ภูมิปัญญาไทยที่คนญี่ปุ่นทึ่ง!

 

 

 

ภูมิปัญญาไทยที่คนญี่ปุ่นทึ่ง!

 

 

ปกติเวลาที่ดิฉันเขียนบทความแต่ละตอน ดิฉันจะคิดเนื้อหาจากเรื่องที่เกิดขึ้นรอบๆตัว เช่น เวลาคุยกับเพื่อนหรือเม้าท์มอยกับคนญี่ปุ่นที่เพิ่งเจอกัน แต่บทความตอนนี้ ดิฉันนึกขึ้นได้แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นึกได้ตอนลงบันไดเลื่อนหลังจากทานที่ร้านสมบูรณ์โภชนาและทำธุระในห้องน้ำเสร็จเรียบร้อย (ทำไมต้องบอกละเอียดขนาดนั้น...) 

อาจเป็นเพราะดิฉันเพิ่งคุยกับนักธุรกิจญี่ปุ่นคนหนึ่งมั้งคะ เราเพิ่งคุยกันเรื่องสมัยที่ดิฉันอยู่มหาลัย เรื่องชีวิตของดิฉันตอนอยู่ญี่ปุ่น และเรื่องที่เขาชื่นชอบคนไทยและเมืองไทยแค่ไหน สมองส่วนซีลีบรัมโมเมนตัมแลคโตสไนโตรเจน หรืออะไรสักอย่างของดิฉันคงเปิดลิ้นชักความทรงจำอันหนึ่งออกมา กระตุ้นให้ดิฉันย้อนนึกไปถึงความสามารถต่างๆ ของดิฉันที่สร้างความประทับใจให้คนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเห็นดิฉันแสดงพฤติกรรมหรือใช้ภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ พี่แกร้อง “ซุโก้ย” กันทุกที แต่ใช่ว่าดิฉันจะทำได้คนเดียว ภูมิปัญญาต่อไปนี้ คนไทยส่วนใหญ่ก็ทำได้สบายๆ ค่ะ เช่น  

1. แกะมังคุดด้วยมือเปล่า

คนญี่ปุ่นเวลาปอกผลไม้อะไร เขาก็จะใช้มีด ใช้เขียงปอกใส่จานจัดๆ ให้เรียบร้อย แต่พอมาเมืองไทย พวกเขามักจะตกใจเวลาดิฉันซื้อผลไม้เป็นโลๆ พวกมังคุด ลางสาด เงาะอะไรแบบนี้ พอตอนทานข้าว ดิฉันก็เอาถุงผลไม้ที่ซื้อทั้งถุงมาตั้งไว้บนโต๊ะ แล้วก็ใช้มือบิๆ แกะๆ แล้วโยนเข้าปาก

เท่าที่สังเกตดู ผลไม้ที่ดิฉันแกะด้วยมือเปล่าแล้วคนญี่ปุ่นร้องซุโก้ยบ่อยที่สุดคงจะเป็นมังคุดค่ะ สงสัยเป็นเพราะว่าเปลือกมันดูแข็ง น่าจะแกะยาก เวลาคนญี่ปุ่นแกะ เขาก็จะใช้มีดผ่ากลางแล้วแกะเปลือกออก แต่พอดิฉันใช้ฝ่ามืออรหันต์ยูไลบีบมังคุดแล้วเปลือกมันแตกออกอย่างสวยงามทีไร คนญี่ปุ่นก็จะเฮกันทั้งโต๊ะเลย ฮาๆๆ ภูมิใจในตัวเองมากค่ะ   


ในเว็บขายของ Online อย่าง Rakuten ก็มีมังคุดขาย แถมอธิบายวิธีทานไว้ด้วยแต่ดิฉันตะหงิดใจนิดเดียว ตรงที่เขาเขียนหัวข้อว่า “วิธีแกะมังคุด (แบบ Wild (เถื่อน)) ดิฉันก็แกะแบบนี้ มีปัญหาเหรอเพ่! (เริ่มมีอารมณ์เถื่อน)


ขอบคุณภาพจาก : http://item.rakuten.co.jp/ookiniya/mangosteen18/


ตอนเสิร์ชหาวิธีปอกมังคุดเป็นภาษาญี่ปุ่น มีบล๊อกเกอร์คนหนึ่งอัพวิธีแกะแบบนี้ เพิ่งทราบว่ามันมีวิธีแกะอย่างนี้ด้วย อะเมซซิ่ง


