อาชีพคนขับรถไฟ ไม่ใช่อาชีพที่ใครๆ ก็ทำได้ หรือเพียงเรียนจบในสาขาที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการนำพาผู้โดยสารหลายร้อยชีวิตไปสู่ที่หมาย ท่ามกลางปัจจัยที่เหนือการควบคุมจำนวนมาก
เดชา ขันสังข์ ขับรถไฟมาเกือบ 30 ปี ภูมิใจที่ได้เป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย แม้จะถูกสังคมประชดชันว่าคนรถไฟว่า ทำงานเช้าชามเย็นชาม ไม่คุ้มค่าเงินเดือน
เดชา จบการศึกษาที่โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็น 1 ใน 10,000 คน ที่ฝ่าฟันข้อสอบแสนยาก เข้ามาเป็นพนักงานรถไฟ ได้รับเงินเดือนครั้งแรกที่ 2,360 บาท จนถึงตอนนี้ เกือบ 30 ปี เขายังคงขับรถไฟ ที่ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุเลยสักครั้ง
ความยากของการขับรถไฟ คือการนำพาหัวรถจักร ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2526 สู่ที่หมาย ท่ามกลางปัจจัยที่ "ต้อง" ควบคุมให้ได้
ปัจจัยเหล่านั้นคืออะไร
ประการแรก คือ การควบคุมหัวรถจักรอายุกว่า 30 ปีตลอดเวลา ไม่มีระบบออโต้ เหมือนเครื่องบินหรือรถไฟฟ้า
เรื่องต่อมา คือ การควบคุมความเร็วไม่ให้เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสำหรับรถจักรคันนี้ ไม่สามารถเร่งความเร็วได้ถึง 80 กิโลเมตรได้จริง ใช้ความเร็วได้เพียง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เพราะอายุของหัวรถจักรเก่าแก่กว่า 30 ปี แม้จะยังใช้งานได้ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ
เหตุใดต้องควบคุมความเร็วไว้แค่นั้น
เพราะสภาพรางที่เก่าแก่ รางรถไฟที่ใช้อยู่ตอนนี้ อายุเป็นร้อยปี ไม่มีการปรับเปลี่ยน ดังนั้น การนำพาหัวรถจักรอายุเกือบ 30 ปี เดินทางบนรางรถไฟที่มีอายุเป็นร้อยปี จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
นอกจากนี้ยังมี "งานงอก" ที่หลายคนไม่รู้ เช่น รถไฟเสียระหว่างทาง ในช่วงกลางคืน ที่คนขับรถไฟและผู้ช่วยต้องลงมือซ่อมเอง และหากอุบัติเหตุเกิดในพื้นที่อันตราย ไม่ต้องพูดถึง เหล่านี้คงตอบคำถามที่ใครหลายคนสงสัยว่า เหตุใดรถไฟจึงล่าช้า ไปกว่าเวลาถึงที่หมายที่เขียนไว้ในตั๋วโดยสาร
และนี่คือ คำปฏิเสธอันหนักแน่นที่เดชาฝากบอกสังคมว่า คนรถไฟ ไม่ได้ทำงานเช้าชามเย็นชาม
วิวข้างทางที่สวยงามจากห้องคนขับรถไฟนี้ ไม่สามารถดึงดูดให้ เดชา ละจากหน้าที่ของเขาได้ นั่นคือ การจดจำทางให้ได้ทุกตารางเมตร ,จำสัญญานเตือนให้ได้ทุกจุด , ส่วนผู้ช่วยต้องทำงานร่วมกันอย่างสอดประสาน เพราะระยะเบรกของรถไฟไม่เหมือนรถยนต์ หากคนขับมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากพอ จะมองเห็นสิ่งผิดปกติในระยะไกลได้
เดชา ให้ราคากับ "ประสบการณ์" ซึ่งสำคัญที่สุด ในการขับรถไฟ
ทุกครั้งที่เดชา นำพาหัวรถจักรดีเซลราง ปี 2526 พร้อมผู้โดยสารเป็นร้อยชีวิตไปถึงปลายทาง เขาจะรู้สึกภูมิใจ เพราะได้เห็นภาพพ่อแม่ มารับบุตรหลานกลับบ้าน