เมื่อ 1000 ปีก่อน โลกอยู่ในช่วงอบอุ่นมากช่วงหนึ่ง ทำให้น้ำแข็งจำนวนมากละลายออกจากขั้วโลก แม้แต่เกาะกรีนแลนด์แดนน้ำแข็งทุกวันนี้ ในขณะนั้นก็กลายเป็นเขตอบอุ่นจนชาวไวกิ้งเข้าไปตั้งรกรากทำการเกษตรปลูกพืชเมืองร้อนได้ เราเรียกช่วงเวลาที่โลกร้อนในช่วงนี้ว่าช่วง Medieval Warm Period ผลจากการละลายของน้ำแข็งในช่วงนี้ ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูง และนั่นคือเหตุผลของการที่หลายจังหวัดในภาคกลางตอนล่างของไทย (ขณะนั้นยังไม่มีเมืองไทยปรากฏขึ้นบนโลก) จมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล
ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ แบบที่ 1
ช่วงที่โลกร้อนในสมัย Medieval Warm Period ตรงกับสมัยทวารวดี นั่นคือก่อนจะมีการก่อตั้งกรุงสุโขทัยนั่นเอง ทะเลอ่าวไทยยุคนั้นมีขอบเขตกว้างขวางกว่าปัจจุบันมาก ดังนี้
ทิศเหนือ ทะเลสูงขึ้นไปถึงบริเวณ จ.ลพบุรี หรือเหนือขึ้นไปอีก
ทิศตะวันตก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ อ.เมือง และ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ต่ำลงมาที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี และต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
ทิศตะวันออก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ จ.สระบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี และเว้าไปถึง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ แบบที่ 2
และแม่น้ำสายสำคัญๆที่เรารู้จักก็มีขนาดสั้นกว่าปัจจุบันมาก ปากแม่น้ำหลายสายจะมีตำแหน่งไหลลงทะเลสั้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โดย
ปากน้ำเจ้าพระยา อยู่บริเวณ จ.นครสวรรค์-ชัยนาท
ปากน้ำแม่กลอง อยู่ทาง จ.นครปฐม (แม่น้ำท่าจีนยังไม่มี)
ปากน้ำบางปะกง อยู่ทาง จ.นครนายก-ปราจีนบุรี
ปากน้ำป่าสัก อยู่ทาง จ.ลพบุรี เป็นต้น
ต่อมาโลกเริ่มเย็นลงจนเข้าสู่ช่วงยุคน้ำแข็งย่อย หรือ Little Ice Age น้ำทะเลเริ่มจับตัวเป็นน้ำแข็งตามขั้วโลก กรีนแลนด์หมดสภาพอบอุ่นและกลายเป็นเกาะน้ำแข็ง ชาวไวกิ้งทิ้งถิ่นฐานออกมา ระดับน้ำทะเลทั่งโลกเริ่มลดลงประกอบกับการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายร้อยปี ทำให้จังหวัดต่างๆในภาคกลางตอนล่างปัจจุบัน เริ่มโผล่ขึ้นเหนือระดับน้ำทะเล ตรงกับยุคกรุงสุโขทัยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรไทย (สมัยราชวงศ์ซ้องของจีน)
ต่อมาหลัง พ.ศ.1600 มีบ้านเมืองและรัฐรุ่นใหม่เติบโตขึ้นโดยรอบอ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น รัฐอโยธยาศรีรามเทพ (ที่ต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งตั้งอยู่ตอนบนของอ่าวไทยเหนือกรุงเทพฯขึ้นไป และทางน้ำกว้างใหญ่ผ่านบริเวณกรุงเทพฯ (ที่ต่อไปอีกนานมากจะได้ชื่อว่าเจ้าพระยา) ไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้า (Oxbow Lake) นับเป็นแม่น้ำเก่าแก่ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ
มีคนพื้นเมืองตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนอยู่ที่ดอนชายเลนบ้างแล้ว เช่น พวกพูดภาษาตระกูลมาเลย์-จาม กับชวา-มลายู จนถึงตระกูลมอญ-เขมร กับลาว-ไทย
ในปัจจุบัน โลกกลับเข้าสู่ช่วงอบอุ่นอีกครั้ง และความร้อนพุ่งทะยานเร็วขึ้นจากสภาพเรือนกระจกที่เกิดจากแก๊สต่างๆเช่นมีเทน ไอน้ำ คาร์บอนในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งจากขั้วโลกและธารน้ำแข็งหรือหิ้งน้ำแข็ง รวมทั้งยอดเขาน้ำแข็งต่างๆอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอัตรา 3.2 ± 0.4 มิลลิเมตร/ปี
จากสภาพการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลในลักษณะนี้ จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่วัฏจักรเดิมจะกลับมาอีกครั้ง นั่นคือการกลับลงสู่ใต้ทะเลของหลายเมืองริมชายฝั่งทั่วโลก รวมทั้งภาคกลางตอนล่างของไทย เช่นที่บ้านขุนสมุทรจีน สมุทรปราการ ซึ่งจมลงทะเลไปแล้วทั้งหมู่บ้านโดยมีการใช้คำว่าาการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อเรียกภัยพิบัติชนิดนี้ โดยเฉลี่ยแล้วอัตราการกัดเซาะรุนแรงในอ่าวไทย คือเฉลี่ยมากกว่า 5.0 เมตรต่อปี (ถือเป็นพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน) เกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งระยะทางรวม 180.9 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 ของแนวชายฝั่ง ทั้งนี้ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงที่สุด โดยบางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 25 เมตรต่อปี
เครดิต ภัยพิบัติดอทคอม