ถ่ายภาพจุดเดียวกัน แต่ได้ภาพที่แตกต่างกัน

       ​
       
       สำหรับนักถ่ายดาวหลายๆคนแล้ว ช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นอีกช่วงหนึ่งของการออกไปล่าดาวบนท้องฟ้า เพราะถ้าหากคืนไหนที่ฝนไม่ตก ท้องฟ้าไม่มีเมฆแล้วล่ะก็ ฟ้าจะใสเคลียร์มากๆ ถึงมากที่สุด เพราะพวกฝุ่นควันในช่วงฤดูฝนนี้แทบจะไม่มีกันเลยทีเดียว
       สำหรับคอมลัมน์นี้ ผมขออนุญาตแชร์ประสบการณ์การถ่ายภาพ ณ จังหวัดน่าน เพราะเมื่อช่วงอาทิตย์ก่อนผมได้มีโอกาสเดินทางไปจัดโครงการค่ายดาราศาสตร์ ณ ตัวอำเภอเมือง จังหวัดน่าน และก็เป็นช่วงที่กำลังประกาศรัฐประหาร และความโชคดีของผมอย่างหนึ่งก็คือ โรงแรมที่ผมพักติดกับวัดพระธาตุเขาน้อย ซึ่งเป็นวัดที่หากใครที่ไปเที่ยวที่จังหวัดน่านก็ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เราต้องไปถ่ายภาพเช็คอินกัน
       
       ​ประเด็นสำคัญของคอลัมน์นี้ คือเมื่อเราต้องถ่ายภาพในสถานที่ ที่จำกัดหรือไม่อาจจะย้ายสถานที่ในการถ่ายภาพได้ แล้วเราก็อยากจะได้ภาพถ่ายหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงประกาศรัฐประหาร ทำให้ผมไม่อาจจะขับรถไปถ่ายภาพยังสถานที่อื่นๆได้ และด้วยข้อจำกัดของสถานที่ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผมคิดว่า จริงๆแล้ว ณ สถานที่หนึ่งๆ เราก็น่าจะถ่ายภาพออกมาได้หลากหลายรูปแบบโดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องย้ายกล้องไปถ่ายที่นู้น ที่นี่ให้เสียเวลา และสิ่งสำคัญก็คือ “การวางแผน”
       ​โดยในการถ่ายภาพทุกครั้งสิ่งที่นักถ่ายภาพควรวางแผนไว้ก่อนเสมอคือ ในคืนนั้นๆ เราจะถ่ายอะไรได้ แล้วถ่ายด้วยอุปกรณ์อะไรบ้าง และจะใช้ทั้งเทคนิคและวิธีการอย่างไรในการถ่ายภาพ ในช่วงเวลานั้นๆ
       
       ส่วนตัวผมคิดว่าในการจะเลือกมุมถ่ายภาพสักมุมหนึ่ง ณ ตำแหน่งนั้น เราจะสามารถเห็นอะไรได้บ้าง และดวงดาวมีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน มีปัญหาแสงไปมารบกวนหรือไม่ และจะสามารถถ่ายภาพ ณ จุดนั้นได้นานเท่าไหร่ แน่นอนฟังดูอาจเยอะ แต่การที่คิดเผื่อไว้เยอะๆ จะทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาและพลาดโอกาสในการที่จะต้องเปลี่ยนมุม หรือเปลี่ยนตำแหน่งของจุดถ่ายภาพไป
       
       จากภาพถ่ายข้างต้น ผมเลือกที่จะถ่ายภาพโดยเลือกในทิศทาง ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ในช่วงเวลาเดือนพฤษภาคม นี้เราจะสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกโผล่จากขอบฟ้าทางทิศนี้ และทิศดังกล่าวยังสามารถเห็นการเคลื่อนที่ของดวงดาวที่หมุนวนใกล้ๆกับ ขั้วใต้ของท้องฟ้าได้อีกด้วย และบริเวณนี้ยังสามารถมองเห็นท้องฟ้าได้กว้างตั้งแต่ทิศเหนือจนถึงทิศใต้ ซึ่งเป็นมุมที่กว้างกว่า 180 องศา ดังนั้น จากตำแหน่งนี้ผมสามารถถ่ายภาพได้ถึง 3 รูปแบบ ดังนี้
       
