ฟีโล ที. ฟาร์นสเวิร์ธ (Philo T. Fransworth) ผู้คิดประดิษฐ์โทรทัศน์เครื่องแรก

ฟีโล ที. ฟาร์นสเวิร์ธ (Philo T. Fransworth) ผู้คิดประดิษฐ์โทรทัศน์เครื่องแรก


ฟีโล ที. ฟาร์นสเวิร์ธ (Philo T. Fransworth) ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้คิดค้นโทรทัศน์เครื่องแรกของโลกสำเร็จ เขามีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค. ศ. 1906 ถึง ค. ศ. 1971

เขาเกิด ณ เมืองไอดาโฮ และฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก ฟาร์นสเวิร์ธ เป็นนักเรียนหนุ่มช่างคิด เพ้อฝัน และมีจินตนาการ เขาสร้างแบบจำลองโทรทัศน์เป็นครั้งแรกของโลกบนกระดานให้ครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้ดู ความเป็นนักประดิษฐ์ของเขาก้าวหน้าพัฒนาพร้อมกับอายุที่เพิ่มขึ้น

ผู้มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งคือ เอลมา การ์ดเนอร์ ฟาร์นสเวิร์ธ ผู้ซึ่งเป็นภรรยาของเขา เอลมาและฟีโลแต่งงานและอยู่กินร่วมกันมานับแต่ปี ค. ศ. 1926 เธอเป็นผู้ผลักดัน ช่วยเหลือให้กำลังใจ และเป็นผู้ร่วมคิดค้น "โทรทัศน์เครื่องแรก" ของโลก
ทั้งสองคนทำงานต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ และประดิษฐ์คิดค้นผลงานร่วมกันในห้องทดลองที่เขตฟอร์ต เวย์น นครซานฟรานซิสโกสหรัฐอเมริกา กระทั่งในวันที่ 7 กันยายน ค. ศ. 1927 เมื่อฟีโลมีอายุเพียง 21 ปี เขาสามารถส่งสัญญาณในรูปลายเส้นของเส้นหลาย ๆ เส้นจากเครื่องส่งในห้องหนึ่งไปสู่เครื่องรับในห้องถัดไปได้สำเร็จเป็นครั้งแรก...หลังจากที่ใช้เวลาคิดค้นจนประดิษฐ์โทรทัศน์สำเร็จยาวนานร่วม 7 ปีเต็ม

โทรทัศน์เครื่องแรกถือกำเนิดจากแนวคิด ดังนี้...
ฟิโลคิดถึงเรื่องการส่งสัญญาณภาพเป็นเส้นไปยังเครื่องรับเมื่อเขามีอายุ 14 ปี สมัยเป็นนักเรียนมัธยมที่ต้องขี่ม้าไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนที่ใกล้สุด ห่างจากไร่และบ้านของเขาประมาณ 7 กิโลเมตร ความคิดเรื่องโทรทัศน์เกิดขึ้นตอนที่เขากำลังไถร่องดินในไร่ที่บ้าน เขาไถร่องจนเป็นแนวยาวเพื่อใช้ปลูกมันฝรั่ง ขณะนั้นจึงเกิดความคิดวาบขึ้นในสมองว่า เขาสามารถใช้เส้นแนวนอนแบบเดียวกับการไถร่อง เพื่อนำไปสร้างภาพบนหลอดเครื่องรับได้

เขาผนวกแนวคิดดังกล่าวเข้ากับแนวคิดในการสร้างหลอดส่งสัญญาณนับตั้งแต่เรียนอยู่มัธยม โดยได้บันทึกแนวคิดนี้ให้กับครูเคมีที่ชื่อ จัสติน โทลล์แมน (Justin Tollman) ฟีโลยกย่องคุณครูจัสตินว่าเป็นไอดอล (Idol) ของเขาซึ่งให้ทั้งแรงบันดาลใจและความรู้ที่จำเป็นจนการคิดค้นของเขาประสบความสำเร็จ

19 ตุลาคม ค. ศ. 1929 เป็นวันที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกไว้...เพราะเป็นวันแรกที่ฟีโล ฟาร์นสเวิร์ธ ส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปสู่เครื่องรับได้สำเร็จ โดยภาพนั้นเป็นภาพของเอลมากับคลิฟ การ์ดเนอร์ ผู้เป็นน้องชายของเธอ 

