"เอ็นเซลาดัส" แหล่งชีวิตนอกโลก?
เอนเซลาดัส (อังกฤษ: Enceladus; IPA: /ɛnˈsɛlədəs/[ก]) มีชื่อเล่นว่า Saturn II เป็นดาวบริวารขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของดาวเสาร์ ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ-เยอรมันนามว่า วิลเลียม เฮอร์เชลเมื่อปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332)[2] ปัจจุบันคาดว่าดวงจันทร์ดวงนี้อาจมีน้ำในสถานะของเหลวอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมผิวดาว นอกจากนี้บริเวณขั้วใต้ยังปรากฏภูเขาไฟน้ำแข็ง (cryovolcano) ซึ่งพ่นอนุภาคน้ำแข็งขนาดเล็กขึ้นสู่ท้องฟ้า อนุภาคบางส่วนได้ตกลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในรูปของหิมะ แต่บางส่วนก็กระจายไปในอวกาศ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนดาวเสาร์ หรือกระจายไปจนถึงดาวเสาร์ก็มี และเนื่องจากเอนเซลาดัสมีการปรากฏอยู่ของน้ำ ดาวดวงนี้จึงเป็นสถานที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งในการค้นหารูปแบบของสิ่งมีชีวิตนอกโลกของมนุษย์ เช่นเดียวกับ ยูโรปา ซึ่งเป็นดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี แต่แตกต่างกันที่น้ำในดาวดวงนี้คาดว่าถูกปิดกั้นอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งที่หนามาก
นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานชี้ชัดแล้วว่า "เอ็นเซลาดุส" ดวงจันทร์ขนาดเล็กที่เป็นดาวบริวารของดาวเสาร์ มีมหาสมุทรที่คงสภาพเป็นของเหลวอยู่ภายใต้เปลือกนอกที่เป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้ดาวบริวารของดาวเสาร์ดวงนี้กลายเป็นตัวเก็งอันดับแรกสุด ที่มนุษย์อาจค้นพบสิ่งมีชีวิตนอกเหนือไปจากสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกแล้ว
เอ็นเซลาดุส เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุริยจักรวาลส่วนนอก ได้สมญาว่าเป็นดาว "พิลึก" หลังจากที่ "คาสซินี" ยานสำรวจดาวเสาร์ขององค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกาตรวจสอบลำน้ำพุพวยพุ่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากพื้นผิวที่เป็นน้ำแข็งของมันเมื่อปี 2005 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่มีขนาดประมาณ 1 ใน 7 ของดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของโลกดวงนี้ จริงๆ แล้วมีสภาวะทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ได้นิ่งสนิทอย่างที่เคยคิดกัน
เมื่อคาสซินีที่โคจรอยู่โดยรอบดาวเสาร์มีโอกาสได้สำรวจและถ่ายภาพเอ็นเซลาดุสมากครั้งขึ้น ผลการตรวจสอบแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีรอยแตกขนาดใหญ่ บริเวณเปลือกนอกของพื้นผิวด้านขั้วใต้ซึ่งถูกขนานนามว่า "ไทเกอร์สตริปส์" คาสซินียังเคยบินผ่านน้ำพุร้อนที่พวยพุ่งขึ้นสู่อวกาศของมันเพื่อเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบองค์ประกอบของน้ำพุร้อนดังกล่าว
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้แน่ชัดว่า น้ำพุร้อนดังกล่าวเกิดจากแหล่งน้ำที่คงสภาพเป็นของเหลวอยู่ใต้เปลือกนอกที่เป็นน้ำแข็งของมัน หรือเกิดจากการที่แผ่นน้ำแข็งที่ประกอบขึ้นเป็นเปลือกนอกของเอ็นเซลาดุสเสียดสีซึ่งกันและกันแล้วสะสมความร้อนจนกลายสภาพเป็นของเหลวแล้วพวยพุ่งขึ้นมา อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่้อว่า แนวโน้มที่ว่า ภายใต้เปลือกน้ำแข็งหนาของเอ็นเซลาดุสมีน้ำที่คงสภาพเป็นของเหลวอยู่น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า
ลูเซียโน ไอเอสส์ นักดาราศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยซาปีเอนซา ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ระบุว่า ก่อนหน้าที่จะมีหลักฐานชี้ชัดจากคาสซินี นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็เชื่อกันอยู่ก่อนแล้วว่าน่าจะมีน้ำในสภาพของเหลวบนเอ็นเซลาดุส แต่มีปัญหาในเรื่องปริมาณว่า เป็นแหล่งน้ำเพียงตื้นๆ หรือมีมวลน้ำมหาศาลกันแน่ แต่ข้อมูลจากคาสซินี ชี้ให้เห็นว่า มหาสมุทรบนเอ็นเซลาดุสนั้นมีมวลพอๆ กับมวลน้ำในทะเลสาบสุพีเรียของสหรัฐอเมริกา มีความลึกราวๆ 9.6 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับความลึกตรงจุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรบนโลก
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ขณะที่คาสซินีโคจรเฉียดผ่านพื้นผิวของดาวบริวารของดาวเสาร์ดวงนี้ในระยะใกล้ คือในระยะห่างเพียง 100 กิโลเมตรนั้น แรงโน้มถ่วงของเอ็นเซลาดุสที่มีต่อคาสซินี ไม่สม่ำเสมอกันตลอดระยะทาง โดยจะมีแรงโน้มถ่วงบริเวณใกล้กับขั้วใต้มากกว่าบริเวณอื่นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในบริเวณดังกล่าวมีแหล่งน้ำในสภาพของเหลวอยู่ภายใต้เปลือกนอกที่เป็นน้ำแข็งตลอดเวลาและมีความหนาไม่น้อยกว่า 32 กิโลเมตร
ข้อเท็จจริงที่ว่า มวลของน้ำในสภาพของเหลวมีมวลหนาแน่นกว่ามวลของน้ำในสภาพที่เป็นน้ำแข็งนั่นเองที่ส่งผลให้มีแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อคาสซินีสูงกว่าพื้นที่บริเวณอื่นที่เป็นพื้นผิวน้ำแข็ง
จากการพล็อตแผนที่กับสภาวะแรงโน้มถ่วงดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์พบว่า มหาสมุทรของเหลวบนเอ็นเซลาดุสอาจกินอาณาบริเวณเกินเส้นละติจูดที่ 50 ไปทางใต้ด้วยซ้ำไป และทำให้มีโอกาสมากที่สุดที่มันจะกลายเป็นแหล่งมีสิ่งมีชีวิตนอกเหนือจากโลก
เป็นความเป็นไปได้สูงชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ในทีมคาสซินีเชื่อว่า ถ้าหากเจาะจงต้องการหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกแล้ว
ที่นี่คือสถานที่ที่มนุษย์ควรไปตรวจสอบมากที่สุด!
Credit http://www.matichon.co.th/