ฤดูร้อนจัดเป็นฤดูที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารมาก ที่ สุด เพราะอาหารที่เราทำจะบูดและเสียได้ง่าย วันนี้เรามี 10 เมนูอันตราย เสี่ยงอาหารเป็นพิษ ในช่วงหน้าร้อนนี้มาฝากค่ะ
โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคหนึ่งที่พบระบาดในช่วงหน้าร้อน ซึ่งการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ช่วงหน้าร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นช่วงที่อากาศในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงมาก แถมยังเป็นช่วงเทศกาลมีวันหยุดต่อเนื่องยาว ประชาชนมักถือโอกาสท่องเที่ยว กลับภูมิลำเนา มีงานเลี้ยงฉลอง มีงานบุญ จึงมีการรับประทานอาหารร่วมกัน
10 เมนูอันตราย เสี่ยงอาหารเป็นพิษ
ดังนั้น สิ่งที่พบบ่อยตามมา คือ การเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารไม่สะอาด อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ และอาหารที่ทำล่วงหน้าเกิน 4 ชั่วโมง โดยอากาศร้อน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้เร็ว ส่งผลให้อาหารบูดง่าย
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ พบว่า ตลอดทั้งปี พ.ศ.2554 มีผู้ป่วย 100,534 ราย สำหรับปี พ.ศ.2555 ตั้งแต่ 1 มกราคม-26 มีนาคม พบผู้ป่วย 26,811 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยพบภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ป่วยสูงสุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราการป่วยสูงสุด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ รองลงมาเป็นอุบลราชธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น และพิษณุโลก ตามลำดับ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยเมนูท็อปฮิตอันตรายหน้าร้อน จากการสอบสวนโรคจากผู้ป่วยพบ 10 เมนูอันตรายดังนี้…
1. ลาบ/ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ
2. ยำกุ้งเต้น
3. ยำหอยแครง
4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมาก เช่น อาหารกล่องแจกนักเรียนหรือคณะท่องเที่ยว
5. อาหาร/ขนม ที่ราดด้วยกะทิสด
6. ขนมจีน
7. ข้าวมันไก่
8. ส้มตำ
9. สลัดผัก
10. น้ำแข็ง
ส่วนอาหารปิ้งย่างที่นิยมรับประทานกัน เช่น หมูกระทะ กุ้งกระทะ ช่วงหน้าร้อนนี้ควรปิ้งให้สุกจะได้ปลอดภัยจากอาหารเป็นพิษ ส่วนอาหารถุงอาหารกล่อง อาหารห่อ ต้องรับประทานภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงสุก หากเป็นอาหารค้างคืน ต้องอุ่นทำให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง ที่สำคัญ อย่าลืมว่า ฤดูร้อนผู้ปรุงอาหารต้องปรุงอาหารให้ สุก ร้อน สะอาด ส่วนผู้บริโภคต้อง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม โรคอาหารเป็นพิษ มีอาการสำคัญคือ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ อุจจาระร่วง ซึ่งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายอุจจาระ การรักษาในเบื้องต้นควรให้สารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากไม่มีสามารถทดแทนได้โดยใช้น้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ หรือประมาณ 750 ซีซี ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชาผสมให้เข้ากัน ทิ้งให้เย็นลง แล้วรับประทานแทนน้ำ
หรือไม่เช่นนั้น ให้ทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือน้ำข้าว หรือแกงจืด โดยไม่งดอาหารรวมทั้งนมแม่(กรณีของเด็ก) ส่วนเด็กที่ดื่มนมผสมให้ผสมเหมือนเดิม แต่ปริมาณลดลงและให้สลับกับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่
ทว่า รักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ทุเลาลง ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย เป็นอันตรายมากขึ้น
ขอบคุณ : BKK porttime