เพื่อนๆเคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมคนเราต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มาตรฐานนี้มีที่มาอย่างไรกัน บทความนี้ผมมีคำตอบที่จะมาคลายความสงสัยให้เพื่อนๆกันครับ
ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงศตวรรษที่ 19 แรงงานในแต่ละวันต้องทำงานมากกว่า 16 ชั่วโมง เพื่อผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการของตลาดโลก ทำให้แรงงานจำนวนมากมีคุณภาพชีวิตที่ยํ่าแย่ลง
Robert Owen นักสังคมนิยมเพ้อฝันชาวอังกฤษ จึงได้รณรงค์ผ่านสโลแกนที่ว่า 8 hours for work, 8 hours for rest, 8 hours for what we will เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น
แนวคิดของโอเวนไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เมื่อเทียบกับแนวคิดสังคมนิยมของ Karl Marx ที่สนับสนุนให้แรงงานต่อสู้กับนายทุนผู้ขูดรีด
จนกระทั่งเมื่อสมาคม Stonemason และแรงงานจำนวนมากรวมตัวกันที่เมืองเมลเบิร์น ของออสเตรเลียในวันที่ 21 เมษายน 2399 เดินขบวนเรียกร้องให้สภาท้องถิ่นสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ทำให้แนวคิดเฟ้อฝันของโอเวนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
3 สัปดาห์ต่อมา สภาได้ตอบรับข้อเสนอของสมาคม ให้แรงงานทำงานวันละ 8 ชั่วโมงได้ โดยไม่ถูกตัดค่าจ้าง ซึ่งนับเป็นขบวนการแรงงานแรกของโลก ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของตนเองได้สำเร็จ
แนวคิดนี้ก็ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก จนที่ ประชุมสมาพันธ์กรรมกรสากลครั้งที่ 1 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวในปี 2409
ในขณะที่ แรงงานชาวอเมริกันในนครชิคาโก รวมตัวหยุดงานครั้งใหญ่ในปี 2429 เพื่อเรียกร้องมาตรฐานการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง แต่การนัดหยุดงานครั้งนั้น กลายเป็นการสังหารหมู่ที่ Haymarket ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2429
สหภาพแรงงานเหมืองแร่ กลายเป็นแรงงานกลุ่มแรกในสหรัฐฯที่ได้รับสิทธิดังกล่าว ในอีก 12 ปีต่อมา และในที่สุดก็มีการยกย่องให้ วันที่ 1 พฤษภาคม กลายเป็นวันแรงงานสากล เพื่อรำลึกถึงการประท้วงเรื่องการทำงาน 8 ชั่วโมงที่ Haymarket
แนวคิดการทำงาน 8 ชั่วโมงกลายเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น เมื่อบริษัท Ford Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ใน ปี 2457 และรัฐบาลสหภาพโซเวียตก็บัญญัติให้การทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นกฎหมายเช่นกัน หลังการปฏิวัติรัสเซียใน ปี 2460
ที่มา: voicetv