16 ข้อควรรู้ ของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นทอมดี้

 

 

 

 

 

วันนี้ทีนเอ็มไทย เจอเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับครอบครัวของเพื่อนๆ กลุ่มทอมดี้มาฝากกันค่ะ ที่สาวหล่อ สาวสวยหลายคนอาจเจอปัญหาเรื่องพ่อแม่ไม่เข้าใจกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ หรือสิ่งที่มันตรงข้ามกับเพศ หรือพ่อแม่อาจกำลังคิดว่า ลูกเป็นทอมควรทำอย่างไรดี? ดังนั้นเพื่อนๆ ลองนำ 16 ข้อควรรู้ ของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นทอมดี้ ให้ผู้ใหญ่ได้อ่านและลองคิดปรับความเข้าใจกันดูนะคะ อาจจะเป็นทางออกที่ดีของปัญหาที่มีลูกเป็นทอมดี้ได้ งั้นอย่ารอช้าเราไปติดตามพร้อมๆ กันเลย…

เรียบเรียงโดย teen.mthai.com

16 ข้อควรรู้ ของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นทอมดี้

 16 ข้อควรรู้ ของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นทอมดี้

1. รักเขาให้เต็มเปี่ยมในฐานะที่เขาเป็นลูกของเรา

2. อย่ารู้สึกอับอายไม่ว่าลูกจะเป็นทอมดี้ หรือหญิงรักหญิง และอย่ารู้สึกอับอายที่ลูกรักเพศเดียวกัน

3. จงภูมิใจในสิ่งที่เขาเป็น

4. หากยังไม่สามารถภูมิใจในตัวเขา ก็ควรเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจในตัวเขา

5. เด็กที่มีแนวโน้มว่าอาจสนใจเพศเดียวกันและแสดงบุคลิกแบบ “ทอม” อาจสังเกตได้จากการที่เขามีความสุขที่ได้ไว้ผมสั้น มีความสุขที่ได้แสดงออกและแต่งตัวแบบผู้ชาย ชอบหรืออยากเป็นแฟนกับเพื่อนผู้หญิงที่มีลักษณะเป็นผู้หญิงมากกว่าตนเอง ชอบสวมกางเกงมากกว่ากระโปรง ชอบเล่นเกมกีฬาแบบผู้ชาย พ่อแม่ควรเข้าใจกับพฤติกรรมของลูก เพียงเฝ้าดูเขา พูดคุยกับเขา เข้าใจความรู้สึก ความคิดและความเป็นตัวตนของเขา ไม่เข้าไปแทรกแซงขัดขวางสิ่งที่เป็นตัวตนของเขา อย่าใช้ความรุนแรงเพื่อบังคับลูกให้เป็นผู้หญิงในทุกวิถีทาง เช่น บังคับให้สวมกระโปรง บังคับให้แต่งตัวเป็นผู้หญิง บังคับให้ไว้ผมยาว พยายามศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน และยอมรับว่าธรรมชาติของเด็กมีหลากหลายรูปแบบ เราไม่อาจตีกรอบเด็กให้เป็นไปในแบบที่เราต้องการได้ ในฐานะผู้ปกครองคุณเพียงเฝ้าดูพวกเขา ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิด แต่สุดท้ายควรให้เขาค้นหา และตัดสินใจด้วยตนเองว่าเขาอยากจะเป็นอะไร หากแต่คุณคิดจะเปลี่ยนเขาให้เป็นผู้หญิงก็ถือเป็นการทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของเขาอย่างมากมายมหาศาล

6. หากลูกสาว หลานสาวของคุณเริ่มแสดงบุคลิกในแบบผู้ชาย คุณอาจจะเริ่มรู้สึกไม่ชอบใจจนอยากจะถามเขาตรงๆ ว่า “ทำไมชอบทำตัวเป็นผู้ชายแบบนี้” “เป็นผู้หญิงก็ดีอยู่แล้วไม่ชอบหรือไง” “เป็นอะไรขึ้นมาถึงอยากเป็นทอม” ฯลฯ ขอให้คุณตระหนักรู้อย่างปกติธรรมดาว่าเขาอาจจะมีแนวโน้มสนใจในเพศเดียวกัน และชอบแสดงออกว่าตนเองไม่ต้องการแต่งตัวหรือแสดงออกแบบผู้หญิง เขาอาจกำลังค้นหาตัวเอง หรือลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่เหมาะกับตัวเองผ่านการแสดงออกทางบุคลิกภาพ เครื่องแต่งกาย หากคุณตั้งคำถามที่แสดงถึงการมีอคติต่อบุคลิกข้ามเพศของเขาอาจทำให้เขารู้สึกตกใจเพราะรู้สึกว่าความเป็นตัวตนของเขาถูกปฏิเสธ ไม่ได้รับการยอมรับจากคุณ เขาจะเริ่มรู้สึกว่าคุณไม่รักเขา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวคุณกับเขาเลย และจะมีผลกับการเคารพตัวเองของเขา ทำให้เขารู้สึกเป็นลบกับสิ่งที่ตัวเองเป็น

สิ่งที่คุณควรทำคือการหาข้อมูล ทำความเข้าใจ สนใจ และใส่ใจกับความรู้สึกความต้องการของเขา ทำให้เขาไว้วางใจที่จะพูดคุยปรึกษากับคุณในเรื่องนี้ได้เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ คุณอาจจะคอยเป็นกำลังใจให้เขา ปฏิบัติกับเขาเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับลูกหลานที่เป็นชายหญิงทั่วไป และพร้อมจะเข้าใจว่าเขาอาจต้องเผชิญกับความกดดันจากสังคมที่ไม่ยอมรับตัวตนของเขามากกว่าเด็กที่รักต่างเพศ หรือเด็กที่มีบุคลิกที่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง แทนที่จะติดขัดอยู่กับบุคลิกที่ดูเป็นทอมของเขา สิ่งที่คุณควรจะให้ความเอาใจใส่มากกว่าก็คือให้เขาเป็นตัวของตัวเองและสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ หรือสิ่งที่คุณควรจะคาดหวังในตัวเขาคือขอให้เขาเป็นบุคคลที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นอันเป็นคุณธรรมภายใน

7. เด็กที่แสดงอัตลักษณ์ “ทอม” แต่ละคนอาจจะไม่ได้แสดงออกเหมือนกันในแต่ละช่วงวัย เด็กบางคนอาจแสดงบุคลิกลักษณะที่ดูเป็นทอมตั้งแต่เข้าเรียน ป.1 บางคนเปลี่ยนแปลงเมื่อขึ้นชั้น ม.ต้น ม.ปลาย ปวช. หรือเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของแต่ละคนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น การยอมรับตัวเอง การยอมรับของครอบครัว การยอมรับภายในห้องเรียนหรือโรงเรียน การยอมรับของเพื่อน กฎระเบียบต่างๆ ของโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ความมั่นใจในตนเอง มุมมองต่อตนเอง บรรยากาศและสถานการณ์รอบๆ ตัว เพียงแค่คุณไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของเขาแค่นี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว

8. อย่าบังคับหรือจับลูกให้แต่งงาน เพื่อให้เขาเลิกเป็น “ทอม” เพราะไม่ใช่หนทางของการแก้ไขปัญหา มีแต่จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขาเลวร้ายลงไปมากยิ่งขึ้น เหมือนคุณไม่ชอบทำอะไรแต่ถูกบังคับให้ทำสิ่งนั้น คุณก็จะรู้สึกอึดอัดเช่นเดียวกัน

9. พึงระลึกไว้เสมอว่าหากคนในบ้านไม่สามารถยอมรับเขา เขาจะมีความสุขได้อย่างไรในเมื่อบ้านเป็นสถานที่ที่เขาอยู่แล้วควรมีความสุขมากที่สุด

10. ไม่พาลูกไปพบจิตแพทย์เพื่อบำบัดรักษาหรือพาไปรดน้ำมนต์ เพราะการเป็นหญิงรักหญิง “ไม่ใช่โรค” “ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิต” “ไม่ใช่ผีสิง” และไม่ได้เกิดจาก “กรรมเก่าจากอดีตชาติ”

11.ข้อแตกต่างระหว่างความเป็น “ทอม-ดี้” กับ “หญิงรักหญิง”

คู่รักที่เป็น “ทอม-ดี้” ฝ่ายหนึ่งชอบที่จะแสดงออกหรือมีบุคลิกแบบผู้ชาย อีกฝ่ายหนึ่งมีบุคลิกลักษณะตรงข้ามกับฝ่ายแรก คือมีบุคลิกลักษณะของความเป็นผู้หญิง เรียกว่า “ดี้” แต่ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่ไม่ตายตัวเสมอไป

