“ลูกคิด” ใครรู้จักบ้างค่ะ? เชื่อว่าวัยรุ่นสมัยนี้หลายคนอาจไม่รู้จักกันแล้วว่า มันคืออะไร? หน้าตายังไง? แล้วมันสามารถทำอะไรได้บ้าง? วันนี้ทีนเอ็มไทย จะพาทุกคนไปดู เรื่องน่ารู้ ของวิวัฒนาการลูกคิด พร้อมๆ กัน ว่าจริงๆ แล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร? และมีวิธีการคิดเลขแบบไหน?
เรื่องน่ารู้ ของวิวัฒนาการลูกคิด
ความหมาย ลูกคิด จากวิกิพีเดีย
ลูกคิด หรือ Abacus เป็นเครื่องมือสำหรับใช้คำนวณ นับเป็นเครื่องคิดเลข ยุคแรกๆ ของโลก ประกอบด้วยโครงสี่เหลี่ยม และมีแกนร้อยตัวลูกคิดกลมๆ สำหรับใช้นับเลข สามารถเลื่อนขึ้นลงได้ ลูกคิดแบบเชิงกลเช่นนี้มีด้วยกันหลายแบบ และหลายภูมิภาค เช่น บาบิโลน โรมัน จีน ญี่ปุ่น แต่ที่รู้จักกันดีคือลูกคิดแบบจีน
ความหมาย ลูกคิด จาก NECTEC Thailand
ลูกคิด เป็นเครื่องคำนวณเครื่องแรกที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์ คิดค้นขึ้นมาโดยชาวตะวันออก(ชาวจีน) และยังมีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน มีลักษณะต่างๆออกไป เช่น ลูกคิดของจีนจะมีตัวนับรางบนสองแถว ขณะที่ลูกคิดญี่ปุ่นจะมีตัวนับรางบนเพียงแถวเดียว แม้เป็นอุปกรณ์สมัยเก่า แต่ก็มีความสามารถในการคำนวณเลขได้ทุกระบบ
ลูกคิดมีชื่อเรียกว่า “ซว่านผาน” เป็นสิ่งประดิษฐ์ของจีนเมื่อกว่า 700 ปีก่อน ถือกันว่าลูกคิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นที่ 5 ของจีน เรียงลงมาจาก กระดาษ การพิมพ์หนังสือ เข็มทิศ และดินระเบิด ลูกคิดวิวัฒนาการมาจากกระดานไม้สำหรับนับเบี้ยโบราณเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน เรียกว่า “จูซว่าน” เริ่มต้นมีแต่เพียงการบวกและลบเท่านั้น ต่อมาปลายยุคถังจึงพัฒนามาเป็นการคูณและการหาร เมื่อแพร่หลายมากๆ ก็มีคนคิดสูตรออกมาให้ท่อง คงคล้ายกับการท่องสูตรคูณ กระดานคิดเลขพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับธุรกิจการค้าการขาย จนถึงยุคหมิงจึงมีชื่อเรียกเป็นครั้งแรกว่า “กระดานลูกคิด” หรือ “ซว่านผาน” แล้วจากนั้น บันทึกเรื่องราว หรือภาพโบราณที่มีลูกคิดปรากฏให้เห็น ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนลูกคิดของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “Soroban” ก็เผยแพร่มาจากจีนเช่นกัน ที่มาที่ไปและผู้คิดค้นประดิษฐ์ลูกคิดนี้ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครระบุได้แน่ชัด แต่ในประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้ลูกคิดเป็นเครื่องคำนวณมานานแล้ว มีนักคณิตศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า มีการใช้ลูกคิดตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
รางลูกคิดของจีนแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนบนมีลูกคิดแถวละ 2 ลูก ส่วนล่างมี 5 ลูก แต่ก็มีบางแบบที่ทำต่างออกไป แถวบนมีลูกเดียว แถวล่างมี 4 หรือ 5 ลูก แต่วิธีคิดใช้หลักอันเดียวกัน
การท่องสูตรลูกคิดไม่ใช่เรื่องยาก ใครท่องได้ก็ดีดลูกคิดได้ อีกทั้งกระดานลูกคิดก็พกพาได้สะดวก การใช้ลูกคิดจึงแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วทั่วประเทศจีน ร้านค้าในสมัยก่อนทุกร้าน ต้องมีลูกคิดไว้คิดราคาสินค้า เหมือนที่คนสมัยนี้ต้องมีเครื่องคิดเลข แม้จนทุกวันนี้ ร้านค้าโบราณที่ถนัดจะใช้ลูกคิดแทนเครื่องคิดเลขก็ยังมี
จนหลายคนตั้งคำถามว่า เมื่อเครื่องคิดเลขดิจิตอลที่แสนฉลาดและทันสมัยเกิดขึ้นแล้ว การดีดลูกคิดแบบเก่าจะสู้อย่างไรไหว?เรื่องนี้ได้มีผู้พิสูจน์แล้วว่า ในกรณีที่เป็นการบวกและการลบเลขจำนวนมากๆ ลูกคิดจะดีดได้เร็วกว่าเครื่องคิดเลข อย่างน้อยเครื่องคิดเลขต้องเสียเวลากับการกดเครื่องหมาย บวก ลบตลอดเวลา ทำให้ความเร็วช้ากว่าลูกคิด อีกทั้งโอกาสที่จะกดพลาดก็มีมากกว่า และว่าโดยความเป็นจริงแล้ว ชีวิตประจำวันของคนเรา วนเวียนอยู่กับการบวกเลขและลบเลขมากถึงร้อยละ 80 คิดได้อย่างนี้แล้ว ลูกคิดจึงควรจะมีที่ทางของมันที่จะอยู่ต่อไป
ลูกคิดที่นิยมใช้กันมีอย่างน้อย 10 หลัก แต่ละหลักจะมีลูกคิดหลักละ 7 ลูก มีขื่อกั้นแบ่งลูกคิดตอนบนและตอนล่าง ตอนบนมีลูกคิดหลักละ 2 ลูก ตอนล่างมีลูกคิดหลักละ 5 ลูก
คำอธิบาย ส่วนประกอบของ ลูกคิด
Frame ขอบ(กรอบ)ราง
Upper Deck กรอบรางตอนบน
Lower Deck กรอบรางตอนล่าง
Beam ขื่อ
Rods หลัก(แกนราง)
Beads เม็ดลูกคิด
วิธีนับหลักของลูกคิดว่าหลักใดเป็นหลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย หลักพัน ฯลฯ มีวิธีนับเช่นเดียวกับการนับหลักจำนวนเลขตามวิธีเลขคณิต โดยเลือกกำหนดให้แกนรางหลักสุดท้ายหรือหลักขวาสุดเป็นหลักหน่วย และไล่หลักทางซ้ายมือต่อๆไป
หรือหากมีความชำนาญแล้ว สามารถกำหนดแกนรางตำแหน่งใดๆเป็นหลักหน่วย
<– แกนถัดไปทางซ้าย 1 แกนเป็นหลักสิบ
<– แกนถัดไปทางซ้าย 2 แกนเป็นหลักร้อย
<– แกนถัดไปทางซ้าย 3 แกนเป็นหลักพัน
–> แกนถัดไปทางขวา 1 แกนเป็นทศนิยมตำแหน่งที่ 1
–> แกนถัดไปทางขวา 2 แกนเป็นทศนิยมตำแหน่งที่ 2
ความหมายของคำที่ใช้ในการดีดลูกคิด
ให้ หมายความว่า เพิ่ม หรือ บวก
ทด หมายความว่า เพิ่มไปข้างหน้าทางซ้ายมือหนึ่งหลัก
ถอน หมายความว่า ลบออก หรือ หักออก
ยืม หมายความว่า ยืมจากทางซ้ายมือหนึ่งหลัก
วิธีใช้นิ้ว
การใช้นิ้วในการดีดลูกคิดให้ถูกหลักและวิธี จะต้องใช้นิ้ว 3 นิ้วช่วยกัน คือ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ในขณะดีดลูกคิดไม่ควรให้ข้อศอกของมือที่ใช้ดีดลูกคิดแตะพื้นโต๊ะ การฝึกดีดลูกคิดให้ถูกหลักและวิธี จะทำให้คิดเลขได้คล่องแคล่ว เกิดความชำนาญและสามารถคิดเลขได้รวดเร็วไม่แพ้การใช้เครื่องคิดเลข
การใช้นิ้วทั้ง 3 ในการดีดลูกคิดจะแบ่งหน้าที่กัน ดังนี้
นิ้วหัวแม่มือ ใช้สำหรับดีดลูกคิดตอนล่างขึ้น
นิ้วชี้ ใช้สำหรับดีดลูกคิดตอนบนและตอนล่างลง และช่วยนิ้วหัวแม่มือจับลูกคิดตอนล่างขึ้น
นิ้วกลาง ใช้สำหรับดีดลูกคิดตอนบนขึ้น
วิธีใช้นิ้วดีดลูกคิด
ค่าของเม็ดลูกคิด
เม็ดลูกคิด ตอนบน มีค่าเม็ดละ 5 หน่วย
หลักหน่วย มีค่า 5
หลักสิบ มีค่า 50
หลักร้อย มีค่า 500
หลักพัน มีค่า 5,000
เม็ดลูกคิด ตอนล่าง มีค่าเม็ดละ 1 หน่วย
หลักหน่วย มีค่า 1
หลักสิบ มีค่า 10
หลักร้อย มีค่า 100
หลักพัน มีค่า 1,000
ดังนั้น ลูกคิดตอนล่าง 5 ลูก มีค่าเท่ากับลูกคิดตอนบน 1 ลูก
และ ลูกคิดตอนบน 2 ลูก มีค่าเท่ากับลูกคิดตอนล่างถัดไปทางซ้ายมือ 1 ลูก