       ​1. ในช่วงค่ำก่อนที่แนวใจกลางทางช้างเผือกจะโผล่จากขอบฟ้าให้เห็นชัดเจน เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปโดยปล่าวประโยชน์ ผมเลือกที่จะถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Startrails) เพื่อให้ได้ภาพที่เห็นแนวการเคลื่อนที่ของดาวที่หมุนวนรอบขั้วใต้ของท้องฟ้า (สามารถอ่านรายละเอียดการถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Startrails) ได้ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000109427)
  ภาพถ่ายเส้นแสงดาว ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยประมวลผลภาพด้วยโปรแกรม StarStax 0.60 (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/ 2.8 / ISO : 2000 / Exposure : 30 sec x 80 Images)        ​2. หลังจากถ่ายภาพเส้นแสงดาว จนตำแหน่งของใจกลางทางช้างเผือกอยู่ในมุมที่สูงจากขอบฟ้าเกินกว่า 30 องศาแล้ว ผมเปลี่ยนมาถ่ายภาพทางช้างเผือก โดยการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั้น การปรับตั้งค่ากล้องสำหรับการถ่ายภาพก็จะต่างจากการถ่ายภาพเส้นแสงดาวอยู่บ้าง ซึ่งสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรลืมคือ การเปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction และ High ISO Speed Noise Reduction เพื่อให้กล้องช่วยลดสัญญาณรบกวนของภาพ (สามารถอ่านรายละเอียดการถ่ายภาพทางช้างเผือก ได้ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000018948)
  ภาพถ่ายแนวทางช้างเผือก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/ 2.8 / ISO : 2000 / Exposure : 30 sec)        3. จากจุดตั้งกล้องเดิม ผมสามารถมองเห็นท้องฟ้าได้กว้างกว่า 180 องศา และสามารถมองเห็นแนวทางช้างเผือกพาดจากทิศเหนือไปทิศใต้ จึงสามารถถ่ายภาพสุดท้ายได้อีก ในรูปแบบของทางช้างเผือกแบบพาโนรามา ได้อีกด้วย (สามารถอ่านรายละเอียดการถ่ายภาพางช้างเผือกแบบพาโนรามาได้ตามลิงค์ http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=956000013733)
  ภาพถ่ายแนวทางช้างเผือก แบบพาโนรามา จำนวน 11 ภาพ ตั้งแต่ทางทิศเหนือไปจนถึงทิศใต้ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF 16-35 mm. / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/ 2.8 / ISO : 2000 / Exposure : 30 sec x 11 Images)        ​จากตัวอย่างการถ่ายภาพทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวมานนั้น เป็นเพียงการยกตัวอย่างการถ่ายภาพในจุดเดียวกันแบบง่าย ที่มีการปรับตั้งค่าการถ่ายภาพไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ก็ทำให้เราได้ภาพที่แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งหากสถานที่มีความกว้างและสามารถมองเห็นท้องฟ้าได้กว้างกว่า 360 องศา เราก็อาจหาเทคนิคและวิธีการต่างๆ มาใช้ในการถ่ายภาพเพื่อให้การถ่ายภาพของเราแต่ละครั้งมีความหลากหลาย และแตกต่าง
       
       ทั้งนี้ในการวางแผนการถ่ายภาพสิ่งสำคัญก็คือ “เวลาและสถานที่” เพราะหากเรารู้เวลาว่าควรจะถ่ายในช่วงเวลาไหน และสถานที่นั้นเป็นอย่างไร ก็จะช่วยให้เราสร้างสรรค์ภาพที่ “แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก” ได้ไม่ยากครับ
         

       เกี่ยวกับผู้เขียน 
       
       ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ 
       
       สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
       
       ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
       
       “คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย” 
       
       อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
       
Credit: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000061274
2 มิ.ย. 57 เวลา 17:33 3,331 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...