ความเชื่อของคนญี่ปุ่นมีหลายเรื่องมากมาย 1 ในนั้นก็คือความเชื่อและการเคารพสัตว์ต่างๆ ที่เป็นตัวแทน อย่างแมวกวัก ที่เราจะเห็นได้บ่อยๆ ตามร้านค้า เพื่อนำโชคลาภ เรียกลูกค้าเข้ามาอุดหนุนในร้าน แต่วันนี้ทีนเอ็มไทนจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักความเชื่อของสัตว์อีกชนิดนึงที่ขึ้นชื่อไม่แพ้แมวกวัก นั้นก็คือ นกฮูก สัญลักษณ์ความโชคดีของญี่ปุ่นค่ะ ไปติดตามพร้อมกันว่า ทำไมนกฮูกสัตว์หน้าดุ ถึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องรางนำโชคได้…
เรียบเรียงโดย teen.mthai.com
นกฮูก สัญลักษณ์ความโชคดีของญี่ปุ่นนกในภาษาญี่ปุ่น โดยทั่วๆ ไปจะเรียกกันว่า โทริ (Tori) แต่ถ้าเป็นเจ้านกฮูก ที่ชอบนอนกลางวัน ตื่นกลางคืนเพื่อออกหากินนั้น คนญี่ปุ่นเค้าเรียกกันว่า ฟุคุโร (Fukurou) ซึ่งเจ้าฟุคุโรนี่ผูกพันกับความเชื่อของคนญี่ปุ่นมาช้านานแล้ว…
เชื่อกันว่าคำว่า “ฟุคุโร” นั้นมาจากคำว่า Fuku ที่แปลว่า “โชค” ส่วนคำว่า rou ที่มาต่อท้ายนั้น คนญี่ปุ่นมักใช้ไว้ต่อท้ายชื่อของเด็กผู้ชาย บ้างก็เชื่อว่ามาจากคำว่า fu ที่แปลว่า “ไม่” และคำว่า kurou ที่แปลว่า “ยากลำบาก ทุกข์ทรมาน” ทำให้คำว่า Fukurou มีความหมายว่า “ไม่ลำบาก” ก็ได้
จึงไม่แปลกเลยที่จะทำให้เจ้านกฮูกญี่ปุ่น กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความโชคดี (Engimono) หรือ Lucky Charm ของชาวญี่ปุ่นไปโดยปริยาย บางคนก็เชื่อว่าสี ขนาด และรูปร่างของเจ้านกฮูกนำโชคนี้จะให้คุณ (หรือส่งผล) ในด้านที่แตกต่างกันไป
นอกจากจะนำโชคดีแล้วความเชื่อเกี่ยวกับนกฮูกในญี่ปุ่นก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาคด้วย บางพื้นที่เชื่อว่านกฮูกเป็นนกผู้ไข สามารถช่วยทำนายสภาพอากาศได้ บางพื้นที่ก็ผูกพันกับนกชนิดนี้มาก อย่างชาวไอนุบนเกาะฮอกไกโดซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันกับสัตว์สองชนิดนั่นคือหมีและนกฮูก โดยพวกเขาเรียกนกฮูกชนิดหนึ่งว่า “Kotan Kor Kamuy” ที่แปลว่า “เทพเจ้าแห่งหมู่บ้าน” และมีตำนาน เรื่องเล่าเกี่ยวกับนกฮูกอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียว หรืออย่างที่เมือง Tsukuba จังหวัดอิบารากิ (Ibaraki Prefecture) นกฮูกถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์อย่างเป็นทางการของเมืองเลยทีเดียว ทั่วทั้งเมืองจะพบรูปวาด รูปถ่าย หรือรูปปั้นของเจ้านกฮูกนี้อยู่เต็มไปหมด แถมกรุงโตเกียวเองก็ยังมีการประดับครอบครัวนกฮูกไว้ที่หน้าสถานีชื่อดังและพลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นด้วย ที่นั่นก็คือสถานีรถไฟอิเคะบุคุโระ
