พูดคุยอย่างไรให้คนชอบ

ผมเคยพบคนมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ หลายๆ คน บางคนเป็นคนมีเสน่ห์คุยแล้วชอบ บางคนพอเริ่มคุยก็อยากเดินหนีห่างออกมา ไม่ชวนให้อยากคุยด้วยเลย

การพูดคุยให้เป็นนี้ เป็นทักษะที่ควรหัดให้มีเอาไว้เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพและมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ทำให้ได้มิตรภาพมากขึ้นซึ่งนำไปสู่การงานและสังคมที่ดีต่อไป

ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำที่เลือกอาไปใช้ได้ครับ

1. สร้างความมั่นใจให้ตนเองก่อน โดยเฉพาะบางคนไม่ค่อยมั่นใจตัวเอง คิดว่ามีปมด้อย ทำให้ไม่กล้าพูด แลดูแหยหรืออาย วิธีสร้างความมั่นใจตัวเองดีที่สุดก็คือ ให้คิดว่าตนเองเป็นคน "เก่งมาก" "ดีมาก" เช่นเดียวกันตามสภาพของเขาซึ่งทุกคนไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากันและไม่ต้องเปรียบเทียบกัน เราจะชอบตัวเองและชอบคนอื่นๆ ด้วย

ถ้ามองข้ามข้อบกพร่องของตัวเองหรือของคนอื่นได้ ก็ให้มองข้ามเสีย ช่วยไม่ได้ในเวลานั้นอย่าคิดแก้ไขข้อบกพร่องตอนนั้น ใครๆ ก็มีข้อบกพร่องได้ เป็นความปกติ

2. สร้างภาษากายที่บวก (+) ซึ่งคนจะชอบเป็นลักษณะบุคลิกภาพแบบเปิดตัวเปิดเผย เช่น ยิ้มแย้ม พร้อมจะพยักหน้า สบตา พร้อมจะกล่าวคำพูดบางอย่างที่แสดงถึงความสนใจและเป็นมิตร เช่น ดีจัง โอ้โห ใช่แล้ว ไม่ยืนกอด อก เอามือล้วงกระเป๋า หรือส่ายหน้า ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกภาพแบบ "ปิดตัว"

ถ้ามีสิ่งที่เราไม่ชอบในระหว่างคุย ก็ยิ้มๆ ไม่ต้องขัดคอ เพราะเป็นเรื่องของทัศนคติที่ไม่เหมือนกัน ไม่ต้องไปถือเป็นเรื่องจริงจัง ต้องเอาชนะหรือตัดสินว่า ถูก-ผิด

3. ถ้าอยากแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน ก็ให้รอจังหวะที่เขาพูดจบก่อน แล้วกล่าวว่า ที่อีกฝ่ายพูดก็น่าสนใจดี แต่อยากเสนอแนวคิดอีกทางหนึ่งโดยใช้ภาษาพูดธรรมดาและมีสีหน้า ยิ้มๆ ไม่ต้องแสดงสีหน้าคำพูด ที่เอาจริงเอาจังหรืออยากเอาชนะ จะกลายเป็นการสร้างศัตรูไปเปล่าๆ

4. การเริ่มต้นคุยกับคนใหม่ๆ หรือคนแปลกหน้า ให้คุยเรื่องเบาๆ ที่ทุกคนสามารถร่วมคุยได้ ให้เริ่มจากสิ่งที่มองเห็นในขณะนั้น เช่น ดิน ฟ้า อากาศ การตกแต่งสถานที่ บรรยากาศในขณะนั้น เรื่องอาหาร การท่องเที่ยว สุขภาพ กีฬา เป็นการเปิดฉากการสนทนา เพื่อจะได้รู้ว่าเขาชอบคุยเกี่ยวกับเรื่องอะไร แล้วจึงสานต่อถ้าเขาไม่อยากคุยด้วยเพราะเหตุใดก็ตามจงถอยห่างออกมา และอย่าถือสาเขาเลยเขาอาจมีปัญหาส่วนตัวของเขาก็ได้

