ที่มา ของ แหวนแต่งงาน
ตามตำนานและประวัติศาสตร์ที่มีมาช้านาน ต่างเชื่อกันว่าการสวมแหวนที่นิ้วนางจะทำให้แหวนนั้นดลอำนาจของความรักผ่านสู่หัวใจของผู้สวมใส่ได้และแหวนแต่งงานก็เปรียบเสมือนตัวแทนคำสัญญาความรัก และความมั่นคง เป็นเครื่องประดับติดตัวชิ้นเดียวที่มีคุณค่าผูกพันจิตใจกับหญิงสาวแต่ก่อน คู่หนุ่มสาวจะใช้เถาวัลย์ตามธรรมชาตินำมาผูกติดกับนิ้วเพื่อแสดงถึงความรัก จนกลายเป็นประเพณีของชาวโรมันและชาวอังกฤษที่จะนำโลหะที่มีค่าที่สุดของแต่ละยุคสมัยมาใช้สวมให้กับเจ้าสาว
ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีตั้งแต่สมัยโบราณแหวนหมั้นที่ใช้กันของคู่บ่าวสาวนั้นทำมาจากเหล็กธรรมดา ตามตำนานเชื่อว่าแหวนเหล่านี้เกิดจากเทพเจ้าโพรเมธูส(Prometheus) ตีเหล็กขึ้นมาเป็นแหวนให้กับเหล่ามนุษย์ที่ไม่มีรักต่อมาแหวนที่ชาวโรมันให้กันนั้น ก็กลายเป็นทองคำทรงกลม ซึ่งแสดงถึงวัฏจักรแห่งชีวิตและความเป็นนิรันดร์อีกทั้งเป็นการปฏิญาณต่อสาธารณชนว่าสัญญาสมรสของคู่บ่าวสาวจะได้รับการปฏิบัติและถนอมไว้ตราบนานเท่านาน
ตราบจนปัจจุบัน ด้วยคุณค่าความงานอมตะ ทำให้แหวนทองคำเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีการแต่งงานที่ทรงความมหัศจรรย์คงอยู่กับเจ้าสาวตลอดกาล จนถึงศตวรรษที่ 15 แหวนอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคงและซื่อสัตย์ โดยใช้อัญมณีที่แกร่งที่สุดนั่นก็คือ ?เพชร?
เพชรถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย คุณค่าของเพชรในยุคสมัยนั้น มิใช่แค่ความงดงามจากภายนอก แต่เป็นเพราะความวิเศษแห่งอาคมขลังซึ่งเชื่อกันว่าเพชรสามารถป้องกันภัยจากอสรพิษ, ไฟ, ยาพิษ, ความป่วยไข้, การโจรกรรม ตลอดจนพลังแห่งความเลวร้ายทั้งปวง
ดังนั้นคำว่า Diamond นี้ จึงมีรากศัพท์มาจากคำว่า Adamas ในภาษากรีก ซึ่งแปลว่าไม่อาจเอาชนะได้กลายเป็นสัญลักษณ์สากลแห่งรักที่ยั่งยืน ตำนานของเพชรจึงได้เริ่มต้นและเล่าขานตกทอดกันนับแต่บัดนั้นมา