รู้กันรึไม่? เทศกาล สาด..? ไม่ได้มีแค่ที่เมืองไทยนะ!
ดราม่ากันอยู่พักหนึ่งก่อนเรื่องจะคลี่คลาย เมื่อสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านร่วมอาเซียนประกาศจัดงานสงกรานต์
ทำให้ชาวไทยผู้หวงแหนวัฒนธรรมออกมาดิ้น เพราะกลัวว่างานเทศกาลสาดน้ำสงกรานต์ที่ภูมิใจนักหนาว่าเป็นของตัวเองนั้นจะมีเจ้าของร่วมเพิ่มมาอีกหนึ่ง แต่กระแสดราม่าก็ซาลงไปเมื่อสิงคโปร์มีทางออกแบบดูดีโดยประกาศยกเลิกการสาดน้ำ เพราะประเทศกำลังประสบภัยแล้ง
ควรจะดีใจหรือไม่ เมื่อเรื่องจบลงไปได้เพราะสิงคโปร์ยกเลิกการเล่นสาดน้ำ ไม่ใช่เพราะคนไทยเข้าใจรากหรือที่มาที่ไปของวัฒนธรรมอย่างแท้จริง
ความจริงแล้ว สงกรานต์เป็นพิธีกรรมพราหมณ์ฮินดูที่ราชสำนักในสุวรรณภูมิหรืออุษาคเนย์รับมาเป็นแบบแผนเดียวกันตั้งแต่โบราณคนในแถบอุษาคเนย์ทั้งไทย ลาว กัมพูชา มอญ พม่า ลังกา รวมถึงสิบสองปันนา ล้วนถือเอาวันที่ 13 เมษายน หรือวันตรุษสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่เหมือนกัน
ส่วนการรดน้ำมาจากพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวอุษาคเนย์ที่ใช้น้ำทำความสะอาดบ้านเรือน อาบน้ำให้กระดูกหรืออัฐิของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว รวมถึงอาบน้ำให้ผู้อาวุโสที่ยังมีชีวิตอยู่ จากนั้นการรดน้ำจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม มาเป็นการละเล่นสาดน้ำที่เราคุ้นเคยในระยะหลัง ๆ มานี้
นอกจากการสาดน้ำในแถบสุวรรณภูมิของเราแล้ว ทั่วโลกก็มีเทศกาลสาดหลายอย่างที่น่าสนใจ มาดูกันว่าที่ไหนมีอะไรบ้าง
เทศกาลโฮลี (Holi) หรือ เทศกาลสาดสี ที่ประเทศอินเดีย เป็นเทศกาลที่มีมายาวนานแพร่หลายในแถบประเทศอินเดีย เนปาล ศรีลังกา และประเทศที่มีชุมชนชาวฮินดูอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ในปัจจุบันถ้าพูดถึงเทศกาลสาดสี คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงประเทศอินเดียเป็นที่แรก เทศกาลนี้เป็นการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นสัญญาณบอกว่าฤดูกาลเริ่มเปลี่ยนจากฤดูหนาวเป็นฤดูใบไม้ผลิแล้ว โดยจะเฉลิมฉลองกันในวันพระจันทร์เต็มดวงวันสุดท้ายของฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมของทุกปี และก่อนวันสาดสีจะมีการก่อกองไฟเผาหุ่นตามตำนาน
เทศกาลมะเขือเทศ (La Tomatina) ที่เมืองบูญอล (Bunol) จังหวัดบาเลนเซีย (Valencia) ประเทศสเปน จัดในวันพุธสุดท้ายของเดือนสิงหาคม ผู้คนจะหลั่งไหลมาที่เมืองบูญอลพร้อมกับเตรียมมะเขือเทศมาสาดและปาต่อสู้กัน
เทศกาลนี้เริ่มต้นเมื่อปี 1945 โดยมีที่มาจากการเดินพาเหรดของเมืองในปี 1944 มีชายหลายคนก่อการวิวาทโดยใช้ผลไม้ที่คว้ามาได้จากใกล้ ๆ ตัวเป็นอาวุธ ในปีถัดมามีการต่อสู้กันเกิดขึ้น
อีกคราวนี้ผู้เข้าร่วมเตรียมการนำมะเขือเทศมาจากบ้าน จนการปามะเขือเทศกลายเป็นประเพณีของเมืองบูญอล และโด่งดังไปทั่วโลก ในตอนแรกอาจจะเป็นการปามะเขือเทศต่อสู้กันอย่างจริงจัง แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นการละเล่นสนุกสนาน ต้องขยำมะเขือเทศให้เละก่อน เพราะถ้าปาเต็ม ๆ ลูกอาจจะเป็นอันตรายได้
เทศกาลสาดไวน์ (Haro Wine Festival) ที่เมืองฮาโร (Haro) ในจังหวัดลารีโอคา (La Rioja) ของประเทศสเปน ในวันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี งานนี้จะเริ่มแต่เช้าด้วยการเดินขบวนแบกถังไวน์เดินไปรอบเมือง หลังจากนั้นจะมีการแข่งขันต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับไวน์ เช่น แข่งขันดื่มไวน์ และประกวดไวน์ ผู้ร่วมงานจะกินดื่มกันตลอดทั้งวัน พอดื่มกรึ่ม ๆ สนุกสนานได้ที่แล้วก็สาดไวน์ใส่กัน เสื้อผ้าสีขาวที่ทุกคนใส่มาร่วมงานจะกลายเป็นสีม่วงทั้งเมือง
เทศกาลสาดแป้ง ปาไข่ ที่เมืองไอบิ (Ibi) ประเทศสเปน เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของเทศกาล "เอลส์ อันฟารินัตส์" (Els Enfatinats) คนที่มาร่วมงานจะสวมเครื่องแบบทหารและทำเหมือนว่ายึดเมืองนี้ได้ และจะปกครองแบบไร้กฎหมาย พอจะลงโทษก็ใช้วิธีสาดแป้ง ปาไข่ รวมถึงโยนประทัดไฟใส่กัน อีกทั้งมีการปาไข่แข่งกับคณะกรรมการเมืองด้วย ใครที่ชนะคณะกรรมการเมืองได้จะได้รับสิทธิ์ออกกฎหมายที่จะบังคับใช้ในเมืองเพียง 1 วัน จุดเริ่มต้นของเทศกาลนี้คือเพื่อเฉลิมฉลองวันโกหกแห่งชาติของสเปน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี หรือที่รู้จักกันไปทั่วโลกในวัน April Fools" Day นั่นเอง
เทศกาลสาดแป้ง ที่เมืองปาสโต โคลอมเบีย เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล "Blacks and Whites" Carnival" ที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชนที่จับต้องได้ เมื่อปี 2552 เทศกาลนี้จัดระหว่างวันที่ 2-7 มกราคมของทุกปี ใน 2 วันสุดท้ายของเทศกาล ผู้ร่วมงานจะใส่ชุดสีขาวและสีดำ ตามคอนเซ็ปต์ "Blacks and Whites" เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนต่างสีผิว ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม ซึ่งในวันที่ใส่ชุดสีขาว หรือ Whites Day นี่เองที่หนุ่มสาวชาวโคลอมเบียจะเล่นสนุกสาดโฟมและแป้งใส่ฝูงชนระหว่างร่วมพาเหรด
เทศกาลสาดจาระบี(The Fiesta de Cascamorras) ที่เมืองบาซา และเมืองกัวดิกซ์ จังหวัดกรานาดา ประเทศสเปน จัดในวันที่ 6-8 กันยายนของทุกปี เป็นเทศกาลที่มีมายาวนานถึง 500 ปี มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ Cascamorras คนงานเมืองกัวดิกซ์ ค้นพบภาพ Virgen de la Piedad ในดินแดนของเมืองบาซา เขาคิดจะเอาภาพนั้นกลับเมืองกัวดิกซ์ แต่มีคนงานชาวบาซามาพบซะก่อน จึงเกิดการแย่งชิงกันและใช้จาระบีซึ่งเป็นสิ่งของใกล้ตัวคนงานสาดปาใส่กัน ภายหลังเรื่องราวยุติลง คนทั้งสองเมืองจึงจัดงานเฉลิมฉลองร่วมกันเป็นเวลา 3 วันในช่วงปลายฤดูร้อน
ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นที่หนึ่งเรื่องความยิ่งใหญ่ของการละเล่นสาดน้ำในประเพณีสงกรานต์แต่ก็คงต้องยอมแพ้ประเทศสเปน ในเรื่องสารพัดสาด ทั้งแป้ง ไข่ มะเขือเทศ และสิ่งที่ไม่น่าสาดกันได้ก็คือ จาระบี ใครเบื่อการสาดน้ำธรรมดา ๆ สนใจลองของแปลก อยากจะสาดอะไรก็เลือกและออกเดินทางได้เลยตามอัธยาศัย
สนุกกับมันให้เต็มที่ให้สมกับเป็นเทศกาลแห่งความสุขของคุณ
ขอบคุณ :: ประชาชาติธุรกิจ