ดังนั้นเอลมาจึงเป็นทั้งผู้ร่วมคิดค้นโทรทัศน์เครื่องแรกแถมยังเป็น "ผู้หญิงคนแรกที่ปรากฏตัวในจอโทรทัศน์" ด้วย แต่ชีวิตไม่ "ง่าย" อย่างที่คิดเสมอไป เพราะ...สิทธิบัตรผู้คิดค้นโทรทัศน์เกือบจะหลุดไปอยู่ในมือคนอื่น เพราะบริษัทเรดิโอคอร์ปอเรชันแห่งอเมริกา อ้างว่าโทรทัศน์ดังกล่าว คิดค้นโดย วลาดิเมียร์ ซออรีกิน ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกวิศวกรรมโทรทัศน์ของบริษัทฯ
การต่อสู้ดำเนินไปในศาลอย่างดุเดือด ในที่สุด ผู้พิพากษาก็พบหลักฐานสำคัญ คือภาพร่างแบบจำลองโทรทัศน์ในชั้นเรียน ศาลจึงมีคำพิพากษาตัดสินให้ฟีโลเป็นเจ้าของสิทธิบัตรอย่างถูกต้องตามกฏหมายในที่สุด และบริษัทฯดังกล่าวต้องจำใจซื้อสิทธิบัตรของฟีโลด้วยราคาแพงลิบลิ่ว ทำนอง "เกลียดตัวกินไข่" นั่นเอง...

โทรทัศน์ของฟีโลอาศัยหลักการสร้างลวดลายของแสงซึ่งประกอบขึ้นจากสัญญาณไฟฟ้าโดยใช้กล้องโทรทัศน์ถ่ายทอดภาพ เปลี่ยนภาพที่ถ่ายให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วจึงแพร่สัญญาณไปกับคลื่นวิทยุด้วยความเร็วของแสง...

ส่วนสีที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์นั้น เกิดจากการผสมแสงสีต่าง ๆ ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยแม่สีสำหรับโทรทัศน์มี 3 สีคือ แดง เขียว และฟ้า เมื่อนำแสงสีหนึ่งหรือสองสีมาผสมกับแสงสีขาวในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน ก็สามารถทำให้แสงสีเฉดต่าง ๆ ปรากฏเกิดขึ้นได้ทุกสี...
เมื่อมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ให้สื่อมวลชนดูเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 กรกฎาคม ค. ศ. 1936 สงครามระหว่างโทรทัศน์กับวิทยุก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยเกิดความเห็นแตกต่างเป็น 2 ฝัก 2 ฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเชื่อในอนาคตของโทรทัศน์ และเชื่อว่าวิทยุจะถูกลดความสำคัญและความนิยมลงไป ขณะอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า...โทรทัศน์คือวัตถุที่ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ต่อมนุษย์มากนัก
ในปี ค. ศ. 1940 ละครเรื่อง "Streets of New York" ได้รับการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์เป็นครั้งแรกของโลก แต่คนทั่วไปยังสนใจวิทยุมากกว่า
แต่ในปีเดียวกันนั่นเอง งานเวิร์ลด์แฟร์ถูกจัดขึ้น ณ มหานครนิวยอร์ค งานนี้มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย โทรทัศน์ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมนั้น สาธารณชนแตกตื่นกันยกใหญ่ในครั้งนั้น เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เคยเห็นโทรทัศน์ด้วยตาตนเอง
จากนั้นมาโทรทัศน์ได้รับการพัฒนาขึ้นจากนักประดิษฐ์หลายท่านจนเติบโตและก้าวหน้าเรื่อย ๆ ...ผู้คนหันเหมาสนใจโทรทัศน์อย่างบ้าคลั่ง โดยเฉพาะคนอเมริกา

แต่...ฟาร์นสเวิร์ธถูกโลกลืม ไม่มีใครให้ความสนใจเขา เขาเสียชีวิตลงในปี ค. ศ. 1970 ด้วยวัยเพียง 64 ปี โดยเกิดอาการตรอมใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต เขาพร่ำบอกลูกหลานและคนรู้จักว่าไม่ให้กล่าวถึง "โทรทัศน์" ต่อหน้าเขาอีกต่อไป
ฟาร์นสเวิร์ธเคยพูดกับเคนต์ ผู้เป็นบุตรชายคนเดียวของเขาว่า...
"ไม่มีอะไรมีคุณค่าเลยในโทรทัศน์ เราต้องไม่เอามันเข้าบ้าน และฉันไม่ต้องการให้มันเข้ามาอยู่ในหัวสมองของแกด้วย...โทรทัศน์เสมือนปีศาจร้ายที่ฉันสร้างขึ้นมาให้ชาวโลก ทำให้ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป เราต้องเสียเวลามหาศาลของชีวิตไปกับมัน..."

 

ที่มา: http://guru.sanook.com/8618/ฟีโล-ที.-ฟาร์นสเวิร์ธ-&/
4 มิ.ย. 57 เวลา 10:14 2,325 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...