ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กสมัยนี้จะวิ่งเข้าหาเทคโนโลยีกันมากขึ้น!! ด้วยความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีไร้พรมแดน ที่รายล้อมอยู่รอบตัวเด็กจึงยากแก่การปฏิเสธ ทั้งโทรศัพท์มือถือที่กลายเป็นห้องแชตเคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต ช่องทางส่งผ่านของคลิปแอบถ่ายอีกทั้งโทรศัพท์มือถือที่ก้าวหน้าไปถึง 3 จีแล้ว..
เทคโนโลยี เพื่อการสื่อสารเหล่านี้ นำพาให้เด็ก ๆและเยาวชนจำนวนไม่น้อยก้มหน้าก้มตา กด ๆ จิ้ม ๆจนให้ความสนใจและความสำคัญกับคนรอบข้าง สิ่งที่อยู่รอบตัวลดน้อยถอยลงหรือเพิกเฉยและละเลยหน้าที่ที่พึงปฏิบัติไป ชนิดที่เรียกว่าเด็กเองก็ไม่รู้ตัว!?
อ. อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติในฐานะหัวหน้าโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและ เยาวชนรายจังหวัดหรือโครงการ ไชลด์ วอทช์กล่าว ถึงวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีของเด็กและเยาวชนให้ฟังว่าปัจจุบันมีการเปลี่ยน แปลงไปมาก จากการสำรวจมีแนวโน้มการใช้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
สื่อโทรทัศน์จากการสำรวจ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ โดยครองตลาด ครองใจเด็ก ๆ มาตลอดเด็ก ๆ ยังคงเป็นแฟนคลับอย่างเหนียวแน่น เนื่องจากผู้ผลิตโทรทัศน์มีการปรับมุกเพิ่มฉาก เพิ่มความน่าสนใจเข้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งละครไทยมีฉากตบตีให้ดูอย่างน้อย 3 ครั้งต่อชั่วโมง โดยเด็กจะดูโทรทัศน์อยู่ที่ประมาณ 160-170 นาที ต่อวัน หรือวันละ 2-3 ชั่วโมง
ในขณะเดียวกัน ก็มีพื้นที่สื่ออื่น ๆ เข้ามาครองชีวิตเด็กไทยเพิ่มขึ้นมาอีก 3 ทางด้วยกันคือ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ สำหรับ โทรศัพท์มือถือจะมีแนวโน้มของการใช้ขึ้น ๆ ลง ๆ โดยในช่วงแรก ๆเด็กจะใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ที่ประมาณ 60-70 นาทีต่อวันมีบางช่วงที่เพิ่มขึ้นไปจนถึง 100 นาที แล้วก็ลงมาใหม่จนล่าสุดกลับมาอยู่ที่เกือบ90 นาทีต่อวัน หรือประมาณชั่วโมงครึ่ง
" ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นเพราะว่า มีเทคโนโลยีอื่นเข้ามาแทรกในช่วงเวลานั้นอย่างอินเทอร์เน็ต โดยเด็กจะหันมาใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น แต่มาระยะหลังโทรศัพท์มือถือสามารถทำได้ทุกอย่าง ราคาก็ไม่สูง และสามารถถ่ายรูปได้ ถ่ายคลิปได้ เข้าเน็ตแชตได้ ก็ทำให้เด็กกลับมาใช้โทรศัพท์มือถือแทนอินเทอร์เน็ต"
การใช้อินเทอร์เน็ตจะแปรผกผันกับโทรศัพท์มือถือคือ ถ้าช่วงนั้นฮิตใช้โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตจะถูกใช้น้อยลง แต่ถ้าช่วงนั้นนิยมเล่นอินเทอร์เน็ตกัน โทรศัพท์มือถือก็จะถูกใช้น้อยลง ปัจจุบันการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กอยู่ที่ประมาณ 130 นาทีต่อวันหรือประมาณ 2 ชั่วโมงเศษหากรวมการใช้ทั้ง 3 ทางของเด็กจะเป็นเวลา 6 ชั่วโมงที่เด็กจะหมดเวลาไปกับสื่อเทคโนโลยี หรือมองได้ว่า ครึ่งชีวิตยามตื่นของเด็ก ๆ หมดไปกับสิ่งเหล่านี้
