ญี่ปุ่นหัวใสประดิษฐ์แว่นคุมอารมณ์
ขณะที่กูเกิลพัฒนาแว่นอัจฉริยะที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างกูเกิลกลาส ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นได้พัฒนาแว่นตาทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่สามารถช่วย ให้ผู้สวมใส่แสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมได้
แว่นตาที่ศาสตราจารย์ฮิโรทากะ โอซาวะ จากมหาวิทยาลัยสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น คิดค้นขึ้นนั้น ไม่ได้เน้นไปที่สิ่งที่ผู้สวมใส่มองเห็นเหมือนกับที่แว่นอัจฉริยะควรจะเป็น แต่กลับเน้นไปที่การแสดงผลดวงตาแอนิเมชั่นแทนที่ดวงตาจริงของผู้สวมใส่ เพื่อสร้างการตอบสนองทางอารมณ์เสมือนจริงขึ้นขณะที่ผู้สวมใส่อาจไม่ได้มีสมาธิจดจ่อกับผู้ที่โต้ตอบด้วยเท่าไรนัก
แว่นตาตัวต้นแบบที่แม้ว่าจะใส่แล้วดูขำขันสักหน่อยประกอบไปด้วยจอโอแอลอีดี2จ่อติดตั้งที่เลนส์ทั้งสองข้าง โดยจอแสดงผลดังกล่าวควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ผ่านการเชื่อมต่อไร้สาย และมีกล้องสำหรับตรวจจับสภาพแวดล้อมมุมกว้าง
ในตัวแว่นประกอบด้วยเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวและการทรงตัวติดตั้งอยู่ที่ขาแว่นข้างหนึ่งเพื่อตรวจจับพฤติกรรมของผู้สวมใส่ขณะที่อีกข้างหนึ่งบรรจุแบตเตอรีเพื่อให้พลังงาน
การตอบสนองในแว่นตัวต้นแบบดังกล่าวสามารถแสดงผลการกะพริบตาเมื่อผู้สวมใส่พยักหน้าแสดงผลกะพริบตาถี่ๆเมื่อผู้ใส่จับมือกับคู่สนทนาขณะที่เมื่อผู้ใส่ก้มหน้าแว่นจะแสดงผลดวงตามองขึ้นด้านบน นอกจากนี้ซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้าในคอมพิวเตอร์ยังสามารถตรวจจับผู้ที่มองมายังผู้สวมใส่ได้ขณะที่แว่นตาจะแสดงผลให้ดวงตาบนจอเคลื่อนไหวและมองกลับไปยังผู้ที่มองมาได้อีกด้วย
ศาสตราจารย์โอซาวะระบุว่าแนวคิดการสร้าง"หุ่นแสดงอารมณ์"ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานของนักสังคมวิทยาชาวอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางอารมณ์ของผู้ทำงานบริการที่จะต้องใช้สีหน้าและท่าทางในการแสดงออกทางอารมณ์ที่ดีหรือ"อีโมชันนอลเลเบอร์"นั่นเอง โดยอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้จะช่วยให้ผู้ทำงานบริการ เช่น พยาบาล พนักงานเสิร์ฟ อาจารย์ นักบำบัด และอื่นๆ สามารถแสดงอารมณ์ผ่านงานบริการได้อย่างมืออาชีพ
แม้ว่าศาสตราจารย์โอซาวะเองจะยอมรับว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีความแปลกสำหรับผู้พบเห็นแต่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการโต้ตอบทางอารมณ์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกลับเห็นว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถช่วยแก้ปัญหาในการรับรู้อารมณ์ระหว่างคนจากวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมตะวันออกได้หากมีการพัฒนาอุปกรณ์ต่อไป
ขณะที่ศาสตราจารย์โอซาวะเตรียมที่จะขยายการวิจัยออกไปด้วยการสร้างจอที่เลียนแบบปากของผู้ใส่เพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคมนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าปากของมนุษย์มีอิทธิพลต่อการสื่อความหมายทางอารมณ์มากกว่าดวงตาของมนุษย์
ที่มา : นสพ.มติชน