10 สุดยอดมหาวิทยาลัยที่เจ๋งที่สุดอาเซียน!!!

 กระแสความร่วมมือระดับนานาชาติอย่างประชาคมอาเซียน หรือที่รู้จักกันดีในนามของ AEC ที่กำลังใกล้เข้ามาทุกทีๆ หลายประเทศต่างเตรียมตัวให้พร้อมต้อนรับการเข้าสู่อาเซียน เพื่อให้ทันกระแส AEC ที่นอกจากความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจแล้ว การศึกษาก็มีความสำคัญไม่น้อยต่อการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน หลายคนคงอยากรู้ว่าใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนมีระบบการศึกษาเป็นเช่นไร พัฒนาการและคุณภาพหากเทียบกับมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกแล้วเป็นอย่างไรบ้าง Life on Campus จึงได้รวบรวมสุดยอดมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในแต่ละประเทศ สำหรับใครที่สนใจอยากไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ คุณอาจจะได้รู้ว่ามหาวิทยาลัยในอาเซียนของไทยเองก็ไม่แพ้มหาวิทยาลัยใดๆ ในโลก โดยบางมหาวิทยาลัย Life on Campus ได้มีการอ้างอิงมาจากการจัดอันดับโลกของ QS และ THE เป็นต้น
       
       1. ประเทศสิงค์โปร (Singapore) : ม.แห่งชาติสิงค์โปร ถูกและดียังมีในโลก
       
       หากจะนับมาตรฐานคุณภาพเรื่องการศึกษาที่ดีที่สุดในอาเซียนก็คงจะหนีไม่พ้นประเทศสิงค์โปร ที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำ และนำความภาคภูมิใจมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง “มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร หรือ National University of Singapore (NUS)” ที่สามารถครองอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ติดอยู่ในอันดับโลกที่ไม่ครองที่ 1 ก็ที่ 2 ติดต่อกันมาอย่างยาวนานทั้งจากสำนักจัดอันดับ QS และ Times Higher Education (THE) สำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ เผยโผล่าสุดในปี 2013-2014 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร หรือ NUS ติดอยู่ในอันดับที่ 2 เป็นรองเพียงมหาวิทยาลัยโตเกียวจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนในอันดับโลกนั้น ติดอยู่ในอันดับที่ 26 เรียกได้ว่ามาตรฐานไม่แพ้ชาติใดในโลก
  National University of Singapore        มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปรเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุด ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ.1905 มีระบบการศึกษาที่รับมาจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้ NUS มีการสอนแบ่งเป็น 2 ระบบคือ การสอนในกลุ่มเล็ก (หรือกวดวิชา)และการสอนแบบสะสมหน่วยกิต (แบบเครดิท) แบบประเทศสหรัฐอเมริกา และที่สำคัญค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาต่างชาติต่อปีของมหาวิทยาลัยค่อนข้างถูก ประมาณ 4,000 ดอลล่าร์ต่อปีเท่านั้น (ประมาณ 120,000 บาท) อีกทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องสังคมวัยรุ่นที่มีแหล่งท่องเที่ยวและย่านการค้าที่มีชื่อเสียงเหมาะกับนักเรียนต่างชาติเช่นนักเรียนเอเชียเป็นอย่างมาก จึงทำให้นักเรียนเอเชียแห่ไปศึกษาต่อยังประเทศสิงคโปร์ ด้วยมาตรฐานการศึกษาที่ดีมากติดอันดับโลก แต่มีค่าเล่าเรียนที่ค่อนข้างถูก รวมถึงมีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาต่างชาติอีกมากมาย
       
       2. ประเทศมาเลเซีย (Malaysia) : ม.มาลายา ความภาคภูมิใจของชาติมุสลิม
  Universiti Malaya        มหาวิทยาลัยมาลายา (Universiti Malaya) แห่งประเทศมาเลเซียเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ได้รับอิทธิพลของยุคอาณานิคม ที่ประเทศอังกฤษเข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐานทางการศึกษาให้กับประเทศ จัดตั้งขึ้นโดยประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี 1905 เดิมอยู่ในสิงคโปร์ แล้วย้ายมาตั้งที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ภายหลังจากแยกประเทศหลังทศวรรษ 1940 ซึ่งยังหลงเหลือมรดกความเป็นประเทศอาณานิคมคือการคงชื่อ “Malaya” ไว้ ถือเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยแห่งความภาคภูมิใจของชาวมาเลเซียที่ได้สร้างชื่อเสียงจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย QS World University Rankings ประจำปี ค.ศ. 2012-2013 ในอันดับที่ 156 ของโลก และเป็นหนึ่งในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ที่มีมาตรฐานทางการศึกษาที่ค่อนข้างสูง แต่ค่าเล่าเรียนกลับไม่แพงอย่างที่คิด 
       