"การที่สื่อเข้ามาครองพื้นที่ในชีวิตเด็กเข้าใจได้ว่าคือ เป็นความตื่นตาตื่นใจ ไม่อยากเชย ซึ่งจริง ๆ แล้ว ถ้าเด็กรู้จักใช้เทคโนโลยีจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ ฉลาดขึ้นเพราะมีเว็บดี ๆ ให้อ่าน มีเกมดี ๆ ให้เล่น แต่ในขณะเดียวกัน มีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือเด็กติดเกมเพราะบางครั้งเกมดึงเด็กออกไปจากการ เรียน โดยมีรายงานจากกศน.ว่า มีเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ที่ออกมาจากระบบโรงเรียนปกติ อยู่ประมาณ 150,000 คนเฉลี่ยจังหวัดละประมาณเกือบ 2,000 คน ไม่ยอมไปโรงเรียนสาเหตุหนึ่งมาจากติดเกม จึงต้องมาเรียน กศน. แทน
อีกสื่อหนึ่งที่มาแรงในช่วงนี้ คือ คลิปลามกจากการติดตามสำรวจสื่อลามกที่เด็กเข้าไปใช้ พบว่า เด็กร้อยละ 30 จะเข้าไปดูคลิปพวกนี้เป็นครั้งคราวถึงเป็นประจำ อาจจะไม่ติดมากแต่ก็ดูเป็นระยะ ๆ ส่วนสื่อประเภทอื่น ๆ อย่าง วีซีดี หนัง หรือเว็บโป๊ ก็ยังมีอยู่ที่ร้อยละ 20-25 เนื่องมาจากหาดูง่าย ยิ่งโทรศัพท์มือถือสมัยนี้สามารถเปิดดูคลิปเหล่านี้ได้ จึงกลายเป็นว่า มีพื้นที่อบายมุขอยู่ในสื่อซึ่งเด็กเข้าถึง การปราบปรามก็ทำได้ยาก
เมื่อพูดถึงสื่อเทคโนโลยีถ้าไม่มีการระวังที่ดีไปตั้งหลักว่า สื่อเป็นจำเลย เทคโนโลยีเป็นจำเลย ก็ไม่ถูกเสียทีเดียวเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายสังคม โดยถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการเรียนรู้ในการใช้ชีวิต ในการทำงานแต่มนุษย์ต่างหากที่ใช้สิ่งเหล่านี้ไปในทางเสื่อมโดยไม่มีการควบคุมที่ดี
ตรงนี้จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเพื่อให้เด็กรู้จักใช้ชีวิต รู้เท่าทันสื่อ ซึ่งมี 3 ทางด้วยกัน ทางแรก คือ ครอบครัวจะต้องสอนให้เด็กรู้จักคิด รู้จักรับผิดชอบตัวเองตั้งแต่เล็ก ๆ ที่น่าห่วงคงเป็นในรายที่พ่อแม่ประคบประหงมลูกเกินไป ชี้ซ้าย ชี้ขวา ชี้หน้า ชี้หลัง ให้ลูกทำตาม ทำให้เด็กคิดอะไรไม่เป็นพอไปเจอปัจจัยสิ่งเร้าเข้ามาแปลก ๆ ก็ตั้งตัวไม่ทันเพราะเด็กไม่เคยถูกฝึกให้คิด ให้ทำอะไรด้วยตนเอง อย่างนี้ก็ทำให้เด็กอยู่ในสังคมลำบาก
" ในยุคสมัยนี้ เมื่อลูกต้องเผชิญอยู่ในโลกที่กร้านกว่าเดิม สิ่งที่จำเป็นคือต้องพูดคุยกับลูกมาก ๆ เอาความจริงของสังคมมาพูดอาทิ เรื่องเพศศึกษา ต้องหาเวลาคุยกับเด็ก อย่าไปปิดบังปิดกั้น ต้องคุยกับเด็กตรง ๆให้เขารู้ว่าอะไรเป็นอย่างไรให้รู้จักคิด ที่สำคัญคือ ให้เด็กรู้จักรับผิดชอบตัวเองเพราะเด็กที่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง รู้จักรับผิดชอบคนอื่นจะทำอะไรเขาจะคิด รู้จักใช้เหตุผล ถูกคือถูก แต่เมื่อผิดก็คือผิด รู้จักยอมรับ ซึ่งจะต่างจากเด็กที่ไม่เคยรับผิดชอบใคร มีพ่อแม่จัดให้หมดเด็กกลุ่มนี้จะไม่มีเหตุผลคิดอะไรไม่เป็น จึงไม่สามารถยับยั้งตัวเองได้ ไม่มีเบรกในตัว เมื่อต้องหยุดก็ทำไม่ได้เพราะไม่เคยทำ ฉะนั้น การมีวินัยในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ"
รวมทั้งพ่อแม่ต้องตามเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันให้ทันอย่าไปมองว่าเราแก่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของเด็ก ๆ จะพูดก็ไม่กล้ากลัวพูดผิด กลัวเชยให้มองว่า เป็นเพียงสื่อรูปแบบหนึ่งที่เรียนรู้ได้ ไม่มีอะไรยากเกินตรรกะความเข้าใจของมนุษย์ และสร้างความเข้าใจในตัวลูก เมื่อทำผิดอย่าเริ่มต้นด้วยคำดุ ด่าหรือตำหนิ เพราะลูกจะยิ่งห่างออกจากเราไปทุกที ๆพยายามปรับตัวมาเป็นเพื่อนกับลูกให้ได้ แล้วลูกจะกล้าเล่า บอกเราในทุก ๆ เรื่อง
