"มะรุม" เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่ถูกปลูกไว้ในบริเวณบ้านไทยมาแต่โบราณ กินได้หลายส่วนทั้งยอด ดอก และฝักเขียว แต่ใครๆ ก็นิยมกินฝักมากกว่าส่วนอื่นๆ
ต้นมะรุมพบได้ทุกภาคในประเทศไทย ทางอีสานเรียก "ผักอีฮุม หรือผักอีฮึม" ภาคเหนือเรียก "มะค้อม- ก้อน" ชาวกะเหรี่ยงแถบกาญจนบุรีเรียก "กาแน้งเดิง" ส่วนชาวฉานแถบแม่ฮ่องสอนเรียก "ผักเนื้อไก่" เป็นต้น
มะรุมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Moringa oleifera Lam. วงศ์ Moringaceae เป็นพืชกำเนิดแถบใต้เชิงเขาหิมาลัย
มะรุมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง ๓-๔ เมตร ทรงต้นโปร่ง ใบเป็นแบบขนนกคล้ายกับใบมะขามออกเรียงแบบสลับ ผิวใบด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน ดอกออกเป็น ช่อสีขาว ดอกมี ๕ กลีบ
ฝักมีความยาว ๒๐-๕๐ เซนติเมตรลักษณะเหมือน ไม้ตีกลอง เป็นที่มาของชื่อต้นไม้ตีกลองในภาษาอังกฤษ (Drumstick Tree) เปลือกฝักอ่อนสีเขียวมีส่วนคอดและส่วนมนเป็นระยะตามความยาวของฝัก เปลือกฝักแก่มีสีน้ำตาล เมล็ดมีเยื่อหุ้มลักษณะกลมมีสีน้ำตาล เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เซนติเมตร เมล็ดแก่สามารถบีบน้ำมันออกมากินได้
มะรุมเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ การปลูกการดูแลรักษาก็ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน เกษตรกรจึงมักนิยมปลูกมะรุมไว้ริมรั้วบ้านหรือหลังบ้าน ๑-๕ ต้น เพื่อให้เป็น ผักคู่บ้านคู่ครัวแบบพอเพียงที่ไม่ต้องซื้อหา
คนไทยทุกภาคนิยมนำฝักมะรุมไปทำแกงส้ม ด้วยการปอกเปลือกหั่นฝักมะรุมเป็นชิ้นยาวพอคำ ถือว่าเป็น ผักที่ทำแกงส้มคู่กับปลาช่อนอร่อยที่สุด จะต่างกันก็ในรายละเอียดของแกงตามแบบอย่างของแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น แม้แต่ทางใต้ก็นิยมนำมะรุมมาทำแกงส้มปลา-ช่อน โดยจะใส่ขมิ้นเพื่อดับกลิ่นคาวปลาและเพิ่มสีสันของน้ำแกง ปรุงรสเปรี้ยวด้วยการใส่ส้มแขกแทนน้ำมะขาม และหั่นปลาช่อนเป็นแว่นใหญ่ไม่โขลกเนื้อปลากับเครื่องแกง
ผู้เฒ่าผู้แก่นิยมกินมะรุมในช่วงต้นหนาวเพราะเป็นฤดูกาลของฝักมะรุม หาได้ง่าย รสชาติอร่อยเพราะสดเต็มที่ มีขายตามตลาดในช่วงฤดูกาล คนที่ปลูกมะรุม ไว้ในบ้านเท่านั้นจึงจะมีโอกาสลิ้มรสยอดมะรุม ใบ อ่อน ช่อดอกและฝักอ่อน ช่อดอกนำไปดองเก็บไว้กิน กับน้ำพริก ยอดมะรุม ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อนนำ มาลวกหรือต้มให้สุก จิ้มกินกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกแจ่วบอง กินแนมกับลาบ ก้อย แจ่วได้ทุกอย่าง หรือจะใช้ยอดอ่อน ช่อดอกทำแกงส้มหรือแกงอ่อมก็ได้
ส่วนอื่นๆ ของโลกจะใช้ใบมะรุมประกอบอาหารเช่นเดียวกับการใช้ผักขมฝรั่ง หรือปรุงเป็นซอสข้นราดข้าวหรืออาหารแป้งอื่นๆ นอกจากนี้ ใช้ใบตากแห้งป่นเก็บไว้ได้นานโรยอาหาร เช่นเดียวกับที่ภูมิปัญญาอีสาน จังหวัดสกลนครใช้ใบมะรุมแห้งป่นเข้าเครื่อง "ผงนัว" กับสมุนไพรอื่นไว้แต่งรสอาหารมาแต่โบราณ ส่วนฝักอ่อนปรุงอาหารเหมือนถั่วแขก
คุณค่าทางอาหารของมะรุม
มะรุมเป็นพืชมหัศจรรย์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิ้ลว่าเป็นพืชที่รักษาทุกโรค
ใบมะรุมมีโปรตีนสูงกว่านมสด ๒ เท่า การกินใบมะรุมตามชนบทของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศโลกที่ ๓ เป็นการเพิ่มโปรตีนคุณภาพสูงราคาถูกให้กับอาหารพื้นบ้าน นอกจากนี้ มะรุมมีธาตุอาหารปริมาณสูงเป็นพิเศษที่ช่วยป้องกันโรค นั่นคือ
วิตามินเอบำรุงสายตามีมากกว่าแครอต ๓ เท่า
วิตามินซีช่วยป้องกันหวัด ๗ เท่าของส้ม
แคลเซียมบำรุงกระดูกเกิน ๓ เท่าของนมสด
โพแทสเซียมบำรุงสมองและระบบประสาท ๓ เท่าของกล้วย
ใยอาหารและพลังงานไม่สูงมากเหมาะกับผู้ที่ควบคุมน้ำหนักอีกด้วย
น้ำมันสกัดจากเมล็ดมะรุมมีองค์ประกอบคล้ายน้ำมันมะกอกดีต่อสุขภาพอย่างยิ่ง จากอาหารมาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นผลิตชาใบมะรุมออกจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ระบุว่าใช้แก้ไขปัญหาโรคปากนกกระจอก หอบหืด อาการปวดหูและปวดศีรษะ ช่วยบำรุงสายตา ระบบทางเดินอาหาร และช่วยระบายกาก
ประเทศอินเดีย หญิงตั้งครรภ์จะกินใบมะรุมเพื่อเสริมธาตุเหล็ก แต่ที่ประเทศฟิลิปปินส์และบอสวานาหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะกินแกงจืดใบมะรุม (ภาษาฟิลิปปินส์ เรียก "มาลังเก") เพื่อประสะน้ำนมและเพิ่มแคลเซียมให้กับนมแม่เหมือนกับคนไทย
ชะลอความแก่
กล่าวกันว่ามะรุมมีฤทธิ์ชะลอความแก่ เนื่องจากยังไม่พบรายงานการวิจัยเกี่ยวกับมะรุมในด้านนี้ คาดว่าเป็นการสรุปเนื่องจากมะรุมมีสารฟลาโวนอยด์สำคัญคือ รูทินและเควอเซทิน (rutin และ quercetin) สารลูทีนและกรดแคฟฟีโอลิลควินิก (lutein และcaffeoylquinic acids) ซึ่งต้านอนุมูลอิสระ ดูแลอวัยวะต่างๆ ได้แก่ จอประสาทตา ตับ และหลอดเลือดจากการเสื่อมสภาพตามอายุ การกินสารต้านอนุมูลอิสระชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายได้
ฆ่าจุลินทรีย์
สารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์และเบนซิล-กลูโคซิโนเลตค้นพบในปี พ.ศ.๒๕๐๗ จากมะรุมมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ สนับสนุนการใช้น้ำคั้นจากมะรุมหยอดหูแก้ปวดหู ปัจจุบันหลังจากการค้นพบแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร Helicobactor pylori กำลังมีการศึกษา สารจากมะรุมในการต้านเชื้อดังกล่าว
การป้องกันมะเร็ง
สารเบนซิลไทโอไซยาเนตไกลโคไซด์ชนิดหนึ่งและสารไนอาซิไมซิน (niazimicin) จากมะรุมสามารถต้านการเกิดมะเร็งที่ถูกกระตุ้นโดยสารฟอบอลเอสเทอร์ในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้
การทดลองในหนูพบว่าหนูที่ได้รับฝักมะรุมเป็นอาหารเกิดโรคมะเร็งผิวหนังจากการกระตุ้นน้อยกว่ากลุ่มทดลอง โดยกลุ่มที่กินมะรุมมีเนื้องอกบนผิวหนังน้อยกว่ากลุ่มควบคุม
ฤทธิ์ลดไขมันและคอเลสเทอรอล
จากการทดลอง ๑๒๐ วัน ให้กระต่ายกินฝักมะรุม วันละ ๒๐๐ กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันเทียบกับยาโลวาสแตทิน ๖ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัวต่อวันและให้อาหารไขมันมาก
ใบมะรุม ๑๐๐ กรัม (คุณค่าทางโภชนาการของอาหารอินเดีย พ.ศ.๒๕๓๗)
พลังงาน ๒๖ แคลอรี
โปรตีน ๖.๗ กรัม (๒ เท่าของนม)
ไขมัน ๐.๑ กรัม
ใยอาหาร ๔.๘ กรัม
คาร์โบไฮเดรต ๓.๗ กรัม
วิตามินเอ ๖,๗๘๐ ไมโครกรัม (๓ เท่าของแครอต)
วิตามินซี ๒๒๐ มิลลิกรัม (๗ เท่าของส้ม)
แคโรทีน ๑๑๐ ไมโครกรัม
แคลเซียม ๔๔๐ มิลลิกรัม (เกิน ๓ เท่าของนม)
ฟอสฟอรัส ๑๑๐ มิลลิกรัม
เหล็ก ๐.๑๘ มิลลิกรัม
แมกนีเซียม ๒๘ มิลลิกรัม
โพแทสเซียม ๒๕๙ มิลลิกรัม (๓ เท่าของกล้วย)
พบว่าทั้งกลุ่มที่กินมะรุมและยามีคอเลสเทอรอล ฟอสโฟไลพิด ไตรกลีเซอไรด์ VLDL LDL ปริมาณคอเลส-เทอรอลต่อฟอสโฟไลพิด และ atherogenic index ต่ำลง ทั้ง ๒ กลุ่มมีการสะสมไขมันในตับ หัวใจ และท่อเลือดแดง (เอออร์ตา)
กลุ่มควบคุมปัจจัยด้านการสะสมไขมันในอวัยวะเหล่านี้ไม่มีค่าลดลงแต่อย่างใด
กลุ่มที่กินมะรุมพบการขับคอเลสเทอรอลในอุจจาระ เพิ่มขึ้น ผู้วิจัยจึงสรุปว่าการกินมะรุมมีผลลดไขมันในร่างกาย
ที่ประเทศอินเดียมีการใช้ใบมะรุมลดไขมันในคน ที่ มีโรคอ้วนมาแต่เดิม การศึกษาการกินสารสกัดใบมะรุมในหนูที่กินอาหารไขมันสูงมีปริมาณคอเลสเทอรอลใน เลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับกลุ่มควบคุม นอก จากนี้กลุ่มทดลองมีปริมาณไขมันในตับและไตลดลง
สรุปว่าการให้ใบมะรุมเพื่อลดปริมาณไขมันทาง การแพทย์อินเดียสามารถวัดผลได้ในเชิงวิทยาศาสตร์จริง
ฤทธิ์ป้องกันตับ
งานวิจัยการให้สารสกัดแอลกอฮอล์ของใบมะรุมกรณีทำให้ตับหนูทดลองเกิดความเสียหายโดยยาไรแฟม-ไพซิน พบว่าสารสกัดใบมะรุมมีฤทธิ์ป้องกันตับ โดยมี ผลกับระดับเอนไซม์แอสพาเทตอะมิโนทรานสเฟอเรส อะลานีนอะมิโนทรานสเฟอเรส อัลคาไลน์ฟอสฟาเทส และบิลิรูบินในเลือด และมีผลกับปริมาณไลพิดและไลพิดเพอร์ออกซิเดสในตับ โดยดูผลยืนยันจากการตรวจชิ้นเนื้อตับ สารสกัดใบมะรุมและซิลิมาริน (silymarin กลุ่มควบคุมบวก) มีผลช่วยการพักฟื้นของการถูกทำลาย ของตับจากยาเหล่านี้
ผลิตภัณฑ์มะรุมของต่างประเทศจะอ้างฤทธิ์รักษาโรคมากมายทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยา-ศาสตร์ แค่ฤทธิ์ที่พิสูจน์ได้นี้ก็คงเพียงพอแล้วที่คุณ จะเพิ่มใบหรือฝักมะรุมในรายการอาหารของคุณมื้อกลางวันนี้
ข้อมูลจาก
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 338
คอลัมน์: บทความพิเศษ
นักเขียนหมอชาวบ้าน: รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