เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก saigaijyouhou.com
รุ้งเต็มดวง ปรากฏในหลายเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น ด้านนักวิทยาศาสตร์เตือน อาจเป็นสัญญาณของแผ่นดินไหว ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ในช่วงเช้ามืด ทำเกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กซัดชายฝั่ง
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2557 ได้มีรายงานเกิดปรากฏการณ์รุ้งเต็มดวงขึ้นในหลายพื้นที่แถบคันโต ทั้งในกรุงโตเกียว โอซาก้า และโทคุชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรุ้งเต็มดวงนี้ ประชาชนสามารถเห็นด้วยตาเปล่า ผสานกับแสงอาทิตย์ยามเย็นทำให้เกิดภาพที่สวยงามเป็นอย่างมาก
ทว่า ยังมีความกังวลว่า รุ้งเต็มดวงนี้อาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ประเทศญี่ปุ่นจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ก็เป็นได้
โดย นักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น ได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์รุ้งเต็มดวงว่า รุ้งเต็มดวงนี้เกิดจากการปล่อยก๊าซและพลังงานไฟฟ้าเข้ากัน ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะอากาศที่ผิดปกติ อันเป็นการส่งสัญญาณว่า ในอีกไม่ช้า ประเทศญี่ปุ่นอาจจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์รุ้งเต็มดวงในญี่ปุ่น ถูกนำไปเปรียบเทียบเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมืองเสฉวน ประเทศจีน ซึ่งก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวในจีนตอนนั้น ก็มีปรากฏการณ์เมฆสีรุ้ง รุ้งเต็มดวงด้วยเช่นกัน
ขณะที่ในช่วงเช้าวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 สำนักข่าวเจแปน ทูเดย์ ของญี่ปุ่น รายงานว่า ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของญี่ปุ่นซึ่งใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เมื่อเวลา 04.22 น. ตามเวลาท้องถิ่น จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว ลึกลงไปใต้ทะเลราว 10 กิโลเมตร
ทั้งนี้ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 50 นาที ก็ได้เกิดคลื่นสึนามิ ขนาดเล็ก ราว 20 เซนติเมตร ซัดเข้าชายฝั่ง จ. อิชิโนมากิ อายูกาวะ และมีคลื่นขนาดเล็กซัดเข้าอีก 2 จุด ตามแนวชายฝั่ง แต่ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นระบุว่า แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว อาจก่อให้เกิดสึนามิระดับท้องถิ่นสูงสุดประมาณ 1 เมตร ตามแนวชายฝั่งแปซิฟิกของจังหวัดฟูกูชิมะ จังหวัดอิวาเตะ และจังหวัดมิยางิ ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะไดอิจิ และสองโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อื่น ๆไม่ได้รับผลกระทบการแรงสั่นสะเทือนและเครื่องปฏิกรณ์ยังคงปิกติ แต่ทางโรงไฟฟ้าโตเกียว จำกัด ซึ่งดำเนินการโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิ ได้สั่งให้คนงานโรงงานอพยพไปอยู่บริเวณที่สูงแล้ว
หมายเหตุ : ขนาดของแผ่นดินไหวถูกกำหนดให้ใช้หน่วยวัด เป็นค่าแมกนิจูด ปัจจุบันนิยมวัดด้วย 2 มาตรา คือ "แมกนิจูดมาตราริกเตอร์" และ "แมกนิจูดมาตราโมเมนท์" ดังนั้น จึงใช้คำว่า "แมกนิจูด" ในการระบุขนาดแผ่นดินไหวในการรายงานข่าว เว้นแต่นักธรณีฯ ระบุว่า ตัวเลขความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เปิดเผยออกมานั้นวัดตาม "ตามมาตราริกเตอร์" จึงจะใช้คำว่า "แมกนิจูดมาตราริกเตอร์"