จากเหนือจรดใต้ของญี่ปุ่น เราจะได้เห็นเรื่องราวและร้านขายของเกี่ยวกับนกฮูกหลายแห่ง ทั้งที่ Maruyama Zoo บนเกาะฮอกไกโด หมู่บ้านไอนุ (Ainu Kotan Village) ที่ทะเลสาบอะคัง บนเกาะฮอกไกโด หรือที่แหลมอิซุ (Izu Peninsula) บนเกาะฮอนชู
ในช่วงหลังการปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration) ราวปี 1868 ซึ่งญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศ ต้อนรับชาติตะวันตกมากขึ้น ภาพลักษณ์ของนกฮูกในสายตาคนญี่ปุ่นก็ถูกนำเสนอให้คนต่างชาติได้รู้จักในแง่มุมที่ต่างออกไปด้วย นกฮูกได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเฉลียวฉลาดและการศึกษาหาความรู้ ขณะที่ความเชื่อที่ว่านกฮูกเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีและปกป้องผู้คนจากเรื่องร้ายๆ ก็ค่อยๆ จางหายไป
คนญี่ปุ่นเชื่อว่าโอมะโมะริ (Omamori) หรือเครื่องรางนั้นจะสามารถปกป้องคุ้มครองจากสิ่งไม่ดีทั้งหลายได้ นอกจากนี้ยังมีไว้เพื่อเสริมสร้างความสุข ความสมหวังในชีวิตด้านต่างๆ อีกด้วย คนญี่ปุ่นจึงนิยมนำสัญลักษณ์รูปสัตว์นำโชคต่างๆ มาทำเป็นเครื่องราง ไม่ว่าจะเป็นแมว กระต่าย หรือแม้กระทั่งนกฮูก แน่นอนว่าเครื่องรางที่มีรูปนกฮูกนั้น เชื่อว่าจะเรียกโชคดีเข้ามา ทำให้ครอบครัวมีความสุข แต่ที่เชื่อกันอย่างสุดๆ ก็คือจะทำให้คนที่พกเครื่องรางมีสติปัญญาดี เรียนเก่ง สอบผ่านได้อย่างง่ายๆ จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียน นักศึกษา ส่วนพวกผู้ใหญ่ก็มักจะเสาะหามาให้บุตรหลาน หรือเป็นของฝาก ของที่ระลึกสำหรับเด็กๆ
แม้จะเป็นความเชื่อ.. แต่คนญี่ปุ่นสมัยใหม่ ก็ยังพกพาเครื่องรางนกฮูกกันทั่วไป ก็แหม.. ดีไซน์นกฮูกสมัยนี้ออกจะเก๋ไก๋ ดูน่ารัก มีมากมายหลายแบบเต็มท้องตลาดขนาดนี้ หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป มีทั้งแบบทำด้วยพลาสติก ไม้ หรือโลหะ ทำเป็นเครื่องรางบ้าง ที่ห้อยโทรศัพท์บ้าง เคสโทรศัพท์ หรือไม่ก็สติ๊กเกอร์บ้าง ทำเป็นรูปปั้น รูปแกะสลักก็เยอะแยะมากมาย แล้วเจ้าของพวกนี้คงจะไม่หมดไปจากสังคมชาวญี่ปุ่นอย่างง่ายๆ แน่นอน
แต่อันที่จริงแล้วคนญี่ปุ่นบางกลุ่มก็มองนกฮูกในสองลักษณะ มีทั้งในแง่ดีและในแง่ร้าย อย่างนกฮูกที่เรียกว่านกฮูกยุ้งหรือนกแสกจะถือว่านำสิ่งชั่วร้ายมาให้ เชื่อว่าเป็นนกปีศาจ คล้ายๆ กับบ้านเราเหมือนกันนะ ในสมัยก่อนถ้ามาเกาะหลังคาบ้านละก็ คงขนหัวลุกกันเป็นแถว เพราะคนไทยเชื่อว่าจะเป็นลางร้าย ถึงขนาดอาจจะมีคนในบ้านเสียชีวิตเลยก็ได้ ส่วนนกฮูกเหยี่ยวจะมีแต่คนชอบ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้นำสารจากเทพเจ้า จึงนำมาแต่สิ่งดีๆ