เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ jone jond สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
ยันตระ หรือที่ชื่อเรียกติดปากว่า พระยันตระ กลับไทย ทำให้คนอยากรู้ ประวัติยันตระ คือใคร คดียันตระ อดีตพระที่เคยฉาวสะท้านวงการผ้าเหลืองเป็นอย่างไร ไปดูกัน
กลายเป็นข่าวฮือฮาทั่วประเทศ เมื่อมีข่าวว่า ยันตระ หรือที่เรียกติดปากว่า พระยันตระ อดีตพระสงฆ์ชื่อดัง ได้เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา (เมษายน 2557) โดยพักอาศัยอยู่ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ท่ามกลางศิษยานุศิษย์ที่รวมตัวกันมากราบไหว้อย่างคับคั่ง พร้อมกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย เนื่องจาก ยันตระ เป็นอดีตพระสงฆ์ที่มีคดีความ และกลายเป็นข่าวโด่งดังเมื่อปี 2537 ซึ่งในวันนี้ เราขอย้อนรอยถึงประเด็นฉาวของอดีต "พระยันตระ" ที่ทำให้วงการสงฆ์สั่นสะเทือนมาให้ได้ทราบกัน
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 ชื่อของ "พระยันตระ อมโรภิกขุ" หรือ "พระวินัย อมโร" ในวัย 40 ปี เป็นข่าวโด่งดังในหน้าหนังสือพิมพ์นานหลายเดือน หลังจากมีสีกากลุ่มหนึ่งร้องเรียนไปยังกรมการศาสนาว่า "ยันตระ" หรือ "นายวินัย ละอองสุวรรณ" ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่สมณเพศ เพราะได้ไปล่อลวงสีกาชื่อ "จันทิมา มายะรังษี" ไปเสพเมถุนจนตั้งครรภ์ และคลอดบุตรสาวออกมาตั้งชื่อว่า"เด็กหญิงกระต่าย" โดยสีกากลุ่มนี้ได้งัดเอาเทปสนทนาระหว่างพระยันตระกับนางจันทิมาออกมาใช้เป็นหลักฐานด้วย
การออกมาเปิดโปงเรื่องนี้กลายเป็นข่าวช็อกของวงการพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องยอมรับว่า ในสมัยนั้น "พระยันตระ" ได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากพุทธศาสนิกชนมหาศาลตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักพรตฤาษี กระทั่งอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกายในปี พ.ศ. 2517 ณ วัดรัตนาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จนมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ภายหลังจึงมีผู้สร้างสำนักถวายหลายแห่ง โดยทุกวัดที่สร้างในสำนักเขาจะใช้ชื่อว่า "สุญญตาราม" ประกอบด้วยเสมอ แต่สำนักที่เป็นที่รู้จักดีคือ วัดป่าสุญญตาราม กาญจนบุรี
ด้วยความที่เป็นพระรูปงาม มีลีลาการเทศนาที่ไพเราะจับใจ ทำให้ "ยันตระ" เป็นพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในยุคนั้น ทุกครั้งที่ไปเทศนาธรรมในแห่งหนตำบลใด หรือแม้แต่ในต่างประเทศ จะมีพุทธศาสนิกชนเข้ามาฟังจนแน่นขนัด เห็นได้จากครั้งหนึ่งที่ "พระยันตระ" มาเทศนาธรรมที่ท้องสนามหลวง ปรากฏว่ามีชาวพุทธแห่แหนกันไปฟังธรรมจนเต็มพื้นที่ แม้กระทั่งข้าราชการระดับสูง ตลอดจนข้าราชการทางการเมืองก็เคารพศรัทธาพระยันตระเป็นอย่างยิ่ง เพราะเลื่อมใสในคำสอนของพระยันตระที่เน้นแนวทางปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งคำสอนนี้ก็ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการศาสนาว่าถูกต้องกับพระไตรปิฎก
แต่แล้ว...เมื่อ "พระยันตระ" เจอข้อกล่าวหาที่รุนแรงผิดพระวินัยจนถึงขั้นปาราชิกเช่นนี้ แน่นอนว่า "พระยันตระ" ต้องปฏิเสธ ทำให้สื่อมวลชนพยายามขุดคุ้ยหลักฐานเพื่อเปิดโปง กระทั่งเห็นความไม่ชอบมาพากล ขณะที่ "จันทิมา" ก็ได้ฟ้องร้องพระยันตระ พร้อมกับขอท้าพิสูจน์ความจริงด้วยการตรวจดีเอ็นเอกับ "เด็กหญิงกระต่าย" ซึ่งในสมัยนั้นการตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อ-ลูก ถือเป็นเรื่องใหม่ในบ้านเราอย่างมาก แต่ทว่า...พระยันตระกลับปฏิเสธที่จะเจาะเลือดตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ก่อนจะแอบเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศไปโดยทันที โดยที่คดีดังกล่าวยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของศาล