ย้อนร้อย "เหตุการณ์เครื่องบินพาณิชย์ถูกยิงตก ในประวัติศาสตร์"

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุโศกนาฎกรรมเครื่องบินสายการบิน Malaysia Airlines เที่ยวบินที่ MH17 ถูกยิงตกทางตะวันออกของยูเครน ใกล้กับพรมแดนรัสเซีย ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตยกลำ

 

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่เครื่องบินพาณิชย์ถูกยิงตก และบทความนี้ผมอยากจะพาเพื่อนๆไป ย้อนร้อยเหตุการณ์เครื่องบินพาณิชย์ที่เคยถูกยิงตกในประวัติศาสตร์ กันครับ

 

1. Libyan Arab Airlines Flight 114 (LN 114)

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2516 Libyan Arab Airlines เที่ยวบินที่ 114 บินจากเมืองทริโปลี ประเทศลิเบีย ไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ถูกยิงเหนือน่านฟ้าอิสราเอล มีผู้เสียชีวิต 108 ราย

โดยระหว่างทางเกิดพายุทรายทำให้ทัศนวิสัยไม่ดี นักบินจึงทำการบินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และหลงเข้าไปในเขตยึดครองของอิสราเอลเหนือคลองสุเอซ บริเวณคาบสมุทรไซนาย และถูกสกัดกั้นโดยเครื่องบินขับไล่  F-4 Phantom ของกองทัพอากาศอิสราเอล และต้องร่อนลงจอดฉุกเฉินลงบนเนินทราย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 108 คน รอดชีวิต 5 คน รวมทั้งนักบินผู้ช่วยชาวลิเบีย

 

2. Korean Air Lines Flight 902 (KAL 902)

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2521 Korean Air Lines เที่ยวบินที่ 902 เดินทางด้วยเครื่อง Boeing 707 จากกรุงปารีส ฝรั่งเศส มุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติกิมโป โซล ประเทศเกาหลีใต้ บรรทุกผู้โดยสาร 97 คน ลูกเรือ 12 คน ถูกยิงเหนือน่านฟ้าสหภาพโซเวียต แต่โชคดีที่นักบินสามารถประคองเครื่องลงจอดได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพียง 2 ราย

 

3. Aerolinee Itavia Flight 870 (IH 870)

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2523 เครื่องบินแบบ DC-9 ของสายการบิน Aerolinee Itavia บินจากเมืองโบโลนญา ไปเมืองปาเลร์โม พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 81 คน ระเบิดกลางอากาศใกล้กับเกาะอุสตีกา นอกเกาะซิซิลี สันนิษฐานว่าสาเหตุเกิดจากขีปนาวุธที่ยิงเพราะความผิดพลาดของเครื่องบินรบสหรัฐฯ หรือฝรั่งเศส แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธ ขณะที่กระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสไม่แสดงความเห็น

 

4. Korean Air Lines Flight 007 (KAL 007, KE 007)


เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2526 Korean Air Lines เที่ยวบินที่ 007 เดินทางด้วยเครื่อง Boeing 747-230B จากท่าอากาศยานนานาชาติเจเอฟเค นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติกิมโป โซล ประเทศเกาหลีใต้ บรรทุกผู้โดยสาร 240 คน ลูกเรือ 29 คน ถูกสหภาพโซเวียตยิงโจมตีจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตยกลำ

 

5. Air Malawi 7Q-YMB

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 Air Malawi 7Q-YMB บินจากเมืองบลันไทเออร์ ไปยัง ลิลองเว ในประเทศมาลาวี แต่ถูกยิงเหนือน่านฟ้าโมซัมบิก ซึ่งขณะนั้นกำลังมีสงครามกลางเมืองอยู่ ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิต 10 ราย

 

6. Iran Air Flight 655 (IR655)

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 Iran Air  เที่ยวบินที่ 655 เครื่องแอร์บัส A300 B2-203 บินจากท่าอากาศยานนานาชาติเมห์ราบัด เตหะราน อิหร่าน มุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีผู้โดยสาร 275 คน ลูกเรือ 15 คน ถูกยิงตกด้วยมิสไซล์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ จากเรือลาดตระเวน USS Vincennes (CG-49) ในอ่าวเปอร์เซีย ระหว่างเมืองบันดาร์ อับบาส กับดูไบ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งลำ

 

7. Transair Georgian Airline

ในเดือนกันยายน 2536 เครื่องบิน Tupolev TU-154 ของสายการบิน Transair Georgian Airline ถูกขีปนาวุธยิงตกในเมืองอับคาเซีย พื้นที่พิพาทในจอร์เจีย เครื่องบินตกลงบนรันเวย์และเกิดไฟลุกไหม้ มีผู้เสียชีวิต 108 คนจากผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 132 คน ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นเที่ยวบินที่กระทรวงกลาโหมจอร์เจียเช่าเหมาลำ เพื่อลำเลียงทหารไปเสริมปฏิบัติการทหารใกล้เมืองอับคาเซีย เมืองหลวงของภูมิภาคซูคูมิ

 

8. Lionair Flight 602 (LN602)

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 Lionair เที่ยวบินที่ LN602 ตกกลางทะเลบริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศศรีลังกา โดยเครื่องบินลำนี้บินจากฐานทัพจาฟฟ์นา-ปาลาลี ไปยังโคลัมโบ ก่อนที่เครื่องจะหายไปจากจอเรดาร์ ก่อนที่จะพบว่าแท้จริงแล้วเครื่องบินถูกยิงโดยกลุ่มติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิต 48 ราย และลูกเรือเสียชีวิตอีก 7 ราย

 

9. Siberia Airlines Flight 1812 (SB1812)

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2544 เครื่องบิน Siberia Airlines เที่ยวบินที่ 1812 เดินทางจากกรุงเทลาวีฟของอิสราเอล ไปยังเมืองโนโวซีบีร์สค ของรัสเซีย ระเบิดกลางอากาศเหนือทะเลดำ และตกห่างจากชายฝั่งไครเมียไม่ถึง 300 กิโลเมตร ก่อนที่อีกสัปดาห์ต่อมา รัฐบาลยูเครนยอมรับว่าเป็นการยิงขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานระหว่างซ้อมรบโดยไม่ตั้งใจ

ข้อมูลจาก: kapook

Credit: http://www.wegointer.com/2014/07/%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...