       นักศึกษาที่ประเทศมาเลเซียจะมีช่วงอายุที่เข้าสู่การเรียนในระดับอุดมศึกษาที่เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้นักศึกษาที่นี่จบปริญญาตรีกันตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมาลายายังขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นศูนย์เรียนรู้และวิจัยด้านเอเชียแปซิฟิกของภูมิภาค ที่น่าสนใจคือมีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ถึง 7 แห่งด้วยกัน ในบรรดากลุ่มชาติมุสลิมในอาเซียน ต้องถือว่าประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องการศึกษาในแบบของนานาชาติ อีกทั้งยังมีสิ่งแวดล้อมในการเรียนของนักเรียนต่างชาติที่เหมาะสมไม่เป็นสองรองจากใครอีกด้วย 
       
       3. ประเทศไทย (Thailand) : บางมดสุดยอดติดอันดับโลก
  King Mongkut’s University of Technology, Thonburi        หากจะกล่าวถึงมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศไทย ที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศแน่นอนว่าในสายตาของคนไทยคงต้องมีหลายมหาวิทยาลัยที่ติดโผในใจของคนไทยอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัยที่กล่าวมานั้นได้รับการการันตีจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกมาแล้วหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น QS (Quacquarelli Symonds Ltd.) ที่เป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยการตามสาขาวิชา ปี 2014  ซึ่งใน 100 อันดับก็จะมี จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเกษตรศาสตร์ ติดอันดับได้อย่างน่าชื่นชม 
       
       แต่หากจะนับจากเกณฑ์มาตรฐานมหาวิทยาลัยระดับโลกจากสำนักจัดอันดับมหาวิทยาลัยชื่อดังจากประเทศอังกฤษ Times Higher Education มหาวิทยาลัยในไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกที่เป็นเพียงมหาวิทยาลัยเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 400 มหาวิทยาลัยจากทั่วโลกนั่นก็คือ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี King Mongkut’s University of Technology, Thonburi” หรือที่รู้จักในชื่อ "บางมด"  มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของไทยและอันดับสามของอาเซียน ประจำปี 2013-2014 ติดอันดับโลกของ THE ในปีนี้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม 301-350 ของโลก ถือเป็นมหาวิทยาลัยดีเลิศด้านการวิจัย และมีการเรียนการสอนที่ดีเยี่ยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง
       
       4. ประเทศอินโดนีเซีย (Indonesia) : ม.แห่งชาติอินโดนีเซีย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  Universitas Indonesia        ประเทศอินโดนีเซียถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และยังเป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกอีกด้วย ในด้านการศึกษาประเทศอินโดนีเซียแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก คือจะไม่เน้นไปที่ภาษาต่างประเทศมากนัก แต่จะให้ความสำคัญในเชิงของศาสนาอิสลามมากกว่า มหาวิทยาลัยของประเทศอินโดนีเซียจึงมีไม่กี่แห่งที่เป็นที่รู้จักของเพื่อนร่วมอาเซียนด้วยกัน และมหาวิทยาลัยที่เป็นที่สุดของประเทศอินโดนีเซียคือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย (Universitas Indonesia)ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงจาการ์ต้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1849 เป็นมหาวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอินโดนีเซีย หนึ่งในมหาวิทยาลัยภายใต้เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ที่สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาประเทศต่างๆ
  Universitas Indonesia        มหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย หรือ UI ถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก เพื่อร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้มหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซียยังได้รับรางวัลสถาบันการศึกษาสีเขียวที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก (UI Green Metric World University Ranking) ประจำปี 2013 อยู่ในอันดับที่ 4 ของเอเชีย และอันดับ 5 เป็นมหาวิทยาลัยมหิดลของประเทศไทยเรานั่นเอง
       
       5. ประเทศฟิลิปปินส์ (Philippines) : ม.แห่งชาติฟิลิปปินส์ ก้าวตามอเมริกา
  The University of the Philippines (U.P.)        ประเทศฟิลิปปินส์จัดเป็นประเทศที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน รวมถึงหลักสูตรการศึกษาที่ทันสมัยได้รับต้นแบบมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศฟิลิปปินส์ที่หลายๆ คนกล่าวถึงในเรื่องมาตรฐานที่ดีที่สุดนั่นคงหนีไม่พ้นมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ หรือ The University of the Philippines (U.P.) ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ และเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1908 อยู่ที่ Quezon City เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรอเมริกา ในขณะที่ระบบการศึกษาของประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียมักจะได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งการศึกษาในรูปแบบอเมริกานี้มีส่วนช่วยให้เกิดการตื่นตัวทางสังคม และเกิดปัญญาชนในประเทศฟิลิปปินส์ 
       
