เมื่อ พิจารณาตัวเลขของความเป็นเมืองต่อพื้นที่ทั้งประเทศ และอัตราการเติบโตของเมืองจากรายงานของ CIA Factbook นั้น จะพบว่าเมืองในลาวนั้นมีประชากรพักอาศัยในเมืองมากกว่าเมืองในประเทศไทย กล่าวคือ นับจาก ค.ศ. 2011 นั้น ลาวมีประชากรในเมืองเป็นจำนวนร้อยละ 34.3 ขณะที่ไทยมี ร้อยละ 34.1
นอกจากนั้น ลาวยังมีอัตราการเพิ่มของประชากรในเมืองอยู่ที่ ร้อยละ 4.41 (ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 2.8) ตามการคาดการณ์ในช่วงปี 2010-2015 ขณะที่ไทยนั้นมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เมืองเพียงร้อยละ 1.6 (ทั้งนี้แม้ว่าจำนวนประชากรในเมืองนั้นจะมีเพียง 2,231,750.16 คน ตามการรายงานของธนาคารโลกก็ตาม)
จากการนำเสนอของหน่วยงานด้านการพัฒนา ถิ่นที่พักอาศัยของสหประชาชาติ (UN-Habitat) ในปี 2012 ชี้ว่าการเติบโตของความเป็นเมืองของลาวนั้นเป็นไปในอัตราที่สูง และในขณะเดียวกันการเติบโตดังกล่าวก็เป็นไปในลักษณะของการอพยพเข้าสู่เมือง จากพื้นที่ชนบทเนื่องจากปัจจัยด้านความยากจน (ไม่ใช่การเติบโตโดยธรรมชาติของประชากรเมืองแบบที่เกิดในเมือง) ทั้งที่ภาคการเกษตรนั้นยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของการผลิตรายได้ของประเทศ แต่ภาคเศรษฐกิจในเมืองก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน ลาวนั้นมีเมืองระดับเล็กอยู่ประมาณ 139 เมือง และมักจะเชื่อมต่อกับแนวพื้นที่ทางเศรษฐกิจ (economic corridor) เชื่อมโยงกับ กัมพูชา จีน ไทยย และ เวียดนาม
รายงานจาก UN-Habitat ยังชี้ให้เห็นถึงประเด็นท้าทายของการเติบโตของเมืองในลาว 4 ประการ
1. การเพิ่มแรงกดดันต่อองค์กรปกครองในระดับท้องถิ่นในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน ให้กับประชากรในเมือง และเมื่อมีการพัฒนาในพื้นที่เมืองมากขึ้นก็จะดึงดูดให้ประชาชนในชนบทเดินทาง เข้ามาเพิ่มอีก
2. สถานการณ์ของความยากจนในเมือง ซึ่งหมายถึงทั้งรายได้ของประชาชนเอง และการขาดแคลนบริการทางสุขาภิบาลต่อประชากรในเมือง อาทิ การระบายน้ำ การสุขาภิบาล น้ำสะอาดในเมือง และที่พักอาศัยที่ต่ำกว่ามาตรฐาน อย่างกรณีของเวียงจันท์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของลาวนั้น ยังมีประกฏการณ์ความยากจนถึง ร้อยละ 12.2 และทำให้ประชาชนในเมืองนั้นต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายการสุขาภิบาลมากกว่าคนรวย
3. การเพิ่มแรงกดดันที่มีต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อม อาทิ การเปลี่ยนการใช้ที่ดินที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน การไม่ดูแลพื้นที่ป่า มลพิษทางอากาศ และปริมาณขยะ
4. การเติบโตของประชากรนั้นทำให้มีความต้องการของทรัพยากรต่อการพัฒนามากขึ้น
UN-Habitat ชี้ว่าการแก้ปัญหาต่ออุปสรรคของการพัฒนาเมืองของลาวนั้นก็คือ การวางแผนการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป และการรักษาสิ่งแวดล้อม อาทิ การออกแบบอาคารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยี่ที่เอื้อต่อการพัฒนาเมือง อาทิ ไฟฟ้าพลังลม การเก็บกักน้ำฝน การใฃ้จักรยานไฟฟ้าแทนมอร์เตอร์ไซด์ และการใช้หลังคาที่เก็บกักพลังงานจากแสงอาทิตย์ และการสร้างความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