วันนี้ทีนเอ็มไทย ขอนำเรื่องน่ารู้อย่าง เคนโด้ (Kendo) วิถีแห่งดาบของชาวญี่ปุ่น ศิลปะป้องกันตัวที่ต้องฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจได้เป็นอย่างดี และอีกไม่นานเราก็จะได้ชมในละคร The rising sun?รอยรักหักเหลี่ยมตะวัน และ รอยฝันตะวันเดือด ที่ได้สองหนุ่มสุดฮอต อย่างมาริโอ้ และ ณเดชน์ ร่วมแสดง ซึ่งทั้งคู่จะเล่นกีฬาเคนโด้ เพื่อใช้ในการต่อสู้แบบชาวญี่ปุ่นอีกด้วย ดังนั้นวันนี้เราไปทำความรู้จักเรื่องน่ารู้ของ?เคนโด้ วิถีแห่งดาบของชาวญี่ปุ่นนี้กันค่ะ
เคนโด้ วิถีแห่งดาบของชาวญี่ปุ่น
“เคนโด้”(Kendo) คือ ศิลปวิทยายุทธ์ ที่มีความหมายว่า วิถีแห่งดาบ ค่ะ โดยมีพื้นฐานมาจากการใช้ดาบของซามูไร ซึ่งสืบทอดกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 789 จนกระทั่งพัฒนามาเป็นกีฬาเคนโด้ และกำลังได้รับความนิยมในกว่า 28 ประเทศทั่วโลก นอกจากจะเป็นวิชาการต่อสู้ที่รวดเร็วและเด็ดขาดแล้ว เคนโด้ยังแฝงหลักจริยธรรมของนักรบ และความลึกล้ำด้านจิตวิญญาณของศาสนาไว้อีกด้วย วิชาเคนโด้จึงถูกนำมาเป็นวิชาการปกครองแขนงหนึ่งซึ่งนักรบชนชั้นปกครอง รวมทั้งเหล่าวิญญูชนให้ความนับถือ ยกย่องเป็นพิเศษมาช้านาน จนกระทั่งแพร่หลายไปเป็นวิชาหนึ่งในสถาบันวิชาการปกครอง และการทหารต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย
แก่นแท้ของวิชาเคนโด้ (Kendo)?คือ การผนวก ดาบ จิตใจ และร่างกาย เข้าเป็นหนึ่ง การโจมตีโดยดาบไม้ไผ่ หรือชินัย ซึ่งประสานจิตและกายไว้เป็นหนึ่งเดียว จนเอาชนะคู่แข่งได้ในพริบตานั้นจะเรียกว่า อิทโชะคุ อิตโต ( ISSOKU ITTO) หรือ “ดาบเดียวในหนึ่งก้าว” ซึ่งถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่อันเกิดจากการใช้พลังเพียงนิดเดียว ดังนั้น ผู้ที่ฝึกเคนโด้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุเพียงไหนก็สามารถ ใช้หลักการนี้เอาชนะคู่ต่อสู้ที่มีร่างกายแข็งแรงกว่าได้อย่างง่ายดาย
สำหรับประวัติเคนโด้ในประเทศไทย
คำว่า “เคนโด้ (Kendo)” นั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2514-5 ประเทศไทยเรารู้จักกีฬาเคนโด้เป็นครั้งแรกทางหน้าจอโทรทัศน์ ก็คือเรื่อง Ore wa Otoko da! (ข้าคือลูกผู้ชาย) ที่ใช้ชื่อเรื่องภาษาไทยง่ายๆแต่ติดปากว่า “เคนโด้(Kendo)“ เนื้อเรื่องกล่าวถึงการต่อสู้ของลูกผู้ชายอย่าง โคบายาชิ โคจิ ที่ไม่ชอบการที่ผู้หญิงมีอิทธิพลอย่างสูงในโรงเรียนอาโอบะ โดยใช้การต่อสู้ของลูกผู้ชายคนหนึ่งผ่านดาบไม้ไผ่ (เคนโด้) สร้างชมรมเคนโด้ขึ้นมาด้วย ความยากลำบาก การเป็นขมิ้นกับปูนกับ โยชิคาว่า มิซาโอะ หัวหน้าชมรมดรัมเมเยอร์ได้สร้างสีสันให้กับหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หลังจากเรื่องดังกล่าวจบไปแล้ว คำว่า “เคนโด้” ก็เลือนหายไป
จนกระทั่งเมื่อเดือนธันวาคมปีพ.ศ. 2528 ได้มีอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นผู้ชำนาญในสาขาพลศึกษาชื่ออาจารย์เคอิชิ นากาเน่ ( Keishi Nakane) เดินทางมาเป็นอาสาสมัครประจำที่วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพฯ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และได้นำเคนโด้ที่อาจารย์ถนัดที่สุดเผยแพร่เป็นครั้งแรก โดยทำการฝึกสอนให้กับทางคณาจารย์และนักศึกษาที่สนใจในเวลาเย็น ขณะนั้นอาจารย์ได้รับ 5 ดั้งจากสหพันธ์เคนโด้ญี่ปุ่น
แต่เนื่องจากชุดและอุปกรณ์ในการฝึกซ้อมเคนโด้นั้นมีราคาสูงมาก อาจารย์เคอิชิ นากาเน่ จึงได้ติดต่อชุดอุปกรณ์จาก JICA (Japan International Cooperation Agency) จำนวน 20 ชุดและขอชุดเก่าจากสหพันธ์เคนโด้ญีปุ่นอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้ผู้ที่สนใจในเมืองไทยได้ฝึกซ้อมหลังจากนั้น ผู้ที่เล่นเคนโด้ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15 คนก็ได้ออกไปเผยแพร่ตามสถานที่ต่างๆ และถูกส่งไปเข้าร่วมการแข่งขันฝึกซ้อมกันกับประเทศอาเซียนที่เล่นกันอยู่เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์อยู่เป็นประจำ ต่อมาก็มีสถาบันหลายแห่งที่ให้ความสนใจในกีฬาเคนโด้จึงได้เรียนเชิญอาจารย์เคอิชิ นากาเน่ ไปช่วยแนะนำ การเล่นและฝึกสอน เช่นโรงเรียนนายเรือ , มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, กรมพลศึกษา
ต่อมาช่วงปี พ.ศ. 2533 ก็ได้มีคนไทยที่ไปเรียนยังต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา, เกาหลีและญี่ปุ่นได้ฝึกเล่นเคนโด้ และเดินทางกลับมารวมตัวกัน ขึ้นร่วมกับชาวญี่ปุ่นที่สนใจอยู่แล้วรวมกันก่อตั้ง ชมรมกีฬาเคนโด้แห่งประเทศไทย ( Thailand Kendo Club) ขึ้น และในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ทางชมรมได้ร่วมกับกรมพลศึกษาเป็นเจ้าภาพรับจัดการแข่งขันเคนโด้ชิงชนะเลิศอาเซียนครั้งที่ 3 ขึ้น ณ อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ
อุปกรณ์และเครื่องแบบ เคนโด้ (Kendo)
1.ดาบไม้ไผ่ (Shinai : ชินัย) เป็นดาบที่ทำจากไม้ไผ่ 4 แผ่น มามัดรวมด้วยกันด้วยเชือกหนัง ใช้สำหรับฝึกฝนทั่วไป
2.ดาบไม้ (Bokuto : โบคุโต) เป็นดาบที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง ใช้ในการฝึกที่เป็นทางการ
3.เสื้อ (Keigoki : เคย์โกกิ)
4.กางเกง (Hakama : ฮากามะ)
5.เสื้อเกราะ (Boku : โบกุ) มีทั้งหมด 4 ชิ้น คือ หัว(Men : เม็ง) ตัว(Do : โด) ข้อมือ(Kote : โคเทะ) และส่วนสะโพก(Tare : ทาเระ)
วิธีการเล่นเคนโด้(Kendo) จะมีวิธีการฝึกซ้อมอยู่สองแขนง
แขนงที่หนึ่งคือการฝึกท่ารำ คล้ายๆ กับกระบี่กระบองของบ้านเรา การรำนี้เขาเรียกว่า คาตะ(KATA)เป็นการรำที่ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ สมาธิ ในการรำจะประกอบด้วยผู้ฝึกเคนโดจำนวนสองคน ผลัดกันรุกและรับ
แขนงที่สองคือการต่อสู้ของผู้ฝึกเคนโด โดยการใส่ชุดเกราะที่เรียกว่า โบกู (BOGU) และใช้อาวุธเป็นดาบไม้ไผ่ที่เรียกว่า Shinai
ในการฝึกเคนโดนั้น ตามปกติโดยทั่วไปผู้เข้าฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ประเภทนี้จะต้องเริ่มฝึกจากท่ารำคาตะก่อนแล้วจึงตามด้วยการฝึกแบบใส่ชุดเกราะ และก่อนที่จะใส่ชุดเกราะจะมีการสวมชุดอีกชุดหนึ่งข้างในก่อน ชุดนี้จะประกอบด้วยเสื้อ (Kendo-gi) และกางเกง (Hakama) ในการฝึกแบบต่อสู้นั้นจะทำให้ผู้ฝึกได้ฝึกการใช้สมาธิและการตัดสินใจอย่างรอบคอบและรวดเร็ว เพราะกีฬาประเภทนี้ตัดสินกันที่เสี้ยววินาที
จุดทำคะแนน
เมื่อฝึกได้เข้าขั้นจนได้เข้าทำการแข่งขันแล้ว ในการแข่งขันผู้เล่นจะต้องตีให้ถูกจุดทำคะแนนทั้งสามจุดนั่นคือศีรษะ (Men) ข้อมือ (Kote) และลำตัว (Do) การที่จะทำให้การทำคะแนนแต่ละครั้งได้รับการยอมรับจากกรรมการขึ้นอยู่กับความหนักแน่นและความถูกต้องแม่นยำ ไม่ใช้ว่าใครก็สามารถจะทำกันได้ง่ายๆ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและประสบการณ์
สนามในการแข่งเคนโด้(Kendo)
ส่วนสนามที่ใช้ในการฝึกต้องเป็นพื้นที่เรียบเป็นพื้นไม้และอยู่ในร่มถ้าเป็นประเทศไทยถ้าติดแอร์ได้จะเป็นการดีเพราะชุดเคนโดรวมเสื้อเกราะและหน้ากากจะทำความร้อนให้กับตัวเราเป็นอย่างดีในการแข่งขันจะมีการตีกรอบเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 6 x 6 หรือ 8 x 8 เมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ การต่อสู้จะต่อสู้กันภายในกรอบและผู้ใดที่ก้าวเลยออกนอกกรอบจะโดนตัดคะแนน
สำหรับวิธีการคิดคะแนน
ในการตัดสินผู้เข้าแข่งขันคนใดได้สองคะแนนจากกรรมการก่อนจะเป็นผู้ชนะ
หลังจากเราได้ทราบเรื่องน่ารู้ ของ เคนโด้(Kendo) วิถีแห่งดาบของชาวญี่ปุ่น แล้ว เราลองมาดูภาพการฝึกฝนเคนโด้ ในเบื้องหลังละคร The rising sun รอยรักหักเหลี่ยมตะวัน และ รอยฝันตะวันเดือด ของสองหนุ่ม มาริโอ้ และ ณเดชน์ เรียกน้ำย่อยก่อนออนแอร์ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้กัน
เคนโด้ (Kendo) ไม่ว่าจะเป็นกีฬาสัญชาติไหน แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นกีฬาแล้ว นอกจากให้ความแข็งแกร่งต่อร่างกายยังเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจของผู้ฝึกฝนได้เป็นอย่างดี ‘รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย คือหัวใจของนักกีฬาที่ดี’ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในกีฬาทุกประเภท เคนโดก็เป็นอีกทางเลือกของเพื่อนๆ ที่สนใจ กับ เคนโด้ วิถีแห่งดาบของชาวญี่ปุ่นสำหรับวัยรุ่นคนไหนที่สนใจลองเล่นกันดูนะคะ เป็นยังไงแล้วลองมาเล่าสู่กันฟังบ้างน้า…