       นอกจากนี้ประเทศฟิลิปปินส์ใช้การเรียนการสอนแบบทวิภาษา บางวิชาจะสอนเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนวิชาอื่นๆ จะสอนเป็นภาษาฟิลิปปินส์ แม้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศฟิลิปปินส์จะเกิดปัญหาในด้านการเมืองมาตลอด ทำให้ยังไม่สามารถพัฒนาเรื่องการศึกษาได้ดีเท่าที่ควร แต่ด้วยพื้นฐานในด้านการศึกษาที่วางรากฐานมาได้เป็นอย่างดี รวมถึงเรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีทำให้ชาวฟิลิปปินส์ที่จบการศึกษามายังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานของประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียนเป็นอย่างมาก 
       
       6.ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม (Brunei Darussalam) : บรูไนดารุสซาลาม มหาลัยแห่งความเปิดกว้าง
  University of Brunei Darussalam        เมื่อกล่าวถึงสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ถ้านับจริงๆ มีไม่ถึง 10 แห่ง ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย และหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของประเทศบูรไน ดารุซาลาม ที่นำความภาคภูมิใจมาให้ชาวบรูไน คือ มหาวิทยาลัยแห่งบรูไนดารุสซาลาม (University of Brunei Darussalam) ที่นอกจากจะเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ แล้ว ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศอีกด้วย ตั้งขึ้นในปี 1985 เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ที่พร้อมเปิดรับนักศึกษาจากต่างประเทศโดยเฉพาะในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน ซึ่งในปัจจุบันมีนักศึกษาจากประเทศต่างๆ มากมายเข้าไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งบรูไนดารุสซาลาม รวมไปถึงประเทศจีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ที่นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกด้วย
  University of Brunei Darussalam        มหาวิทยาลัยแห่งบรูไนดารุสซาลาม จัดได้ว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านสังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก ระบบการศึกษาของบรูไนดารุสซาลามมุ่งตอบสนองความต้องการของศตวรรษที่ 21 โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ มีโอกาสเลือกเรียนสาขาวิชาการต่างๆ ในระดับอุดมศึกษา ที่มีเป้าหมายในการสร้างสรรค์สันติภาพและความรุ่งเรืองของชาติ โดยกำหนดให้การศึกษาเป็นหนึ่งใน 8 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศอีกด้วย
       
       7. ประเทศเวียดนาม (Vietnam) : ม.แห่งชาติฮานอย หนึ่งในเวียดนามที่ทุกชาติต้องจับตามอง 
  Vietnam National University, Hanoi        หากจะมองหามหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศเวียดนาม ที่เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำและทันสมัยที่สุดในประเทศมีอยู่ 2 แห่งด้วยกัน นั่นคือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามฮานอย หรือ Vietnam National University, Hanoi (อีกแห่งอยู่ในนครโฮจิมินห์) เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุด ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1945 ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศ มีชื่อเดิมว่า“มหาวิทยาลัยอินโดจีน” (University of Indochina) ซึ่งทั้ง 2 มหาวิทยาลัยแห่งชาตินี้ยังมีความร่วมมือทางวิชาการกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน การส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยน การให้ทุนการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกัน รวมถึงการวิจัยร่วมกันในระดับนานาชาติอีกด้วย
  Vietnam National University, Hanoi        นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญ ด้วยการตั้งโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อเปิดรับนักศึกษาที่มีพรสวรรค์ ซึ่งเป็นเครือข่ายของทางมหาวิทยาลัยเอง มีการเปิดสอนวิชาที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ไว้รองรับนักเรียนแลกเปลี่ยนจากต่างชาติหลายหลักสูตร หากใครสนใจเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ต้องผ่านการคัดกรองจากมาตรฐานในการสอบเข้าของมหาวิทยาลัยโดยตรง อย่างไรก็ตามประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่เน้นเรื่องนโยบายการศึกษาชาติมากที่สุดชาติหนึ่ง จึงเป็นประเทศที่น่าจับตามองในเรื่องการพัฒนาอย่างรวดเร็วในอนาคตข้างหน้า
       
