ภาคต่อของภาพยนตร์ชุด “พิภพวานร” กลับมาโลดแล่นบนจอหนังอีกครั้ง ซึ่งนอกจากความสนุกและความน่าตื่นเต้นของหนังแนว “แอคชั่นดราม่า” เรื่องนี้แล้ว นักวานรวิทยายังมีแง่มุมทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
บีบีซีนิวส์นำเสนอมุมมองของ ฟรานซ์ เดอ วาล (Fran de Waal) นักวานรวิทยาชาวดัตช์ ประจำมหาวิทยาลัยเอโมรี (Emory University) สหรัฐฯ ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการพฤติกรรมวิทยาของลิงมามากกว่า 40 ปี และเป็นผู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมของเหล่าไพรเมต (Primate) ที่คู่ขนานไปกับสังคมมนุษย์
เดอ วาล บอกว่าเขาไม่ค่อยพึงพอใจเท่าไรนักที่กับวิธีที่เรามักนำเสนอเรื่องราวของ “ลิง” ซึ่งเป็นญาติของเราในภาพยนตร์ หากนำเสนออย่างให้เกียรติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พวกมันมักถูกทำให้เป็นตัวตลก ซึ่งไม่ค่อยจะเป็นผลดีในแง่การอนุรักษ์ หรือในแง่จริยธรรมเท่าไรนัก
ภาพยนตร์เรื่อง รุ่งอรุณพิภพวานร (Dawn of the Planet of the Apes) ที่กำลังฉายอยู่ในโรงขณะนี้ เป็นภาพต่อของ กำเนิดพิภพวานร (Rise of the Planet of the Apes) ที่ฉายเมื่อปี 2011 ซึ่งเผยให้เห็นไพรเมตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านเจ้านายที่เป็นมนุษย์
สำหรับภาพยนตร์ภาคใหม่นี้เป็นเรื่องราวต่อเนื่องของ “ซีซาร์” (Caesar) ชิมแปนซีที่ปราดเปรื่องซึ่งเป็นตัวการก่อกบฏ ควบคู่ไปกับเรื่องการคุกคามของไวรัสที่มนุษย์สร้างขึ้นในหมู่ประชาชนมนุษย์ ท่ามกลางซากปรักหักพังของอารยธรรมมนุษย์ที่ล่มสลาย ฝูงเอปก็ลุกขึ้นมาก่อสร้างสงครามต้านประชากร โฮโมซาเปียนส์ (Homo sapiens) ที่มีอยู่เพียงหยิบมือ เพื่อขึ้นเป็นผู้ครองพิภพ
“ปกติผมไม่ค่อยชอบหนังบู๊เท่าไร แต่นี่เป็นหนังที่ผมรู้สึกสนใจจริงๆ เอปในเรื่องนี้เหมือนมนุษย์มากไป พวกมันเดิน 2 ขา คุยกัน และเช็ดน้ำตา แต่ในความเป็นจริงแล้วลิงก็ร้องไห้และกรีดร้องบ่อยเช่นกัน แต่มันไม่มีน้ำตาเหมือนพวกเรา” เดอ วาล กล่าว
อย่างไรก็ดี พฤติกรรมอื่นๆ ในภาพยนตร์ก็มีในชีวิตจริง โดย เดอ วาลอธิบายว่า ชิมแปนซีนั้นดุร้ายและหวงอาณาเขต อีกทั้งยังร่วมก่อสงคราม และยังรู้จักใช้เครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจใช้อาวุธได้ด้วย โดยเขาอ้างคำพูดของเพื่อนร่วมงานว่า หากให้ปืนชิมป์พวกมันก็จะใช้
นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมในภาพยนตร์ที่คล้ายคลึงชีวิตจริงอื่นๆ อีก เช่น ฉากที่ซีซาร์ปรองดองกับโกบา (Koba) ตัวละครลิงโบโนโบที่เคยต่อสู้กัน เผยถึงความสัมพันธ์ระหว่างลิงเอปที่จะโค้งคำนับต่อจ่าฝูงที่พวกมันยอมรับ ซึ่ง เดอ วาลอธิบายต่อว่า ในฝูงเอปจริงๆ เมื่อตัวผู้ที่เป็นหัวหน้าฝูงปรากฏตัวขึ้น ตัวอื่นๆ จะประจบประแจงและทำตัวให้เล็กลง ถึงอย่างนั้นก็มีความขัดแย้งระหว่างภาพยนตร์และความจริง ขณะที่ซีซาร์ถูกวางให้เป็นตัวละครที่สุขุม แต่โกบาซึ่งเป็นลิงโบโนโบกลับดุร้าย ซึ่งในความเป็นจริงลิงโบโนโบจะรักสงบมากกว่าชิมแปนซี