2. ลับมีดโดยไม่ใช้หินลับมีด 

ดิฉันคิดว่า คนญี่ปุ่นพึ่งพาอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำอาหารเยอะมากค่ะ เชื่อไหมคะ ทุกบ้านต้องมีที่ชั่งน้ำหนักเล็กๆ มีช้อนตวง หม้อขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ นอกจากนี้ หลายบ้านก็จะมีเครื่องบดเครื่องเทศ มีดปอกส้ม (โดยเฉพาะ) มีดสไลซ์กะหล่ำปลี (โดยเฉพาะ) ที่ทุบเนื้อสเต๊กให้นิ่ม ฯลฯ แต่ก็พอจะเข้าใจนะคะว่า แม่บ้านญี่ปุ่นทำอาหารทุกวัน อุปกรณ์เขาต้องเยอะ 

และสิ่งหนึ่งที่ทุกบ้านต้องมี คือ หินลับมีดค่ะ มีทั้งแบบเป็นแท่งธรรมดา กับแบบเครื่องฝนที่มันจะกลึงๆ ให้เราได้โดยอัตโนมัติเลย จำได้ว่าตอนอยู่ที่โน่น เคยนั่งดูรายการสอนแม่บ้านทำอาหาร (ตูว่างมาก...) เขาสอนวิธีลับมีด เริ่มตั้งแต่การแช่หินลับมีดในน้ำ 30 นาที จากนั้น เอาผ้าขนหนูรองหินลับมีด แล้วก็เอาใบมีดตั้งประมาณ 30 องศา (มั้ง) กับหิน แล้วฝนไปทางเดียวกัน ลงน้ำหนักอย่างไร บลาๆๆ รายละเอียดเยอะมว้ากกกกก

เครื่องลับมีด อันเล็กๆ สะดวกดีนะคะ


มีอยู่ครั้งหนึ่ง คนญี่ปุ่นชมรมรักษ์ไทยขอให้นักเรียนไทยช่วยกันทำอาหารไทยในงานปาร์ตี้ ดิฉันกับเพื่อนๆ คนไทย 5 คนก็ช่วยคนญี่ปุ่นทำยำวุ้นเส้น ผัดกะเพรา แกงเขียวหวาน ไข่เจียวโน่นนี่นั่นกัน ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีดมันไม่คมเลย คนญี่ปุ่นก็เริ่มตกอกตกใจ ทำไงดีๆ วิ่งไปหาเจ้าหน้าที่เพื่อขอยืมหินลับมีด แต่ก็ไม่มี คนญี่ปุ่นที่เหลือก็ถอดใจ แล้วพยายามเอามีดทู่ๆ เหล่านั้นสีๆ เนื้อให้ขาดต่อไป

ขณะที่คนญี่ปุ่นกำลังหมดความหวังอยู่นั้น พี่ผู้ชายคนไทยคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาว่า 

“มีดไม่คมเหรอ โห่ สบายมาก เอาจานมาดิ๊” 

แล้วฮีก็เอามีดมาลับๆ กับหลังจานอย่างแมนๆ แล้วส่งคืนให้แม่บ้านสาวญี่ปุ่น โมเม้นท์นั้น พี่หล่อมากในสายตาสาวญี่ปุ่นในครัวฮ่ะ ทุกคนร้องสุโก้ยอย่างไม่หยุดยั้ง “สุโก้ยยยย เพิ่งรู้ว่าใช้หลังจานลับมีดได้นะคะเนี่ย” เสียงเซ็งแซ่มาก จริงๆ...อันนี้ไม่ได้โม้ 

เป็นไงล้า เจอภูมิปัญญาไทยเข้าไป ...

3. มัดหนังยางถุงกับข้าว 

ภูมิปัญญานี้คนญี่ปุ่นให้ความสนใจสูงมากค่ะ เวลาเขามาเที่ยวเมืองไทย เขาอะเมซซิ่งมากที่คนไทยอย่างพวกเราสามารถใส่อาหารและเครื่องดื่มทุกอย่างลงไปในถุงได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแกงร้อนๆ เครื่องดื่มเย็นๆ น้ำส้มสายชู พริกน้ำปลา 

เขาไม่เข้าใจว่า หนังยางเส้นเดียวจะรัดให้น้ำแกงไม่หกออกมาได้อย่างไร เพื่อนๆ ทราบไหมคะ ในบรรดาขั้นตอนการมัดหนังยางถุงกับข้าว คนญี่ปุ่นจะประทับใจมากตอนที่แม่ค้าปั่นถุงค่ะ คือ หมุนๆๆๆ หนังยางด้วยความเร็วสูง ก่อนจะรัดรอบสุดท้าย คนญี่ปุ่นทั้งหญิงชายเด็กแก่จะมองว่า มันเป็นกระบวนการที่เร็วเหนือแสง! มันเท่มาก! กว่าจะรู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น แม่ค้าก็เอาถุงกับข้าวใส่ถุงพลาสติกแล้วยื่นให้พวกเขาแล้ว 



ลูกศิษย์คนญี่ปุ่นของดิฉัน ถึงกับขอให้ดิฉันช่วยสอนวิธีมัดถุงพลาสติกแบบไทยให้หน่อย...ขอในคลาสสอนภาษาไทย วันนั้นแทนที่ดิฉันจะสอนอักษรสูง กลาง ต่ำ เลยต้องมานั่งสอนการปั่นถุงแทน คนญี่ปุ่นเขาไม่เข้าใจตั้งแต่ขั้นที่ต้องทำให้ถุงมันป่องๆ แล้ว เขาบอกว่ามันเปลืองที่ ทำเพื่ออะไร .... อืม...นั่นสิ ให้มันดูสวยๆ แล้วก็ไม่ให้ของข้างในถูกกระทบกระเทือนมาก....มั้งคะ ใครทราบเหตุผลที่แท้จริงช่วยบอกดิฉันด้วยนะคะ 

4. พูดชื่อกรุงเทพมหานครแบบเต็มๆ ได้ 

เวลาที่คุณไม่รู้จะแสดงความพิเศษอะไรต่อหน้าคนญี่ปุ่น รำไทยไม่ได้ เตะมวยไทยก็ไม่เป็น นี่คือสิ่งที่เพื่อนๆ น่าจะทำได้โดยไม่ต้องลงแรงฝึกซ้อมค่ะ นั่นคือ การโชว์การท่องชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครค่ะ เพื่อนๆทราบไหมคะว่า ประเทศไทยมีเมืองหลวงที่ชื่อยาวที่สุดในโลก

อีกทั้งถ้าเขียนหรือออกเสียงเป็นภาษาญี่ปุ่น มันจะยิ่งยาวมาก เพราะคำที่มีตัวสะกด ญี่ปุ่นจะต้องเพิ่มพยางเข้าไปให้ออกเสียงเป็นแม่ก.กาหมดเลย เช่น “สัก-กะ-ทัตโตะ-ติ-ยะ-วิ-สะ-นุ-คำ-หมุ-ปุระ-ฉิต-โตะ” 


กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ 
มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน 
อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์


クルンテープマハナコーンアモーンラッタナコーシン
マヒンタラアユッタヤー・マハーディロッカポップ・ノッパラッタナラーチャタニーブリーロム・ウドンラーチャニウチェットマハーサターン
アモーンラピーンアワターンサティット
サッカタットティヤウィサヌカムプラシット


เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นจะยาวประมาณนี้ค่ะ ใครเรียนคาตากานะอยู่
ชื่อกรุงเทพฯจะเป็นแบบฝึกหัดอ่านที่ดีเลยค่ะ


จำได้ว่า ดิฉันเคยได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในโกเบ พอก้าวเข้าไปห้องเรียน ก็ต้องตกใจกับภาพตรงหน้า เด็กๆ กับคุณครูปริ๊นท์ชื่อเมืองหลวงกรุงเทพฯเต็มๆ มีประมาณ 20 แผ่น เขาเอามาแปะแล้วยืนถือต่อๆ กันเป็นครึ่งวงกลม เป็นการต้อนรับวิทยากรคนไทยอย่างดิฉัน กรี๊ดมาก น่ารักมาก 

พอบรรยายจบ ดิฉันก็ถามว่ามีอะไรจะถามไหม มีเด็กผู้ชายคนหนึ่ง คิ้วหนาๆ ตาโตๆ น่ารักมาก ยกมือแล้วบอกว่า 

“อยากให้เซ็นเซ (คุณครู) ช่วยอ่านชื่อเมืองหลวงเต็มๆแบบสำเนียงไทยหน่อยได้ไหมครับ ผมอยากฟัง” 

ดิฉันก็เลยท่องให้ฟัง เด็กๆ ปรบมือกันสนั่นห้องค่า คุณครูประจำชั้นอดไม่ได้ ยกมือถามว่า คุณเกตุวดีจำได้อย่างไรคะ ดิฉันบอกว่า ต้องขอบคุณอัสนี-วสันต์ ... คือ มีเพลงช่วยจำ เอาชื่อเมืองหลวงมาทำเป็นเพลง ก็เลยจำได้ 

ดิฉันคิดว่า ประเทศญี่ปุ่นล้ำหน้ามากในการพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์ จนถึงสินค้าและเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาตอบสนองความต้องการมนุษย์และแก้ปัญหาที่พวกเราเผชิญ แต่บางครั้ง มันก็มีวิธีที่ง่ายและถูกกว่าการพึ่งพาสิ่งที่คนประดิษฐ์นะคะ และนั่น...เป็นทักษะกับภูมิปัญญาที่คนไทยอย่างพวกเรามีค่ะ 

 

เรื่องโดย : เกตุวดี www.marumura.com

Credit: http://www.marumura.com/home/
20 พ.ค. 57 เวลา 15:15 3,273 60
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...