เจ้าของที่คืนดินทองกรมศิลปากรเป็นรายแรก

เจ้าของที่คืนดินทองกรมศิลปากรเป็นรายแรก

เจ้าของ ที่ดินยอมคืนทองแผ่นหนัก 2 บาท ให้กรมศิลปากร เป็นรายแรก เตรียมส่งพิสูจน์หายุคสมัย คาด 7 วันรู้ผล วอนผู้มีในครอบครองส่งคืน ภายใน 15 วัน ขู่เกินเวลาที่กำหนดใช้กฎหมายโบราณสถานเอาผิด โทษคุก7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสน

วันจันทร์ 2 มิถุนายน 2557 เวลา 17:07 น.

วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ที่ว่าการอำเภอเขาชัยสน จ.พัทลุง นายอนันต์ ชูโชติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รักษาการรองอธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนายธาราพงษ์ ศรีสุชาติ ผอ.สำนักโบราณคดี นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต รมว.วธ. ร่วมประชุมกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อ.เขาชัยสน รวมกว่า 100 คน ร่วมชี้แจงถึงกรณีการขุดพบทองคำโบราณในพื้นที่อ.เขาชัยสน เพื่อให้กำนันผู้ใหญ่เป็นตัวกลางทำความเข้าใจ และไม่ให้ชาวบ้านขุดทองคำในพื้นที่ดังกล่าวอีก นอกจากนี้ยังขอให้ผู้ที่ครอบครองนำทองคำที่ขุดพบมาส่งคืนให้กรมศิลปากรเพื่อ นำไปศึกษา และรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ถึงที่มาของทองคำดังกล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการชี้แจงแล้วเสร็จ คณะผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และคณะกรมศิลปากร ได้เดินทางไปยังบ้านของนายวินัย  ทับแสง เจ้าของที่ดินที่ขุดพบทองคำโบราณ โดยใช้เวลาพูดคุยนานกว่า 30 นาที ในที่สุดนายวิ ก็ยอมมอบแผ่นทองคำโบราณน้ำหนักประมาณ 2 บาท ในสภาพสมบูรณ์แบบ ส่งคืนให้กรมศิลปากรนำไปศึกษาและประเมินค่า

นายวินัย กล่าวว่า ในส่วนของ จ.พัทลุง จะช่วยรณรงค์ให้ชาวบ้านที่ขุดพบทองแล้วนำไปครอบครองไว้นำกลับมาส่งคืนให้กรม ศิลปากร ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่นายวิ เจ้าของที่ดินได้ส่งคืนเป็นคนแรก หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรที่จะต้องไปศึกษา และหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ต่อไป

นาย อนันต์ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมอบหมายให้สำนักศิลปากรที่ 14นครศรีธรรมราช จัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอต่อนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อสั่งการให้นักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์นำไปตรวจสอบข้อมูลและราย ละเอียดของแผ่นทอง ซึ่งคาดว่า ภายใน 7 วันน่าจะมีคำตอบ และได้รับความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนที่จะตรงตามคำสันนิษฐานว่าเป็นทองคำที่นำไปหุ้มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จ.นครศรีธรรมราช หรือไม่นั้น คงต้องมีการเก็บข้อมูลหลายๆ ด้านก่อน รวมทั้งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นทองในยุคสมัยใด ทั้งนี้อยากขอร้องให้ประชาชนที่นำทองไปครอบครองให้รีบนำทองกลับมาคืน ซึ่งในเบื้องต้น กำหนดระยะเวลาไว้ภายใน 15 วัน ประชาชนที่ครอบครองทองคำจะต้องนำทองมาส่งมอบคืน หลังจากส่งมอบคืนแล้ว กรมศิลปากรจะมีการประเมินค่าราคาทอง และจ่ายค่าตอบแทน 1 ใน 3 ของมูลค่าทั้งหมด

นายอนันต์ กล่าวต่อไปว่า หากเกิน 15 วันไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. เป็นต้นไป ยังไม่นำมาคืนก็จะมีการประสานไปยังจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ของ พ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากนำมาคืนและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกรมศิลปากร ก็ถือว่าไม่มีความผิด ที่สำคัญยังเป็นการส่งคืนข้อมูลทางประวัติศาสตร์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้ สำหรับการส่งคืนนั้น ชาวบ้านสามารถส่งคืนผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช สำหรับการขุดค้นในพื้นที่นั้น ขณะนี้ กรมศิลปากรได้จัดทำผังการขุดค้นในเบื้องต้นแล้ว หลังจากนี้จะมีการสูบน้ำออกจากพื้นที่เพื่อเปิดหน้าดินและขุดค้นตามหลัก วิชาการ ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นเวลาดำเนินการประมาณ 2-3 เดือน เพื่อเก็บข้อมูล โดยขนาดความลึกของการขุดค้นประมาณ 3-5 เมตร ซึ่งการขุดค้นจะเป็นการขุดตามหลักวิชาการ อาจจะมีการพบโบราณวัตถุเพิ่มเติมอีกก็เป็นได้ 

 

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/Content/education/242066/เจ้าของที่คืนดินทองกรมศิลปากรเป็นรายแรก
2 มิ.ย. 57 เวลา 17:43 1,461 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...