นอกจากนี้ยังมีตัวละครเป็นอุรังอุตังที่ถูกวางบทบาทให้สนใจในการสอนและตำรา คล้ายกับภาพอุรังอุตังในภาพยนตร์ยุค 60 และยุค 70 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นนักบวชในโลกของเอป รวมถึงในนวนิยายที่แต่งโดย ปิแอร์ บูลี (Pierre Boule)นักเขียนขาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นต้นแบบของภาพยนตร์เหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงอุรังอุตังเพศผู้นั้นค่อนข้างรักสันโดษ แต่ในฐานะนักแสดงเป็นอุรังอุตังในภาพยนตร์ชุดพิภพวานรถึง 2 ภาค แคริน โคโนวัล (Karin Konoval) เธอเข้าใจดีว่าทำไมอุรังอุตังจึงถูกวางให้เป็นผู้เฒ่าเคร่งวิชา
“พวกมันเป็นนักสังเกตที่สามารถประเมินทุกอย่างได้ พวกมันไม่เคยทำอะไรที่ไม่จำเป็น” แครินเผยแก่บีบีซีนิวส์ และบอกวาอุรังอุตังเท่าที่เธอเคยรู้จักนั้นไม่ทำสิ่งไร้สาระให้เห็น ทุกการตัดสินใจของพวกมันเจาะจงและชัดเจน
เพื่อให้การแสดงบทมอริซ (Maurice) อุรังอุตังที่ซีซาร์ไว้วางใจได้อย่างสมบทบาท แครีนต้องศึกษาวิดีโอและหนังสือทุกอย่างที่เกี่ยวกับเอป เพราะการเคลื่อนไหวของอุรังอุรังเพศผู้นั้นจะมีลักษณะที่เฉพาะมาก และในฐานะนักแสดงหญิงที่หนักเพียง 120 ปอนด์ แต่ต้องรับบทเป็นอุรังอุตังเพศผู้ที่หนักถึง 250 ปอนด์ ทีมงานจึงต้องถ่วงน้ำหนักเพิ่มให้แขนต่อของเธอ
นอกจากนี้แครีนยังเข้าไปเรียนรู้ชีวิตของอุรังอุตังอีก 5 ตัวในสวนสัตว์วูดแลนด์ปาร์ค (Woodland Park Zoo) ซึ่งให้ประสบการณ์ล้ำค่าที่เธอนำมาปรับใช้กับการแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้ และเธอได้ชมการวาดภาพของ “ตวน” (Tuan) อุรังอุรังเพศผู้วัย 40 ปี เธอนั่งมองตวนวาดภาพลงบนผ้าแคนวาสอยู่เป็นชั่วโมง และตระหนักว่านั่นไม่ใช่การป้ายสีธรรมดา มันคือศิลปะจริงๆ ซึ่งทำให้เธอทึ่งมาก
เดอ วาล ยังให้ความเห็นอีกว่า หากผู้สร้างภาพยนตร์อยากจะทำเรื่องแนวนี้อีก เขาแนะนำให้เพิ่มตัวละครเอปเพศเมียและลูกเอป ซึ่งจะให้ความรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของฝูงเอปจริงๆ โดยในป่านั้นกอริลลาและอุรังอุตังเพศผู้จะมีความร่วมมือกันน้อยอย่างที่เห็นในภาพยนตร์ แต่สำหรับชิมแปนซีไม่เป็นอย่างนั้น และเมื่อได้รับคำถามว่า จะเป็นเช่นไรหากมีเอปที่คิดจะยึดอำนาจมนุษย์เพื่อขึ้นครองโลก ซึ่งเขาออกตัวว่าไม่ “โลกสวย” และมองว่าหากเป็นชิมแปนซีเพศผู้ที่ปกติร้าย คงต่างจากภาพยนตร์ที่มีซีซาร์เป็นเหมือนเทพบุตรผู้รักสันติ แต่ถ้าเป็นลิงโบโนโบก็น่าจะมีความสงบสุขมากกว่า และไม่สงครามกับสัตว์อื่นเหมือนที่ลิงชิมแปนซีทำ
นอกจากนี้ เดอ วาลยังชื่นชมการใช้เอฟเฟกต์เสมือนจริง เพราะเขาคือผู้ต่อต้านการใช้ไพรเมตจริงๆ ในการแสดงเพื่อโฆษณา ภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ พร้อมแสดงความเห็นว่าการใช้แค่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อย่างเดียวสร้างพิภพวานรได้เหมือนจริง ก็พิสูจน์ได้ว่าอุตสาหกรรมบันเทิงไม่จำเป็นต้องใช้ไพรเมตรจริงๆ และหวังว่าการใช้ไพรเมตเพื่อการแสดงจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง
“ในภาพยนตร์พิภพวานรภาคแรกได้ตั้งคำถามเชิงปรัชญาว่า อะไรคือจริยธรรมในการขังมนุษย์ไว้ในกรง? ซึ่งคำถามนั้นได้ย้อนกลับมายังประเด็นที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ อะไรคือจริยธรรมในการขังเอปไว้ในกรง?” เดดอ วาล จุดประเด็น