทรงบรรยายการทำไข่เจียว แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล พระราชธิดาองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ว่า 

“...ไข่เจียวอีกอย่างหนึ่งที่ควรเราจะทำกินได้เอง คือเจียวข้างล่างสุก อ่อนอย่างไข่เจียวฝรั่ง แล้วจึงเอาไข่ผสมกับเครื่องปรุง มีหมูแฮมแลเนื้ออะไรเล็ก ๆ หยอดลงไปที่ตรงกลางแล้วพับทันที กดขอบให้ติดกันไม่ให้ไข่ที่กลางนั้นไหล สำเร็จเป็นไข่เจียว ข้างในเป็นยางมะตูม สำหรับกินเวลาเช้าอร่อย พ่อคิดถึงลูกจึงเล่าเข้ามาให้ฟังเช่นนี้ นึกว่าถ้าลองทำคงทำได้ทันที...”

ขอบคุณรูปจาก http://www.sunsetseashellfarm.com/menu_room/
1. ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิ
ตามปกติจะเห็นคนส่วนมากนิยมนำ “ ข้าวคลุกกะปิ” ไปไหว้พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.ศันสนีย์ กล่าวว่า ที่ถูกต้องน่าจะเป็น “ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิ” โดยมีที่มาจากพระราชหัตถเลขาตอนเสด็จประพาสต้นว่า

“เหลือกะปิน้ำตาลติดก้นขวด เอามาปนกับมะนาวบีบ พริกป่นโรยลงไปหน่อยคลุกข้าวกินกับหมูแฮมแลกับฝรั่ง เพลินอิ่มสบายดี” 

อีกทั้ง ม.จ.หญิงจงจิตถนอม ดิศกุล ยังทรงทำกะปิพล่าถวาย และเป็นที่พอพระราชหฤทัยถึงกับทรงขอเสวยซ้ำในวันรุ่งขึ้น และได้พระราชทานรางวัลเป็นสร้อยข้อมือ 1 เส้น พร้อมด้วยพระราชดำรัสว่า “ข้าได้กินน้ำพริกของเจ้า ทำให้ข้ารอดตายแล้ว"

ขอบคุณรูปจาก http://www.zabwer.com/2013/01/
Credit: http://www.toptenthailand.com/topten/detail/20140721132831909
21 ก.ค. 57 เวลา 21:16 6,432 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...