เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก mredsoldierbonuspayback.blogspot.com,sksainitheauthor.blogspot.com, gardenofeaden.blogspot.com
เรือไททานิค ครบรอบ 102 ปี กับการรำลึกถึงเหตุการณ์เรือชนภูเขาน้ำแข็งก่อนอับปางลงกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ถือเป็นโศกนาฏกรรมแห่งท้องทะเลครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ และกำลังถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เรือเซวอลล่มที่เกาหลีใต้
อุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับเรือเซวอลของเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2557 ที่เรือได้จมลงทางนอกชายฝั่งตอนใต้ของประเทศ จนมีผู้เสียชีวิตและสูญหายนับร้อยราย ได้ทำให้คนทั่วโลกนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรม "เรือไททานิค" ภัยพิบัติทางทะเลครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และเป็นที่กล่าวถึงทุกครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุเรือโดยสารขนาดยักษ์จมดิ่งสู่ท้องทะเล
ที่น่าประหลาดใจไม่น้อยก็คือ การจมดิ่งสู่ท้องทะเลของเรือไททานิคนั้น เกิดขึ้นในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ซึ่งวันที่ 15 เมษายนของทุก ๆ ปี ทั่วโลกจะมีการหยิบยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาพูดถึงเพื่อรำลึกถึงความสูญเสีย เช่นเดียวกับปีนี้ที่มีการรำลึกถึงการครบรอบ 102 ปี ของโศกนาฏกรรมทางทะเลครั้งเลวร้ายกับเรือไททานิค แต่ทว่า...คล้อยหลังการรำลึกถึงเหตุการณ์เรือไททานิคได้เพียงวันเดียว กลับเกิดเหตุการณ์น่าสะเทือนใจขึ้นกับเรือเซวอลที่กำลังมุ่งหน้าไปเกาะเชจู และมีหลายสิ่งหลายอย่างของทั้งสองเหตุการณ์ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกัน
...ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) หรือเมื่อ 102 ปีก่อน เรือโดยสาร "อาร์เอ็มเอส ไททานิค" ขนาด 46,428 ตัน ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น พร้อมกับมีคำโฆษณาว่าเป็นเรือที่ไม่มีวันจม ได้นำพาลูกเรือและผู้โดยสาร 2,224 คน ออกเดินทางจากเมืองเซาท์แธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าไปยังนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในช่วงนั้น เป็นช่วงเวลาที่ธารน้ำแข็งแถบกรีนแลนด์เริ่มละลาย ทำให้ภูเขาน้ำแข็งเคลื่อนตัวลงมาในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือและลอยตามกระแสน้ำในมหาสมุทรลงมาทางใต้ เป็นเหตุให้เรือไททานิคชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง ในช่วงเวลาประมาณ 23.49 น. ของวันที่ 14 เมษายน (ตามเวลาเรือ) ขณะแล่นอยู่ในท้องทะเลห่างจากเมืองเซาท์แธมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ทำให้เรือได้รับความเสียหาย
อีกสองชั่วโมงให้หลัง น้ำทะเลได้เริ่มทะลักเข้ามาในตัวเรือ แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกตื่นตระหนก เพราะไม่เชื่อว่าเรือขนาดใหญ่ลำนี้จะจมได้ดังที่มีคำโฆษณาชวนเชื่อบอกไว้ จึงยังคงทำกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไปอย่างใจเย็น กระทั่งเรือค่อย ๆ อับปางลง กัปตัน เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ จึงสั่งให้รีบอพยพผู้โดยสาร โดยให้ผู้หญิงและเด็กลงเรือไปก่อน
เมื่อผู้โดยสารส่วนใหญ่เริ่มเห็นสีหน้าและการทำงานที่เคร่งเครียดของลูกเรือ จึงเริ่มเชื่อแล้วว่าเรือไททานิคคงจะจมจริง ๆ ประกอบกับมีการยิงพลุขอความช่วยเหลือขึ้นฟ้า ทำให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นภายในเรือ เพราะทุกคนพยายามจะแย่งกันขึ้นเรือชูชีพ จนเกิดความวุ่นวายขึ้น แต่ยังมีผู้ชายบางคนแสดงความเป็นสุภาพบุรุษด้วยการยอมให้เด็กและผู้หญิงลงเรือชูชีพไปก่อน
ด้วยความเร่งรีบของลูกเรือที่เผชิญเหตุการณ์วุ่นวายตรงหน้า ทำให้เรือชูชีพแต่ละลำยังบรรจุผู้โดยสารไม่เต็มจำนวนก็ถูกปล่อยลงท้องทะเลไปเสียแล้ว จนกระทั่งเรือชูชีพถูกปล่อยลงทะเลไปหมด ทิ้งผู้โดยสารไว้เผชิญชะตากรรมบนเรือที่กำลังอับปางและแตกออกเป็นสองท่อนอีกกว่า 1,500 คน จนในที่สุดเวลา 02.20 น. ของวันที่ 15 เมษายน เรือก็จมลงในแนวดิ่ง แม้ผู้โดยสารจำนวนมากจะสวมชูชีพลอยคออยู่ในทะเล แต่สุดท้ายก็เสียชีวิตจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) เนื่องจากน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกเย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ กลืนชีวิตผู้คนไปมากถึง 1,514 คน ขณะที่มีผู้รอดชีวิตจากการอพยพหนีได้ทันเพียง 710 คน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของเรือโดยสาร เพราะเรือไททานิคนี้ แม้จะถูกระบุว่าสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2,435 คน แต่กลับมีห่วงชูชีพเพียง 49 ห่วง และมีเรือชูชีพที่รองรับคนได้เพียง 1,178 คนเท่านั้น ขณะที่ลูกเรือก็ไม่ได้บรรทุกคนลงในเรือชูชีพได้เต็มลำ แต่กลับปล่อยเรือออกมาก่อน
อีกเรื่องที่น่าเศร้าที่พบในการสอบสวนก็คือ ก่อนที่เรือไททานิคจะชนภูเขาน้ำแข็งเพียงไม่กี่ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่บนฝั่งส่งวิทยุโทรเลขมาแจ้งเตือนถึง 7 ครั้ง ว่าให้เรือไททานิคระวังภูเขาน้ำแข็งที่กระจัดกระจายอยู่ในเส้นทางข้างหน้า แต่ข้อความดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังกัปตัน หรือเจ้าหน้าที่เรือแม้แต่คนเดียว เพราะพนักงานวิทยุโทรเลขยุ่งอยู่กับการส่งวิทยุโทรเลขให้ผู้โดยสารนั่นเอง
ขณะที่อุบัติภัยที่เกิดขึ้นกับเรือเซวอล ในช่วงสายวันที่ 16 เมษายน 2557 นั้น จนถึงขณะนี้ (18 เมษายน 2557) พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 28 ราย แต่ยังมีผู้สูญหายไปกับเรือที่จมดิ่งลงในทะเลมากเกือบ 300 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่มาทัศนศึกษา ส่วนสาเหตุของการอับปาง ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่มี 3 ข้อสันนิษฐานที่สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ นั่นก็คือ อาจเกิดจากกระแสลมแรง หรือเรืออาจหักเลี้ยวกะทันหัน ทำให้ตู้สินค้าและยานพาหนะที่บรรทุกไปใต้ท้องเรือเลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม จนทำให้เรือเสียการทรงตัว และข้อสันนิษฐานที่ 3 ก็คือ เรืออาจชนกับหินใต้น้ำ เพราะจุดที่เกิดอุบัติเหตุเป็นเขตน้ำตื้นที่มีหินใต้น้ำเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า เรือเซวอลมีการแล่นออกนอกเส้นทางจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม กับเหตุการณ์เรือเซวอลที่เกิดขึ้น ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในตัวกัปตันผู้ควบคุมเรือ ที่ประกาศบอกให้ผู้โดยสารอยู่ภายในเรือเพื่อหวังจะรักษาสมดุลของเรือ แต่ตัวเขากลับเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่อพยพหนีออกมาจากเรือจนรอดชีวิต ซึ่งก็มีคนนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เรือไททานิค ที่ครั้งนั้น กัปตัน เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ เป็นผู้สั่งการให้ผู้โดยสารรีบอพยพ และเขาก็ยืนหยัดที่จะอยู่กับลูกเรือและผู้โดยสารกว่า 1,500 คน ก่อนที่เรือจะจมดิ่งลงสู่มหาสมุทร ปิดฉากวาระสุดท้ายของกัปตันวัย 62 ปี ไว้กับเรือไททานิคอันเป็นตำนานที่น่ากล่าวขานต่อไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก