วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ภัยร้าย ทั้งที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ และเกิดจากธรรมชาติ มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายจนน่าหวาดกลัว "เดลินิวส์ออนไลน์" จึงได้รวบรวมวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิต

สำหรับกรณีเกิดไฟไหม้ในอาคารสูงนั้น ผู้เผชิญเหตุไม่ควรหลบขึ้นไปบนดาดฟ้าหรือหลังคา โดยให้ปฏิบัติตามแผนอพยพของตัวอาคาร ซึ่งมักติดแผนผังเส้นทางหนีไฟให้รับทราบอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ลงสู่ด้านล่างของอาคารเสมอ ในระหว่างอพยพไม่ควรใช้ลิฟท์ เพราะลิฟท์อาจหยุดในชั้นที่เกิดเหตุไฟไหม้ ควันไฟอาจเข้าไปในตัวลิฟท์ หรือมีการตัดกระแสไฟฟ้า

ส่วนกรณีที่ติดอยู่บนอาคารสูงต้องพยายามไปปิดประตูเพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาได้ หลังจากนั้นใช้โทรศัพท์ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อบอกตำแหน่งของตนเอง ซึ่งในระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ควรพยายามทำสัญญาณให้ผู้อื่นทราบตำแหน่งโดยการใช้ผ้าสีโบกที่หน้าต่าง ถ้าเปิดกระจกได้แนะนำให้เปิด เพราะจะทำให้ได้รับออกซิเจน แต่ไม่แนะนำให้ทุบกระจก เนื่องจากหากมีควันไฟเข้ามาต้องปิดหน้าต่างทันที ดังนั้นถ้าหากเราทุบกระจกตั้งแต่แรกจะไม่สามารถปิดกระจกอีกได้

อีกหนึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มักเกิดบ่อยในหลายประเทศคือแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลรุนแรงและเป็นวงกว้าง แม้บ้านเราจะไม่ค่อยปรากฎเหตุการณ์แผ่นดินไหวร้ายแรง ทว่าผู้ที่เดินทางไปยังประเทศที่มักเกิดแผ่นดินไหวจำเป็นต้องรู้ข้อควรปฏิบัติไว้

ทางสถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงโตเกียวจึงได้แนะนำวิธีเตรียมตัวไว้ว่า ประชาชนควรเตรียมอุปกรณ์การป้องกันอุบัติเหตุไว้ให้พร้อม เช่น ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย กระเป๋ายา เครื่องมือดับเพลิง และหมวกกันน็อค ตลอดจนวางแผนกับสมาชิกในครอบครัวถึงวิธีการหลบและเส้นทางหลบภัย ที่สำคัญควรศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัย โดยเฉพาะศึกษาเส้นทางจากบ้านไปยังจุดหลบภัย

ส่วนในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นแล้วติดอยู่ในอาคารหรือบ้าน ควรปิดวาล์วแก๊สและนำคัทเอาท์ไฟฟ้าลง จากนั้นหลบใต้โต๊ะ หรือถ้าไม่มีให้ใช้หมอนหรือผ้าหนาๆ คลุมศีรษะเพื่อป้องกันของหนักตกใส่ พยายามเปิดประตูหรือหน้าต่างเตรียมไว้เพื่อเป็นทางออก ส่วนผู้ที่อยู่ชั้น 2 ไม่ต้องลงมาข้างล่าง นอกจากนี้ควรใส่รองเท้า ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เพราะแผ่นดินไหวอาจจะทำให้แก้วหรือกระจกแตก อาจบาดเท้าได้ แต่หากอยู่ในที่ทำงานให้ใช้กระเป๋าปกป้องศีรษะแล้วรีบหลบอยู่ใต้โต๊ะ ทั้งนี้ขณะเกิดแผ่นดินไหวบริเวณที่ไม่มีสิ่งของวางอยู่จะปลอดภัยที่สุด

อีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่น่าเรียนรู้วิธีเอาตัวรอด และเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือ กรณีเรือล่มกลางทะเลหรือกลางแม่น้ำ ซึ่งกรมเจ้าท่าได้แนะนำวิธีเอาตัวรอดเมื่อตกเรือไว้ว่า ถ้ามีอุบัติเหตุผู้โดยสารตกน้ำได้ จะเป็นเพราะความประมาท ความพลาดพลั้งหรือจากการที่เรือเสียการทรงตัวกะทันหัน เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ผู้โดยสารที่เห็นเหตุการณ์ควรรีบตะโกนให้นายท้ายเรือทราบทันที บอกให้ชัดเจนว่าคนตกน้ำในจุดใดของตัวเรือ เพื่อที่นายท้ายเรือจะได้หันเหเรือหลบไม่ให้ใบจักรเรือทำอันตรายต่อคนตกน้ำ จากนั้นให้โยนเครื่องช่วยชีวิต เช่น พวงชูชีพ หรือเสื้อชูชีพ ไปให้คนตกน้ำ จากนั้นโทรติดต่อแจ้งศูนย์ประสานงาน และรับแจ้งเหตุ สายด่วนกรมเจ้าท่าหมายเลข 1199 ส่วนผู้ที่ตกน้ำต้องควบคุมสติให้มั่น เมื่อตกน้ำให้ว่ายน้ำและผละออกจากเรือจนพ้นระยะอันตรายจากใบจักรเรือแล้วให้หยุดว่าย แต่ให้เน้นพยุงตัวลอยตามน้ำไว้ อย่าพยายามว่ายเข้าฝั่งเพราะอาจหมดแรง และสิ่งที่ควรระวังอย่างมากคืออย่าพยายามว่ายกลับเพื่อคว้าจับกราบเรือขณะที่เรือกำลังแล่นเป็นอันขาด เพราะจะถูกน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือ

หากทำได้ ให้ถอดรองเท้า เข็มขัด หรือสิ่งของติดตัวที่จะเป็นเครื่องถ่วงออกให้หมด คอยคว้าจับสิ่งลอยน้ำที่มีผู้โยนให้จากเรือ เพื่อใช้เป็นเครื่องพยุงตัว หากคว้าจับไม่ได้หรือไม่มีผู้โยนสิ่งใดมาให้ ให้ถอดเสื้อหรือกางเกงออกทำเป็นโป่งลอยน้ำพยุงตัวไว้ชั่วคราว แล้วปล่อยตัวลอยตามน้ำรอจนกว่าเรือจะวกกลับมาช่วยเหลือหรือจนกว่ากระแสน้ำพัดเข้าใกล้ฝั่ง ที่ตื้นหรือที่มั่นคงซึ่งพออาศัยยึดเหนี่ยวได้ และรอการช่วยเหลือ

ทั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากเกิดเหตุเรือล่มกลางทะเลหรือแม่น้ำ เจ้าหน้าที่ควรเร่งอพยพผู้โดยสารต้องกระทำทันทีที่เรือเอียงมากกว่า 20 องศา ผู้โดยสารทุกคนต้องใส่เสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์นิรภัยอย่างถูกต้อง ส่วนผู้ที่อยู่ภายในตัวเรือให้พยายามหาประตูฉุกเฉินออกมาด้านนอกตัวเรือ

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ฉุกเฉินสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการตั้งสติ เพื่อสร้างสมาธิและการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์

Credit: http://variety.teenee.com/foodforbrain/61012.html
22 เม.ย. 57 เวลา 07:07 841 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...