สำหรับคู่ “หญิงรักหญิง” จะแตกต่างจาก “ทอม-ดี้” ในแง่ที่พวกเธอไม่ได้นิยามตนเองว่าจะต้องแสดงอัตลักษณ์ หรือแบ่งบทบาทกันชัดเจนว่าใครมีลักษณะเป็น “ชายหรือหญิงเหมือน “ทอมกับดี้”

“หญิงรักหญิง” โดยทั่วไปเป็นคำรวมๆ ใช้เรียก “ผู้หญิงที่ชอบเพศเดียวกัน” โดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด บางคู่อาจมีอัตลักษณ์แบบ “ผู้หญิง” ทั้งคู่ หรือบางคู่อาจจะมีลักษณะการแสดงออกที่อีกฝ่ายหนึ่งมีความเป็นชายมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้โดยไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นคู่ทอมดี้ หรือบางคู่อาจจะมีอัตลักษณ์ดูเป็นชายเหมือน ๆ กัน แต่ไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นทอมก็ได้

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงลักษณะแตกต่างของรูปแบบความรัก อาจจะมีรูปแบบอื่น ๆ มากกว่านี้ ข้อแนะนำนี้เพียงต้องการนำเสนอให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้จักรูปแบบต่าง ๆ ของหญิงรักหญิง เพื่อจะได้ไม่เกิดความสงสัยว่าลูกฉันไม่ได้เป็นทอมแต่ทำไมชอบผู้หญิงด้วยกัน ? ลูกฉันดูเป็นผู้หญิงแต่ทำไมชอบผู้หญิงที่ดูเป็นผู้ชาย ทำไมไม่ชอบผู้ชายไปเสียเลย ? ทำไมลูกฉันเป็นทอมชอบทอม ? ทำไมลูกฉันเป็นดี้ชอบดี้ ?

ถ้าหากคุณสามารถเข้าใจบุคลิกและความสัมพันธ์ที่หลากหลายเช่นนี้ คุณก็จะไม่สับสนไปกับรูปแบบความสัมพันธ์ของพวกเขา และเกิดความเข้าใจในตัวเขา

12. แม้จะปรากฏว่าบางคนตอนเป็นวัยรุ่นดูเป็นทอม มีแฟนเป็นผู้หญิง แต่เมื่อโตขึ้นมีสามี มีลูก นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทอมเปลี่ยนเป็นหญิงได้ด้วยการแต่งงาน หากการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากการเลือกหรือความต้องการของตัวเขาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความหมายที่ว่า “อัตลักษณ์ทางเพศของคนเราเป็นภาวะที่เปลี่ยนแปลงและเลื่อนไหลไปมาไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่”

ทอมบางคนอาจเปลี่ยนไปเป็นดี้ ดี้บางคนอาจเปลี่ยนเป็นทอม ทอมบางคนอาจเปลี่ยนไปชอบผู้ชายในวันหนึ่งก็ได้เมื่อความคิดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของเขาเปลี่ยนแปลงไป การมีเพศภาวะที่เลื่อนไหลไปมาท่ามกลางความเป็นทอม ดี้ หญิงรักหญิง หรือหญิงรักชาย จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือบางคนอาจรู้สึกว่าตนเองต้องการแปลงเพศเป็นผู้ชายไปเลยก็สามารถเป็นไปได้เพราะ “เพศเป็นภาวะที่เปลี่ยนแปลงและเลื่อนไหลไปมาไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่”

 13. อย่าโทษว่าเป็นความผิดของตนเองที่เลี้ยงลูกไม่ดี การเป็นทอมหรือการรักเพศเดียวกันของลูกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการที่พ่อแม่หย่าร้าง และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการแสดงบทบาทพ่อแม่ที่ไม่สมบูรณ์ แต่เกี่ยวข้องกับอคติของสังคมที่ไม่ยอมรับทอม หรือไม่ยอมรับคนที่รักเพศเดียวกัน ส่งผลให้พ่อแม่คิดและเชื่อไปตามสังคมว่าโลกนี้มีแค่ผู้ชายกับผู้หญิงที่รักต่างเพศเท่านั้นเพศอื่นๆ ที่เกิดมาผิดหมดทำให้พ่อแม่รู้สึกไม่ภาคภูมิใจที่มีลูกเป็นทอม ดี้ หรือ หญิงรักหญิง

ทางที่ดีคือหยุดโทษตัวเองแล้วหันมามองมุมใหม่ว่าเพศวิถีของมนุษย์มีความหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ผู้ชายกับผู้หญิงที่รักต่างเพศเท่านั้น ไม่มีใครผิดที่เกิดมาเป็นหญิงรักหญิง ไม่มีใครผิดที่เกิดมารักเพศเดียวกัน มีเพียงความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศเท่านั้นที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วหันมายอมรับลูกที่รักเพศเดียวกัน

 14. ในฐานะที่เป็นพ่อแม่ควรศึกษาเรียนรู้ว่า ค่านิยมเรื่องเพศในสังคมไทยที่ยึดถือกันอยู่เป็นค่านิยมที่ให้คุณค่ากับ “การรักต่างเพศและมีเพศสัมพันธ์เพื่อการมีบุตรเท่านั้น” จึงส่งผลให้คนที่มี “อัตลักษณ์ทางเพศ” หรือ มี “ความพึงพอใจในเพศเดียวกัน” ไม่ได้รับการยอมรับ

ระบบวิธีคิดแบบ “สังคมรักต่างเพศ” ก็คือ เราเชื่อว่าคนทุกคนเกิดมาจะต้องรู้สึกชอบหรือมีความพึงพอใจในเพศตรงกันข้ามเท่านั้น มีการให้คุณค่ากับ “รักต่างเพศ” ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ศาสนา การเมือง หรือสถาบันครอบครัวมีการมุ่งเน้นสนับสนุนให้คนมีพฤติกรรมรักเพศตรงข้ามทั้งสิ้น แล้วปฏิเสธคุณค่าของ “รักเพศเดียวกัน” โดยมองว่ารักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เป็นไปไม่ได้ เป็นความผิดปกติ ไม่ควรยอมรับ ทำให้คนที่เกิดมารักเพศเดียวกันรู้สึกด้อยค่าในตนเอง

ดังนั้น พ่อแม่ควรเปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่ ละทิ้งความคิดความเชื่อที่ว่า “รักต่างเพศ คือความถูกต้อง” ไปเสีย เพราะวิธีคิดเช่นนี้ทำให้ท่านไม่อาจเข้าใจลูกของท่านได้ การที่พ่อแม่ไม่เข้าใจลูกที่รักเพศเดียวกันมีที่มาจากวิธีคิดแบบรักต่างเพศที่พ่อแม่รับมาจากสังคมนั่นเอง หากพ่อแม่ละทิ้งความคิดความเชื่อดังกล่าวแล้วมองความเป็นทอมดี้-หญิงรักหญิงของลูกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ เรื่องที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดคือความรักที่มีให้กับลูกไม่ว่าลูกจะรักเพศไหน สิ่งนี้จะทำให้คุณได้เรียนรู้ว่าคุณไม่ต้องไปเปลี่ยนเขา แต่อยู่ที่คุณเปลี่ยนมุมมองแค่นั้นเอง

 15. หยุดมองว่าลูกเกิดมามีกรรม การมองเช่นนี้รังแต่จะทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นลบต่อลูก และยิ่งทำให้ลูกรู้สึกเป็นลบกับตัวเอง ควรมองมุมใหม่ว่าผู้คนบนโลกใบนี้เกิดมามีความแตกต่างหลากหลาย และความแตกต่างหลากหลายนั่นแหละคือสิ่งที่สวยงามที่สุด ไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตของคนหนึ่งไปเปรียบเทียบกับชีวิตของอีกคนหนึ่ง ทุกคนควรเป็นตัวของตัวเองและภาคภูมิใจในตัวเองไม่ว่าตัวเองจะเกิดมาเป็นอะไรโดยไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตคนอื่นมาเปรียบเทียบ

16. หาความรู้ความเข้าใจจากองค์กรหญิงรักหญิงโดยตรงหรือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ จะทำให้ท่านเข้าใจลูกทอมดี้ หญิงรักหญิงของท่านมากขึ้น ดังต่อไปนี้

- สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (www.rsat.info)

- มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (www.forsogi.org)

- มูลนิธิอัญจารี (anjareefoundation.wordpress.com)

Credit: http://teen.mthai.com/tomdy/75796.html
18 ก.ค. 57 เวลา 19:41 2,022 1 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...