คลังชี้ช่องคืนเงินจำนำข้าว ใช้งบกลางจ่ายแทนหากไม่ครบ (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
บัญชีกลางแจง 3 ช่องทางคืนเงินทดรองราชการ 2 หมื่นล้านบาทในโครงการรับจำนำข้าว ชี้หากสุดวิสัยหาเงินไม่ทันตามกำหนด 31 พ.ค. สามารถขอยืดเวลาได้
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2557 ถึงแนวทางการจ่ายเงินคืนเงินคงคลัง 2 หมื่นล้านบาทของกรมการค้าต่างประเทศ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้อนุมัติให้เบิกเป็นเงินทดรองราชการจ่ายแก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีใบประทวนก่อน 9 ธันวาคม 2556 ในโครงการรับจำนำข้าว ว่า เงินที่จะนำมาจ่ายคืนเงินคงคลังจะมาจาก 3 ทาง คือ เงินงบกลาง กระแสเงินสดจากกระทรวงคลัง เช่น เงินกู้ และเงินจากการระบายข้าว
ทั้งนี้ ทางกรมการค้าต่างประเทศจะต้องเป็นผู้นำเงินนี้ส่งคืนให้กรมบัญชีกลาง หากเงินที่ได้จากการระบายข้าวไม่ครบ 2 หมื่นล้านบาท เงินส่วนที่ขาดจะต้องมาจากอีก 2 แหล่งที่เหลือ คือ เงินงบกลาง และเงินกู้จากกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นสามารถขอขยายเวลาการจ่ายเงินออกไปได้ แต่เห็นว่าไม่สมควร เพราะทาง กกต. ยืนยันขอให้มีการใช้เงินคืนก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้
"ถ้าถึงกำหนดแล้วขายข้าวได้ไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท ก็เอางบกลางมาจ่ายแบบขาดไปได้ เรื่องนี้มีการหารือกับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งขณะนี้ฐานเงินคงคลังมีกว่า 2.06 แสนล้านบาท เงินนี้เตรียมไว้สำหรับงบกลาง เช่น กรณีภัยแล้ง หรือแม้กระทั่งเตรียมการเลือกตั้งใหม่ที่คาดว่าต้องใช้เงิน 3.8 พันล้านบาท" นายมนัสกล่าว
นายมนัสยังกล่าวถึงการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของราชการว่า ในช่วง 6 เดือนแรกปีงบ 2557 ยังอยู่ในเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท จากเงินที่ได้รับจัดสรรมาทั้งปี 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่เพิ่มขึ้นมาก เป็นผลการการส่งเสริมให้ใช้ยาอย่างมีเหตุผล ลดการใช้ยานอก โดยให้ใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นยาอันดับแรก ช่วยให้กรมบัญชีกลางลดค่าใช้จ่ายด้านยาได้ประมาณ 3% และสถานพยาบาลจะมีกำไรส่วนต่างประมาณ 19.5%
อย่างไรก็ตาม ค่ายาที่ลดลงทำให้กรมบัญชีกลางสามารถเพิ่มสิทธิประโยชน์ในด้านอื่นๆ ให้กับข้าราชการ เช่น การปรับอัตราค่าห้องพิเศษจาก 600 บาท เป็น 1 พันบาท ใช้เงินเพิ่มขึ้น 1.2 พันล้านบาทต่อปี และเพิ่มอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคเพิ่มเติมกว่า 95 รายการ ใช้งบเพิ่มขึ้น 826 ล้านบาท โดยมีอุปกรณ์ที่มีราคาแพงที่สุดที่สามารถเบิกได้ คือ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าของสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) สำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่มีราคาสูงถึง 8 แสนบาทต่อเครื่อง โดยอุปกรณ์ที่เพิ่มให้นี้นอกจากจะช่วยลดจำนวนวันนอนในสถานพยาบาลแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคที่มีราคาแพงอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก