แผนภาพแสดงที่นั่งผู้โดยสารของแอร์บัสแบบใหม่ที่ได้ต้นแบบมาจากอานจักรยาน
เอเจนซีส์ - บริษัทแอร์บัสเผยโฉม “ที่นั่งผู้โดยสารสไตล์อานจักรยาน” ที่ได้จดสิทธิบัตรล่าสุด โดยทางบริษัทอ้างว่า ที่นั่งผู้โดยสารดีไซน์ใหม่ชั้นประหยัดนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้ถึง 1 ใน 3 ที่ในปัจจุบันนี้การแข่งขันธุรกิจการเดินอากาศสูง และโลว์คอสแอร์ไลนส์ต่างแข่งหั่นราคากระหน่ำ เช่น แอร์เอเชียของไทยล่าสุดมีโปรโมชัน “ญี่ปุ่นคนเดียวก็เที่ยวได้” ราคาเริ่มต้นที่ 5,555 บาท*ต่อเที่ยวบิน ในทุกที่นั่งชั้นประหยัด รวมภาษีสนามบิน ดังนั้นหากสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้มากขึ้นในแต่ละเที่ยวบินได้ จะทำให้บริษัทสายการบินสามารถทำกำไรได้เพิ่มมากขึ้น
สื่ออังกฤษ ดิอินดีเพนเดนท์รายงานเมื่อวานนี้(15)ว่า หลังจากในเดือนที่ผ่านมาสายการบิน Eihad ได้ออกที่นั่งสุดหรูสำหรับผู้โดยสารที่ประกอบไปด้วย ห้องสวีท 3 ห้องที่มีทั้งเชฟและบัตเลอร์คอยให้บริการบนเครื่องบินแอร์บัส A380 เส้นทางบินลอนดอน-อาบูดาบี และล่าสุดในเดือนกรกฎคมนี้ ทางบริษัทแอร์บัสได้จดสิทธิบัตร “ที่นั่งผู้โดยสารสไตล์อานจักรยาน” การันตีความยากลำบากตลอดเส้นทางการบิน
“ที่นั่งผู้โดยสารสไตล์อานรถจักรยาน” ถูกจดสิทธิบัตรโดยแอร์บัส ซึ่งมีที่มาความคิดจากอานรถจักยานที่สามารถทำให้ห้องผู้โดสารบนเครื่องบินสามารถเพิ่มจำนวนที่นั่งได้มากกว่า 50 ที่นั่งต่อเที่ยว ในขณะที่หากเป็นเครื่องบินของสายการบินไรอันแอร์ โลว์คอสแอร์ไลน์ที่มีชื่อเสียงเลวร้ายในการให้บริการ อาจจะสามารถเพิ่มผู้โดยสารต่อเที่ยวได้อีกราว 10 คน
ใบแจ้งขอจดสิทธิบัตรที่นั่งผู้โดยสารใหม่ของแอร์บัสนี้ เบอร์นาร์ด เกริง (Bernard Guering ) ผู้ต้นคิดอ้างว่า ดีไซน์ใหม่ได้ลดความเทอะทะลง จากรูปแผนผังประกอบชี้ให้เห็นว่า ที่นั่งแบบอานจักรยานที่พับขึ้นได้จะติดกับฐานยึดลักษณะคล้ายท่อ และในแต่ละที่นั่งจะมีสายรัดเข็มขัดขนาดเล็ก พร้อมกับที่วางแขนสำหรับผู้โดยสารแต่ละท่าน
และแอร์บัสได้ระบุว่า ที่นั่งแบบใหม่นี้จะช่วยทำให้บริษัทสายการบินต่างๆสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวได้ถึง 1 ใน 3ทีเดียว อาทิ ในเครื่องบิน A319 ถือเป็นเครื่องบินหลักของสายการบินทุนต่ำอีซีเจท สามารถอัดผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 52 คน จากทั้งหมด 156 คนที่รับได้อยู่ในขณะนี้
ในใบแจ้งขอจดสิทธิบัตร แอร์บัสได้ระบุว่า “ที่นั่งประเภทนี้ลดความสะดวกสบายลง แต่ยังสามารถทำให้ผู้โดยสารอดทนจนถึงปลายทางในในเส้นทางการบินระยะสั้น” ที่เกริงต้นคิดที่นั่งผู้โดยสารชั้นประหยัดคนนี้สารภาพว่า ไอเดียนี้มีคอนเซปต์ว่า ทำอย่างไรจึงสามารถทำให้ที่นั่งผู้โดยสารชั้นประหยัดกินเนื้อที่ให้น้อยที่สุด พร้อมกับตัดสิ่งฟุ่มเฟือยอำนวยความสะดวกออกไปให้มากที่สุด
ไรอันแอร์ สายการบินโลว์คอสในยุโรปที่มีชื่อกระฉ่อนในการทดสอบในการทรมานผู้โดยสารด้วยไอเดียแปลกใหม่อยู่เสมอ มีแนวคิดที่จะเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารอีกราว 10 ที่บนเครื่องบินโบอิ้ง 737
นอกจากนี้ทางโบอิ้ง ผู้ผลิตมีแผนที่จะปรับปรุง “737 MAX” ในรุ่นเดียวกันแต่ต่างแบบออกไป ซึ่งยังเป็นรุ่นที่มีความยาวเท่ากับเครื่องบินโบอิ้งของสายการบินไอริช แอร์ไลน์ แต่ทางบริษัทโบอิ้งมีแผนที่จะเพิ่มที่นั่งผู้โดยสารจำนวน 200 ที่จากที่นั่งจำกัดเพียง 189 ที่เช่นในปัจจุบัน ด้วยการปรับเปลี่ยนทางออกฉุกเฉิน ห้องน้ำบนเครื่อง และที่เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม หรือ rear galley ใหม่ทั้งหมด
สื่ออังกฤษรายงานว่า ไรอันแอร์มีแผนที่ต้องการให้เครื่องบินสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 199 คน บนเครื่องบินขนาด 200 ที่เพื่อหนีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่ระบุว่า เครื่องบินที่บรรทุกผู้โดยสาร 200 คนต่อเที่ยว บริษัทสายการบินต้องเพิ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องอีก 1 คน โดยก่อนหน้านี้ ไมเคิล โอเลียรี (Michael O'Leary )ผู้บริหารระดับสูงของไรอันแอร์เผยว่า จำนวน 199 ที่นั่งต่อเที่ยวถือเป็น “จุดฟันกำไรสูงสุดที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม” แต่โฆษกสายการบินไรอันแอร์ปฎิเสธที่จะความเห็นในเรื่องนี้ว่า “เราไม่ขออกความเห็นในข่าวลือ หรือการคาดการณ์ใด”
ในต้นเดือนกรกฎาคม เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานว่า ไรอันแอร์ สายการบินโลว์คอสสัญชาติยุโรปมีแผนที่จะถอดที่นั่งออกจากตัวเครื่องบินออกราว 10 แถว เพื่อเพิ่มห้องผู้โดยสารเที่ยวยืนตลอดเส้นทางแทน พร้อมกับเสนอแผนที่จะคิดค่าบริการใช้ห้องน้ำราว 1 ปอนด์ต่อครั้งบนเครื่องบินอีกด้วย โอเลียรีต้องการถอดห้องน้ำ 2ห้องที่ด้านท้ายเครื่องบินออก จึงทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้ห้องน้ำด้านหน้าเครื่องเท่านั้นที่มีเพียงห้องเดียว
ทั้งนี้ไรอันแอร์ได้อธิบายว่า สาเหตุที่ต้องคิดค่าบริการใช้สุขาบนเครื่องเพราะ “ไม่ต้องการให้ผู้โดยสารใช้ห้องน้ำถี่จนเกินไป” โดยในเบื้องต้นทางผู้บริหารสายการบินไรอันแอร์ต้องการทดลองแผนเสนอปรับเปลี่ยนลดค่าใช้จ่ายแต่สามารถเพิ่มกำไรทั้งหมดนี้ในเส้นทางบินลอนดอน-ดับลิน ที่มีระยะการเดินทางราว 1 ชม.ในเบื้องต้น และยังมีแนวคิดต้องการขยายห้องผู้โดยสารเที่ยวยืนไปยังเที่ยวบินที่มีเส้นทางไกลออกไป
แต่ทว่าแผนการเหล่านี้ทั้งหมดของไรอันแอร์ยังไม่สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ใน2ปีข้างหน้านี้หากสายการบินยังไม่สามารถทำให้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของยุโรปได้ หรือ European Aviation Safety Agency (Easa)
หญิงอเมริกันจากนิวยอร์กถึงกับมึนงงเมื่อพบกับต้นแบบที่นั่งผู้โดยสาร "Sky Rider" ที่เปิดเผยสู่สาธารณะในปี 2011
ภาพเปรียบเทียบอย่างคร่าวๆหมัดต่อหมัดของบริการสายการบินโลว์คอสเอเชีย "แอร์เอเชีย" (ซ้ายสุด) และ โลว์คอสยุโรป "ไรอันแอร์" (ขวาสุด)
ที่เช็คกระเป๋า Cabin luggage ของแอร์เอเชีย
ที่นั้งแบบยืนที่ไรอันแอร์อาจนำมาให้บริการหากสามารถผ่านมาตรฐานความปลอดภัยการบินยุโรป