22 จังหวัดตายได้ใน 10 ชั่วโมง ระวังเห็ดพิษ สธ. เตือนภัยผู้นิยมเปิบเห็ดป่า เผยปีนี้พบผู้ป่วย แล้ว 91 ราย ใน 22 จังหวัด ยังไม่มีผู้เสียชีวิต “พังงา” เจอเยอะสุด 23 ราย คาดจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าตัวในช่วงฤดูฝนนี้ ระบุ “เห็ดระโงกหิน” พิษรุนแรงสุด ทำลายแทบทุกระบบของร่างกาย ตายได้ใน 4-10 ชั่วโมง พร้อม แนะวิธีการช่วยเหลือเร่งด่วนช่วงวิกฤติ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตก ซึ่งหลังจากฝนตกจะมีเห็ดขึ้นตามธรรมชาติ มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ และเห็ดพิษหรือเห็ดเมา มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่รับประทานได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเก็บมารับประทานจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
ในรอบ 4 เดือนของปีนี้ ตั้งแต่มกราคม–เมษายน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษทั่วประเทศ 91 ราย ยังไม่มีเสียชีวิต มีรายงานผู้ป่วยจากกินเห็ดพิษใน 22 จังหวัด มากอันดับ 1 ได้แก่ พังงา 23 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 20 ราย ขอนแก่น 5 ราย ศรีสะเกษ 4 รายและคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นกว่านี้ 4-5 เท่าตัวในช่วงฤดูฝนปีนี้ จึงได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเร่งให้ความรู้ประชาชน
ทั้งนี้ ในปี 2555 มีผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ 2,120 ราย เสียชีวิต 25 ราย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,381 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 543 ราย ขณะที่ในปี 2556 มีรายงานผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษ 1,381 ราย เสียชีวิต 3 ราย
สำหรับ อาการของผู้กินเห็ดพิษ จะต่างกันไปตามชนิดของเห็ด ส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริว อาจเกิดขึ้นหลังกินไม่กี่นาที หลายชั่วโมง หรือหลายวัน ในรายที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตได้ภายใน 1-8 วัน จากการที่ตับถูกทำลาย
ดังนั้น วิธีการช่วยเหลือที่สำคัญคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด โดยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอออก เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านทันที พร้อมนำเห็ดที่รับประทานไปด้วย
“ผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษส่วนใหญ่ เกิดจากความมั่นใจว่าเป็นเห็ดไม่มีพิษ เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดกินได้ โดยเฉพาะขณะเห็ดยังดอกตูม วิธีสังเกตเห็ดที่ควรหลีกเลี่ยงไม่เก็บมากินคือ เห็ดที่มีสีน้ำตาล เห็ดที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูป ๆ แทนที่จะเป็นช่อง ๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ ที่สำคัญคือไม่ควรเก็บหรือซื้อหาเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารกินเพื่อความปลอดภัย” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า การเก็บเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติให้เก็บเห็ดที่มีรูปร่างสมบูรณ์ เก็บให้ครบทุกส่วนโดยขุดให้ลึก อย่าเก็บเห็ดหลังพายุใหม่ เพราะสีบนหมวกของเห็ดบางชนิดอาจถูกฝนชะล้างให้จางลงได้ ไม่เก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟ หรือข้างถนน เนื่องจากเห็ดสามารถดูดซับสารพิษและโลหะหนักไว้ในตัวได้มาก เห็ดที่ไม่เคยกินมาก่อนควรกินเพียงเล็กน้อยเพราะอาจมีอาการแพ้ได้ และห้ามกินเห็ดดิบ ๆ โดยเด็ดขาด
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุดคือ เห็ดระโงกหินหรือเห็ดไข่ตายซากจะมีสารพิษ 2 ชนิดคือ อะมาท็อกซินส์ และฟาโลท็อกซินส์ ทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง สารพิษในเห็ดจะทนความร้อนได้ดี ดังนั้นถึงแม้เห็ดจะสุกแล้ว แต่ความเป็นพิษก็ยังมีสูง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0-2590-3183 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422