       8. ประเทศพม่า (Myanmar) : ม.ย่างกุ้ง ระบบเมืองผู้ดีอังกฤษ
  University of Yangon        พม่าเป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยึดการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาตามแบบอย่างประเทศอังกฤษ ซึ่งได้วางรากฐานมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของพม่าที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักนั่นก็คือมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง หรือ University of Yangon ถือเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศพม่า ตั้งอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง โดยเริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1878 ในการเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ก็ได้มีการนำระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (University of Oxford) และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) มาใช้ ที่เห็นได้ชัดคือมีระบบบ้านพักHousing ซึ่งบ้านพักนักศึกษา ปัจจุบันเปิดสอนทั้งในระบบปริญญาตรี โท และเอก ครอบคลุมทุกสาขา และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมเครือข่ายอาเซียน 
  University of Yangon        ระบบการศึกษาในประเทศพม่าแม้ว่าจะมีการวางรากฐานการศึกษาไว้ได้ดีเพียงใด แต่คุณภาพของการศึกษาก็เริ่มทรุดลงนับตั้งแต่คณะปกครองทหารผลัดกันเข้ากุมอำนาจปกครองประเทศ และทางรัฐบาลพม่าเองกำลังวางแผนยกระดับมหาวิทยาลัยบางแห่งให้มีศักยภาพสูง เพื่อให้ได้มาตรฐานสามารถติดอันดับต้นๆ มหาวิทยาลัยในย่านเอเชียให้เร็วที่สุด หลังจากที่ปิดประเทศมาเป็นเวลานาน ซึ่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งความหวังของประเทศพม่านั้นก็คือ มหาวิทยาลัยย่างกุ้งนั่นเอง 
       
       9. ประเทศลาว (Laos) : ม.แห่งชาติลาว หนึ่งเดียวแห่งความภาคภูมิใจ
  National University of Laos        มาถึงประเทศบ้านพี่เมืองน้องของไทยเราอย่าง ประเทศลาวก็มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับหนึ่ง และดีที่สุดในประเทศเช่นกัน คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว หรือ National University of Laos (NUOL) ตั้งอยู่ที่กรุงเวียงจันทน์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเพียงแห่งเดียวของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเป็นหนึ่งในเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน โดยให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยจากประเทศต่างๆ มากมาย อย่างประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์, เกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และขอนแก่น ไปจนถึงความร่วมมือกับนานาประเทศอย่างมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น อีกด้วย
  National University of Laos        ระบบการศึกษาในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กับประเทศไทย เปิดสอนอยู่ สองหลักสูตร คือ ประกาศณียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส) และระดับปริญญาตรี ส่วนปริญญาโท ส่วนปริญญาเอก ยังไม่เปิดสอนในประเทศลาว
       
       10. ประเทศกัมพูชา (Cambodia) : ม.ภูมินทร์พนมเปญ ศักดิ์ศรีระดับชาติ
  Royal University of Phnom Penh        มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุด และมีคุณภาพในด้านวิชาการและงานวิจัยระดับประเทศของประเทศกัมพูชา ได้แก่มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ (Royal University of Phnom Penh) เดิมมีชื่อว่ามหาวิทยาลัยภูมินทร์เขมร ตั้งอยู่ที่กรุงพนมเปญ นอกจากนั้นยังเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุด โดยเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1960 ความสำคัญของมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญเทียบเท่ากับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติกัมพูชาก็ว่าได้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกัมพูชาเป็นอย่างดี และมีกระทรวงศึกษาธิการเยาวชนและการกีฬากัมพูชา (Ministry of Education Youth and Sports) เป็นผู้ควบคุมดูแลและสนับสนุนอย่างใกล้ชิด และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่สำคัญของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน
       
        สาขาวิชาส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ จะเปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษและมีหลายหลักสูตรจัดสอนในภาษาฝรั่งเศส มีหลักสูตรระดับปริญญาที่ครอบคลุมในสาขาต่างๆ อย่างครบถ้วน นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรวิชาชีพ และหลักสูตรทางภาษาต่างประเทศที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
       
       ขอบคุณภาพประกอบจาก :
       http://eduvietglobal.vn/
       johnib.wordpress.com
       photobucket.com
       admission.kmutt.ac.th 
       http://frenzyofnoise.net/
       indo1-http://international.ui.ac.id/
       http://static.panoramio.com/
       http://upload.wikimedia.org/
       http://www.laophotos.com/
       http://blog.eduzones.com/
       http://static.panoramio.com/
       www.universitiesnews.com 
       www.vietnambreakingnews.com 
       http://cebudailynews.inquirer.net/
       vianysandhi.tumblr.com
       http://international.ui.ac.id/
       
Credit: http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9570000053338
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...