5. ให้ความสำคัญต่อคู่สนทนา ใครๆ ก็ชอบเป็นคนสำคัญ จงหาโอกาสชมเชยเขาบ้าง ถ้าไม่รู้จักตัวตนของเขาลึกซึ้ง ก็ให้ชมของใช้ของเขาที่แลดูดีก็ได้ เช่น เขาซื้อของชิ้นนี้จากที่ไหน แลดูดีมาก แต่อย่าให้เกินความจริงจนรู้สึกเป็นการป้อยอ ถ้านั่งโต๊ะรับประทานอาหารด้วยกัน ควรแสดงความเอื้อเฟื้อโดยหยิบขวดเกลือ พริกไทย น้ำตาล นม ส่งให้คนข้างเคียงตามความเหมาะสมด้วย

6. อย่าพูดเรื่องปมด้อยของเขาเด็ดขาด แม้จะมองเห็นและเป็นความจริงก็ห้ามพูด เช่น ความอ้วน ดำ ฟันยื่น เตี้ย ฯลฯ และอย่านำปมด้อยของตนเองมาเล่าด้วยเพราะเขาจะไม่ชอบเรา ทั้งสองกรณี แม้ปากจะบอกว่าไม่ถือก็ตาม

7. อย่าถามเรื่องส่วนตัวที่ลึกซึ้ง เช่น พอรู้ว่าเขาเลิกกับคู่สมรส ก็ถามเขาด้วยความอยากรู้ ต้องลดความอยากรู้ อยากเห็นเหล่านี้

8. กระจายความสนใจและการพูดคุยไปสู่คนอื่นบ้าง ไม่ใช่ตั้งหลักคุยกับใครสักคนที่ชอบ หรือเห็นว่าเขาเป็นคนสำคัญในงานเพียงคนเดียว ทำให้ขาดโอกาสรู้จักคนอื่นๆ คนที่ถูกผูกขาดอาจจะอึดอัดก็ได้ ถ้ามีคนรู้จักกันเข้ามาร่วมวงสนทนา อย่าลืมแนะนำให้เขารู้จักกับคนที่เราคุยอยู่แล้วด้วย

9. ให้โอกาสคู่สนทนาพูดคุยถึงตัวเขาเองด้วย โดยเราไม่ต้องแย่งพูดคุยถึงตัวเราเอง ถ้าเบื่อคู่สนทนาที่ชอบพูดถึงตนเองและครอบครัวของเขานานไป ก็หาทางเปลี่ยนเรื่องคุย หรือเลี่ยงไปที่อื่น

10. อย่าชมตัวเอง อย่าวิจารณ์ตัวเองอย่าผูกขาดการพูดอยู่คนเดียว

11. ควรมีอารมณ์ขันระหว่างคุย แต่อย่าให้ลามก หรือโหดร้าย ไม่นินทาคนอื่น ไม่วิจารณ์เหตุการณ์หรือคนอื่นด้วยท่าทีก้าวร้าว เผ็ดมัน ถ้ามีใครนินทาหรือวิจารณ์คนอื่นให้ฟัง ก็ไม่ควรผสมโรงด้วยทำหน้ายิ้มๆ และเฉยเสีย แล้วควรเปลี่ยนเรื่องคุยในโอกาสต่อไป

12. เป็นผู้ฟังที่ดี อย่างสร้างศัตรู

13. สร้างความรู้สึกดีๆ จากกันด้วยคำขอบคุณที่ได้ความรู้บางอย่างจากเขา หรือพูดว่าคงมีโอกาสดีๆ ได้พูดคุยกับเขาอีก

ปากมีไว้พูดคุย เพื่อสร้างมิตร สร้างความสุข และสมองมีไว้คิด เพื่อเวลาพูดคุยกับคนอื่น เพื่อสร้างมิตรและสร้างสรรค์ครับ 


โดย ศ.นพ. วิทยา นาควัชระ นิตยสารบันทึกคุณแม่
ที่มาhttp://www.elib-online.com/

#นานา #สาระ #น่ารู้
wansopa
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
22 เม.ย. 53 เวลา 19:18 2,029 7 56
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...