เกาะฮาร์ต สุสานวิญญาณที่ถูกลืมกว่าล้านดวงในสหรัฐฯ

 เกาะฮาร์ต สุสานใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ถูกลืม มันอยู่ใกล้มหานครนิวยอร์กที่พลุกพล่าน แต่กลับเป็นดินแดนลับแลซึ่งเป็นที่พำนักสุดท้ายตลอดกาลของผู้ล่วงลับนับล้านชีวิต

          ในมหานครนิวยอร์กซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเจริญ ยิ่งใหญ่ วุ่นวาย และพลุกพล่านที่สุดในโลก กลับยังมีชาวนิวยอร์กอีกหลายต่อหลายคนที่ไม่รู้ว่ายังมีสถานที่ซึ่งเรียกว่า "เกาะฮาร์ต" อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากพวกเขา มันเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของเขตบรองซ์ (Bornx) แห่งมหานครนิวยอร์ก เกาะฮาร์ตทอดตัวเป็นแนวยาวราว 2 กิโลเมตร และส่วนที่กว้างที่สุดของเกาะวัดได้ประมาณ 400 เมตรเท่านั้น มันเป็นสุสานที่ฝังร่างผู้ล่วงลับไว้นับล้านชีวิต เป็นสุสานสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ทว่าก็เป็นสุสานที่ได้รับการใส่ใจและเป็นที่รู้จักน้อยที่สุดด้วยเช่นกัน เกาะฮาร์ตมีสภาพไม่ต่างไปจากดินแดนลับแล มันเข้าถึงยาก และไม่มีใครมาเยี่ยมเคารพศพ เพราะทางการไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้ามายังเกาะแห่งนี้ได้ ท่าเรือเพียงแห่งเดียวบนเกาะนี้ถูกล้อมด้วยลูกกรง และลวดหนาม พร้อมป้ายประกาศเตือนว่าห้ามบุกรุก สิ่งเหล่านี้ทำให้ดวงวิญญาณกว่าล้านดวงบนเกาะ มีสภาพไม่ต่างไปจากวิญญาณที่ถูกลืม ไม่ว่าจะเป็นดวงวิญญาณจากศพไร้ญาติ หรือศพที่มีญาติก็ตาม โดยในปัจจุบันยังคงมีศพถูกส่งมาฝังที่นี่เฉลี่ยปีละ 1,500 ร่าง ตามรายงานจากกรมราชทัณฑ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเกาะ
 


          ในช่วงเริ่มต้น เกาะฮาร์ตถูกซื้อมาจากชาวอเมริกันพื้นเมืองโดยนายโธมัส เพลล์ และในปี 1868 นครนิวยอร์กก็ได้ซื้อมันมาอีกต่อหนึ่ง ในช่วงแรกเริ่ม เกาะฮาร์ตถูกใช้เป็นสถานที่ฝังร่างผู้เสียชีวิตจากสงครามกลางเมือง รวมทั้งใช้เป็นสนามฝึกหัดของทหาร เป็นคุก เป็นสถานกักกันผู้ต้องโทษระยะสั้น เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยทางจิต และเป็นแม้กระทั่งฐานปล่อยมิสไซล์ในช่วงสงครามเย็น แต่มันก็ยังคงไม่ทิ้งหน้าที่การเป็นสุสาน โดยนับตั้งแต่ปี 1869 เป็นต้นมา มีร่างไร้วิญญาณถูกฝังลงบนผืนดินของเกาะแห่งนี้กว่าล้านราย 

 


          หลุมศพบนเกาะแห่งนี้ถูกขุดโดยนักโทษที่ถูกเกณฑ์มาจากเกาะไรเกอร์ส นอกจากขุดแล้วก็มีหน้าที่ลำเลียงศพลงไปฝังด้วย ไม่ว่าจะเป็นศพทารกที่ตายระหว่างคลอด คนไร้บ้าน คนยากจน และยังมีอีกหลายต่อหลายชีวิตที่มีที่อยู่สุดท้ายร่วมกันท่ามกลางบรรยากาศเศร้าสร้อยเงียบงัน บางศพถูกฝังในหลุมเดี่ยว แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาทั้งหลายถูกฝังร่วมอยู่ในหลุมขนาดใหญ่ที่ถูกขุดขึ้น ร่างผู้ใหญ่จะถูกฝังรวมลงในหลุมหนึ่ง ส่วนทารกและเด็กที่เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อยก็จะถูกแยกไปฝังรวมกันไว้อีกหลุมหนึ่ง ทว่าไม่มีหลุมใดหรือศพใดเลยที่มีป้ายหลุมศพเป็นของตัวเอง การจำแนกบุคคลก็ไม่ละเอียดเท่าใดนัก จึงเป็นการยากยิ่งที่จะระบุได้แน่นอนว่า ผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง ๆ ถูกฝังไว้ที่จุดใดของสุสาน อาจชี้จุดได้เพียงบริเวณกว้าง ๆ เท่านั้นเอง 

 


          และเนื่องจากทางกรมราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้คนภายนอกหรือญาติเข้ามายังเกาะแห่งนี้ได้โดยไม่ได้รับอนุญาต ด้วยเหตุผลว่าโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งปลูกสร้างที่นี่ไม่เหมาะแก่การต้อนรับผู้ใด มันทั้งเก่า ทรุดโทรม และถูกทิ้งร้าง ศพที่ถูกฝังไว้ที่นี่จึงไม่เคยได้รับการเยี่ยมเยือนเลย จนกระทั่งในปี 2007 กรมราชทัณฑ์ได้รับแรงกดดันอย่างหนักในการเปิดสุสานให้เข้าถึงได้ จึงยอมให้ผู้มีความประสงค์เข้าเยี่ยมเยือนบางส่วนสามารถผ่านเข้าไปได้ แต่อย่างไรก็ดี ทางผู้ดูแลแค่อนุญาตให้อยู่ได้เพียงบริเวณอาคารรับรองเท่านั้น ซึ่งอยู่ไกลจากบริเวณที่ใช้เป็นสุสานพอสมควร นอกจากนี้ยังห้ามนำโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ติดตัวเข้าไป โดยผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าเกาะได้จะต้องแลกบัตร และฝากของทั้งหมดไว้ที่ประตูทางเข้า
 


          เอเลียนเน่ โจเซฟ วัย 59 ปี คือหนึ่งในผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมสุสานเกาะฮาร์ตเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ลูกสาวของเธอที่เสียชีวิตด้วยอายุเพียง 5 วัน ถูกฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้ เธอบอกว่ามันเป็นความผิดพลาดที่เซ็นยินยอมให้ทางโรงพยาบาลจัดการฝังร่างลูกของเธอไว้ที่สุสานสาธารณะ ที่ไม่ยอมเปิดให้เข้าเยี่ยมหลุมศพ อย่างไรก็ดี แม้เอเลียนเน่จะได้มาถึงสุสานแล้ว เธอเองก็ไม่ทราบว่าร่างของลูกถูกฝังไว้ที่จุดใด รู้แต่เพียงว่าถูกฝังรวมไว้ที่หลุมใหญ่หลุมไหนเท่านั้น ซึ่งหากเป็นไปได้ เธออยากจะก่อแท่นจำลองหลุมศพขึ้น และวางดอกไม้สวย ๆ ให้ลูกสาวสักช่อ 

          ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมสุสานอีกรายคือ นางลอรี่ แกรนท์ วัย 61 ปี ผู้สูญเสียลูกสาวไปตั้งแต่อยู่ในครรภ์เมื่อปี 1993 แต่เธอโชคไม่ดีเท่าเอเลียนเน่ วันที่ 28 มีนาคม ลอรี่ยืนรอเรือที่จะพาเธอข้ามไปยังเกาะฮาร์ตอยู่ท่ามกลางสายฝน แต่เรือก็ไม่มา เป็นไปได้ว่าคนขับเรือจะจากไปเสียก่อนที่จะถึงเวลานัด ผู้คนที่ทราบข่าวก็คาดเดาไปว่าอาจเป็นเพราะการสื่อสารที่ผิดพลาด หรืออาจเป็นเพราะเกาะฮาร์ตไม่ยินดีต้อนรับเธอก็เป็นได้ 
 


          ในปัจจุบันนี้ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าร่างของบุคคลอันเป็นที่รักผู้ล่วงลับถูกฝังไว้ที่ใด ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจนอนหลับอย่างสงบและเศร้าสร้อยอยู่ที่สุสานเกาะฮาร์ตแห่งนี้ นางเมลินดา ฮันท์ ศิลปินสาวจากนิวยอร์ก จึงได้ก่อตั้งโครงการชื่อว่า The Hart Island Project ขึ้นมา เพื่อรวบรวมรายนามของผู้เสียชีวิตที่ถูกฝังร่างไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยในตอนนี้รวบรวมได้กว่า 60,000 ชื่อแล้ว มีบรรดาญาติ ๆ ของผู้เสียชีวิตที่สงสัยว่าร่างไร้ลมหายใจของบุคคลที่ตนรักอาจถูกฝังอยู่ที่สุสานเกาะฮาร์ตเข้ามาขอความช่วยเหลือในการตามหาจากเธอด้วย ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวอเมริกัน บางส่วนก็เป็นชาวต่างชาติ เช่น ชาวฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และหนึ่งในนั้นยังมีหญิงชาวไอริชที่กำลังตามหาร่างคุณปู่ของเธอ 

          ล่าสุดนี้ มีร่างกฎหมายถูกเสนอต่อสภาของเมืองให้เปลี่ยนมือในการดูแลเกาะฮาร์ตมาอยู่ภายใต้หน่วยงานบริหารรัฐกิจส่วนสวนสาธารณะแทน หวังให้มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายข้อนี้ยังไม่ได้ถูกยกขึ้นมาพิจารณา ในตอนนี้สุสานเกาะฮาร์ตจึงยังคงเป็นสุสานที่อ้างว้างต่อไป จนกว่าจะได้รับการปรับปรุงและจัดระบบการดูแลจัดการเสียใหม่ และเมื่อนั้นหลายแสนครอบครัวที่มีบุคคลเป็นที่รักถูกฝังร่างไว้ในผืนดินแห่งนี้ คงได้แวะเวียนมาเยี่ยมเคารพหลุมศพได้ทุกเมื่อที่ต้องการ และมันจะไม่เป็นสุสานที่ถูกลืมอีกต่อไป

 

 

 


 


 


คลิป HART ISLAND MASS BURIAL 1990 โพสต์โดยคุณ hartislandproject


คลิป Hart Island Cemetery: Hidden in plain sight โพสต์โดยคุณ Al Jazeera English


คลิป Grave Island: Relatives struggle to visit deceased at off-bounds US cemetery โพสต์โดยคุณ NewsOnRT
Credit: http://hilight.kapook.com/view/100539
#เกาะฮาร์ต
Lost City
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
10 เม.ย. 57 เวลา 18:39 2,407 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...