อีกทางหนึ่ง คือ โรงเรียนโดยจะต้องสอนในเรื่องของทักษะชีวิต ที่ไม่มีในตำราเรียนจากประสบการณ์ที่พบมา มีเด็กในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่เรียนดี มาจากครอบครัวที่ดี แต่ต้องมาเสียคนในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะไม่ทันเพื่อนผู้ชายบ้าง ไม่ทันเพื่อนผู้หญิงบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ซึ่งการที่จะรู้ทันคนทันโลกจะต้องเรียนทักษะชีวิตให้มาก ๆ โรงเรียนต้องมีกิจกรรมให้เด็กได้สัมผัสความจริงในโลก ในชุมชน ไม่ใช่ให้เด็กเอาแต่เรียนในตำราอย่างเดียวเพียงเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้
ทักษะชีวิตที่ว่านั้น จะเป็นเรื่อง ความปลอดภัยในชีวิตประจำวันอาทิ สถานที่ใดที่เด็กไม่ควรไป และที่แบบใดที่เด็กควรไป เพราะอะไรซึ่งตรงนี้จะทำให้เด็กประเมินความเสี่ยงเป็น รู้จักวิธีการปฏิเสธและหลบเลี่ยง
เรื่องของ เพศศึกษาซึ่งไม่ใช่ในเชิงชีวภาพแต่เป็นเชิงจริยธรรม อาทิ ความรับผิดชอบ บทบาทหญิง ชายที่ควรปฏิบัติต่อกัน อีกทั้งเรื่อง สันติศึกษาเพราะสมัยนี้คนเรามีอารมณ์ที่รุนแรงมากขึ้น จึงต้องรู้จักใช้วิธีในการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เมื่อมีปัญหาต้องคุยกันได้ ทำอย่างไรที่จะไม่คิดเริ่มต้นด้วยความรุนแรง
ตลอดจนเรื่องของ พหุวัฒนธรรมคือ การอยู่ร่วมกันของคนที่ต่างวัฒนธรรมกันเพราะมีความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรม อยู่บ้างในบางพื้นที่จะอยู่กันอย่างไรโดยที่คนไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตเหมือน กันแต่อยู่ด้วยกันได้
สุดท้าย คือ ชุมชนและสังคมต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลและช่วยกันปราบปราม นอกเหนือจากนั้นคือ เมื่อขจัดร้ายก็ต้องขยายดีด้วย โดยเพิ่มพื้นที่สื่อ และกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับเด็กโดยทั้ง 3 ทางนี้ จะต้องไม่เพิกเฉยและมองว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมกันทำ
อ. อมรวิชช์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิตมากเท่าไร เมื่อมีโอกาสเข้าถึงสื่อ เด็กจะรู้จักผิด ถูก ในการใช้เทคโนโลยี ถึงจะใช้ผิดวิธี ผิดเวลาไปบ้าง แต่เด็กจะรู้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ แม้จะดูสื่อลามกมากขนาดไหนแต่เขาจะไม่คิดหมกมุ่นกับเรื่องนี้ คงเพียงแค่ดูสนุก ๆตามประสาเด็กผู้ชายเป็นไปตามวัยที่อยากรู้อยากเห็น"
โทรศัพท์ มือถือไม่ว่าจะทันสมัยแค่ไหน ถ้าเด็กเป็นคนมีเหตุผลเข้าใจและรู้เท่าทันสื่อ เขาจะให้เวลากับเทคโนโลยีเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยการสร้างภูมิปัญญาในการสั่งสมให้กับเด็ก"
แล้วโลกไอทีจะไม่ทำลายใคร...
" เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิตมากเท่าไร เมื่อมีโอกาสเข้าถึงสื่อ เด็กจะรู้จักผิด ถูก ในการใช้เทคโนโลยี ถึงจะใช้ผิดวิธี ผิดเวลาไปบ้าง แต่เด็กจะรู้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่"
ที่มา วิชาการ.คอม