"การแต่งงานบาบ๋า"หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ภูเก็ต

 

 

 

 

 

'บาบ๋า' หมายถึง กลุ่มลูกครึ่งจีน-มลายู-ไทย มีการผสมผสานวัฒนธรรม 3 เชื้อชาติเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้น

หากย้อนไปเมื่อ 150 ปีที่แล้ว หรือราวรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จังหวัดภูเก็ต กำลังรุ่งเรืองจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก เด็กหนุ่มชาวจีนมลายูอพยพเข้ามาทำงานและพบรักแต่งงานกับเด็กสาวไทย สืบทอดลูกหลานหลายชั่วอายุคนจวบถึงปัจจุบัน และเรียกตนเองว่า "บาบ๋า" หรือ "เพอรานากัน" แปลว่า “เกิดที่นี่”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราณี สกุลพิพัฒน์ กงสุลกิตติมศักดิ์ ประเทศเนปาล ประจำจังหวัดภูเก็ต ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิชุมชนภูเก็ต เล่าให้ทีมข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ ฟังว่า "บาบ๋า" หรือ "เพอรานากัน" ในภาษามลายู หมายถึงกลุ่มลูกครึ่งจีน-มลายู-ไทย มีการผสมผสานวัฒนธรรม 3 เชื้อชาติเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้น ยึดธรรมเนียมประเพณีจีนและไทย การแต่งตัวได้รับอิทธิพลจาก 4 ชนชาติ ได้แก่ ไทยภูเก็ต, จีน, มาเลเซีย และสิงคโปร์ ภาษาที่ใช้คือ ภาษาไทยภูเก็ต ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ

พื้นเพคนภูเก็ตไม่ใช่คนร่ำรวย แต่มีลักษณะนิสัยขยันทำงาน อาชีพหลักคือการขุดเหมืองแร่ดีบุก เมื่อได้แร่จะนำไปแลกเป็นเงินและนำมาซื้อเครื่องประดับทองเก็บไว้ ชาวบาบ๋าให้ความสำคัญกับการเกิด งานแต่งงาน และการตาย โดยจะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เพื่อประกาศให้คนทั้งเมืองได้รับรู้

"การแต่งงานบาบ๋า" เรียกอีกอย่างว่า การแต่งงานนายเหมือง หมายถึง แต่งงานแล้วรวย โดยพิธีการแต่งงานจะถูกจัดขึ้นอย่างงดงามแต่เรียบง่าย มีการยกน้ำชา หรือ ผ่างเต๋ แบบวัฒนธรรมจีน แต่ยึดช่วงเวลาการแต่งงานแบบคนไทย คือจัดงานในช่วงเดือน 3, 6, 8 และเดือน 12 เด็กสาวเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่นหรืออายุ 14-15 ปี จะได้รับการสู่ขอผ่านแม่สื่อหรือ "อึ่มหลาง" เมื่อผู้ใหญ่สองฝ่ายตกลงใจ พวกเขาจะเลือกวันที่ดีสำหรับจัดงาน โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะเตรียมสินสอดให้ฝ่ายหญิงอย่างสมฐานะ ส่วนฝ่ายหญิงจะเตรียมขนมสด-ขนมแห้งล่วงหน้า 7 วัน ที่สำคัญที่สุดคือฝ่ายหญิงจะต้องจัดห้องหอที่บ้านฝ่ายชายให้สวยงามที่สุด เพื่อเป็นการแสดงว่าเจ้าสาวคนนี้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแม่บ้านอย่างเพียบพร้อม อาทิ การตัดเย็บผ้าปูที่นอน มุ้ง และพู่ห้อยต่างๆ

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชาวบาบ๋าคือ ชุดแต่งกายของเจ้าบ่าว-เจ้าสาว โดยเจ้าสาวจะสวมเสื้อลูกไม้สีขาวคอตั้งแขนจีบ ทับด้วยเสื้อครุยผ้าป่านรูเปียหรือผ้ามัสลินปักลวดลาย ผ่าหน้าคอชิด เนื่องจากชาวบาบ๋านิยมให้ผู้หญิงแต่งตัวมิดชิด นุ่งผ้าถุงบาเต๊ะแบบไทยมลายู สวมเข็มกลัดเคโรสัง (Kerosang) หรือโกสัง หรือ เข็มกลัดแม่ลูก 3 ชิ้นทับกระดุม สวมปินตั้ง หรือ ทับทรวง สวมต่างหูหางหงส์ตุ้งติ้ง เป็นต่างหู 2 ชิ้นร้อยติดกัน ที่นิ้วจะสวมแหวนบาเยะ หรือ แหวนทรงข้าวหลามตัด และ แหวนพิกุล สวมกำไลข้อมือข้อเท้า เพื่อบ่งบอกฐานะของฝ่ายหญิง เกล้าผมทรงสูง หรือ “ทรงซักอีโบย” ประดับด้วยดอกไม้ไหว ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นมงกุฎดอกไม้ไหวเพื่อความสวยงาม ส่วนเจ้าบ่าวจะสวมชุดนายเหมืองหรือชุดสูทสากลสีขาว ประดับดอกไม้ที่อกเสื้อ ทั้งนี้วัฒนธรรมการใส่สูทมาจากติดต่อค้าขายกับชาวตะวันออก

หากใครสนใจเรียนรู้วัฒนธรรมการแต่งงานบาบ๋า สามารถเข้าชมงานและขบวนแห่ “วิวาห์หวานบาบ๋า สุดปลายฟ้าอันดามัน2557” ได้ในวันที่ 21-22 มิถุนายนนี้ ณ เขตเมืองเก่า เทศบาลนครภูเก็ต

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/Content/Article/238641
Credit: http://board.postjung.com/770375.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...