อึ้ง! ภาพชายแต่งกายคล้ายพระแอบอึ๊บสาว พศ.เร่งหาข้อมูลใช่พระจริงหรือไม่ ขณะเครือข่ายต่อต้านบ่อนทำลายชาติ ศาสนาฯ เตรียมส่งภาพให้กองปราบตรวจ ตัดต่อหรือไม่
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ส่งข้อมูลภาพเกี่ยวกับบุคคลแต่งกายคล้ายพระสงฆ์กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวมาให้ทางเฟซบุ๊กเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ช่วยตรวจสอบว่า บุคคลแต่งกายคล้ายพระสงฆ์นั้น เป็นพระจริงหรือไม่ โดยลักษณะของภาพที่เครือข่ายได้ส่งมานั้น บุคคลที่แต่งกายคล้ายพระ เป็นชายหัวโล้น กำลังขึ้นนั่งคล่อมบนตัวของหญิงสาวที่เปลือยกาย และที่ตัวของชายแต่งกายคล้ายพระสงฆ์นั้น มีผ้าสีเหลืองคล้ายจีวรนุ่งอยู่ที่เอว พร้อมกับกอดจูบหญิงสาวลักษณะเหมือนกำลังมีเพศสัมพันธ์กัน โดยในภาพเองหญิงสาวมีสีหน้าเคลิบเคลิ้มจากการถูกกอดจูบดังกล่าว โดยไม่ได้มีพฤติกรรมที่ขัดขืนแต่อย่างใด ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้หากเป็นพระสงฆ์จริง ถือว่าเป็นมารศาสนา ต้องอาบัติปาราชิก จากการเสพเมถุน พ้นจากการเป็น ภิกษุสงฆ์นับตั้งแต่บัดนั้น
นายสงกานต์ กล่าวต่อไปว่า ตนจะต้องดำเนินการส่งภาพดังกล่าวให้กองปราบปรามตรวจสอบว่า เป็นภาพที่ตัดต่อหรือไม่ บุคคลที่อยู่ในภาพเป็นพระจริงหรือไม่ และสังกัดที่ใด รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแค่ไหน โดยเบื้องต้น ตนจะประสานขอข้อมูลเพิ่มเติมจากเครือข่ายที่ได้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวเข้ามา พร้อมทั้งขอให้ผู้ที่มีเบาะแสเกี่ยวกับภาพดังกล่าว ส่งข้อมูลมาให้ตนได้ที่ ตู้ ปณ. 63 ราษฎร์บูรณะ 10140 ซึ่งตนจะนำข้อมูลทั้งหมดให้กองปราบปรามตรวจสอบ และส่งมอบข้อมูลให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ช่วยดำเนินการตรวจสอบข้อมูลภาพดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว ตนจะเน้นตัวบุคคล และเป็นการป้องปรามการกระทำผิดที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระพุทธศาสนา
ด้านนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ พศ.ได้รับข้อมูลร้องเรียนเรื่องของภาพบุคคลแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ มีลักษณะเหมือนมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวแล้ว และกำลังดำเนินการตรวจสอบว่า เป็นพระสงฆ์จริงหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ข้อมูล เนื่องจากภาพถ่ายไม่สามารถระบุได้ชัดว่า เกิดยังสถานที่ใด ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้ข้อได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบพระสงฆ์ หรือบุคคลแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ขอให้ช่วยกันส่งข้อมูลมายัง พศ. เพื่อ พศ.จะได้แจ้งเจ้าคณะปกครองในการแจ้งเตือนหรือดำเนินการตามพระธรรมวินัยต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีการแชร์ผ่านเฟซบุ๊กหนึ่ง เกี่ยวกับภาพหญิงสาวหอมแก้มพระ โดยมีการเขียนไว้ในเฟซบุ๊กที่เผยแพร่ภาพดังกล่าวว่า ช่วยกันแชร์ บุคคลในภาพเป็นผู้หญิงหอมแก้มพระ ซึ่งผิดต่อหลักพระพุทธศาสนา เราชาวพุทธอยากวิงวอนให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียช่วยตีแผ่ให้สังคมรับรู้เผื่อคดีความจะเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเฟซบุ๊กถึงภาพดังกล่าวในหลายทัศนะว่า เป็นพระจริงหรือไม่ ทำไมคิ้วและผมหนา บางรายระบุว่า เขาอาจจะไม่ใช่พระจริงอย่าตกเป็นเหยื่อเขาอยากดัง ซึ่งในความเห็นหนึ่งระบุว่า พระรูปนี้บวชจริงจัดงานใหญ่ด้วยผู้หญิงที่หอมแก้มพระเคยเป็นเพื่อนในเฟซกับเรา เขายังถ่ายรูปตอนงานบวชมาให้ดูเลยพระรูปนี้ ยังไม่สึกอยู่ต่างจังหวัดแถวภาคอีสานด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ มีการนำภาพและคลิปพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระสงฆ์ทั้งการลงมือเผยแพร่ด้วยตนเองหรือจากประชาชนที่พบเห็น มาเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น.
ที่มา : http://www.dailynews.co.th