นายสำอางค์ กล่าวว่า ช่วงนี้มีฝนต่อเนื่องตลอดส่งผลทำให้อากาศชุ่มชื้น ทำให้มีเห็ดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงเดินเข้าป่าทุเรียนที่เคยถูกดินโคลนถล่ม เมื่อปี พ.ศ.2549 เพื่อออกหาเก็บเห็ดเหมือนชาวบ้านทั่วไป พบเห็ดโคนจั่นหรือเห็ดโคนช้างขึ้นเป็นกอเรียงรายอยู่จำนวนมาก มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ที่น่าแปลกคือ มีเห็ด จำนวน 4 ต้น มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อน ยืนเด่นสง่าอยู่กลางวงล้อมของกอเห็ดต้นเล็ก จำนวนกว่า 500 ดอก กินอาณาเขตพื้นที่โดยประมาณกว่า 20 ตารางเมตร เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ จะพบเห็นว่า จำนวนเห็ดต้นใหญ่ 4 ต้นที่เห็นนี้ มีอยู่ 1 ต้น ที่ใหญ่มากสุดคล้ายพญาเห็ดโคน ดอกมีความกว้างถึง 30 เซนติเมตร โคนเห็ด มีความยาว 45 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางวัดโดยรอบของโคน 15 เซนติเมตร น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม ส่วนอีก 3 ดอก มีน้ำหนักต้นละประมาณ 1 กิโลกรัม รวมทั้งกอแล้วมีน้ำหนักรวมกันกว่า 20 กิโลกรัม
"เห็ดโคนที่พบเห็นนี้ มีความสมบูรณ์สวยงามมาก เป็นเพราะซากปรักหักพังที่ถูกทับถมมานานถึง 7 ปี บวกกับความอุดมสมบูรณ์ของป่า จึงทำให้เห็ดโคนมีดอกและลำต้นใหญ่มากถึงขนาดนี้ เมื่อพบเห็นก็นำมาขายเพื่อเลี้ยงครอบครัว ทั้งดอกเล็กและใหญ่ขายราคาเท่ากัน กิโลกรัมละ 200 บาท ลูกค้าที่ซื้อไปส่วนใหญ่นำไปต้มกินกับน้ำพริกหรือผัดน้ำมันหอย บ้างก็นำไปผสมทำเป็นต้มยำ และแกงอ่อม หากเป็นดอกใหญ่จะนำไปปิ้งหรือย่าง ฉีกกินกับน้ำพริก รสชาดอร่อยมาก
ครั้งแรกคิดว่าเป็นเห็ดมีพิษไม่กล้านำมารับประทานเป็นอาหาร แต่พอเห็นเพื่อนบ้านและคนในหมู่บ้านนำมาปรุงแล้วไม่เกิดโทษ จึงนำมาปรุงเป็นอาหารเพื่อรับประทานตามเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน พบว่ามีความนุ่มและหวานอร่อยมากแถมไม่มีพิษ จึงนำมาปรุงเป็นอาหารให้กับลูกค้าภายในร้านได้รับประทานกัน หลายคนบอกว่าอร่อยกว่าเห็ดโคนทั่วไป พร้อมซื้อเป็นของฝากกลับไปให้คนที่บ้านได้รับประทานกัน"
ด้านนายประพันธ์ โอสถาพันธุ์ อดีตคณบดีคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเพาะเห็ด กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น เห็นดังกล่าวคือเป็นตีนแรด อยู่ในกลุ่มชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ไตรโคโรม่า คัสซัม (Tricholoma crassum) มักขึ้นในพื้นที่ดิบชื้นทั่วไป พื้นที่ตรงไหนที่ดินอุดมสมบูรณ์ก็จะยิ่งเติบโตได้ดี ทั้งในป่าหรือสนามกอล์ฟ โดยเฉพาะตรงตอไม้ที่มีสารอาหารมาก
เมื่อปี พ.ศ.2532 ก็เคยพบที่ จ.เชียงใหม่ ขนาดกว้างถึง 70 ซม. แต่เป็นเห็ดจั่นซึ่งอยู่กลุ่มเดียวกับเห็ดตีนแรด ส่วนที่ชาวบ้านเรียกชื่อพญาเห็ดโคนนั้นไม่มีในสารบัญเห็ด ซึ่งตระกูลเห็ดโคน ส่วนโคนจะมีลักษณะเรียว ขนาดโตที่สุดมียาวประมาณ 25 ซม. แต่เห็ดตีนแรดโคนจะใหญ่ สามารถกินได้ แต่รดชาติจืด ไม่อร่อย อยู่ที่วิธีการเอามาปรุงมากว่า เคยพบบางคนกินแล้วอาเจียน แต่ถ้าชาวบ้านที่คุ้นเคยกินเป็นประจำ คงไม่เป็นอะไร
ส่วนวิธีเบื้องต้นในการตรวจสอบว่าเห็ดไหนมีพิษ ให้นำเห็ดไปต้น แล้วนำข้าวสารใส่ลงไปในน้ำต้ม ถ้าข้าวสารเป็นสีคล้ำดำขึ้นมา แสดงว่ามีพิษ