10 ข้อผิดพลาดของการซื้อบ้านใหม่



 

10 ข้อผิดพลาดของการซื้อบ้านใหม่

 

 

  1.อย่าให้ใจทำงานเกินสมอง

ตราบใดที่ปล่อยให้ความอยากได้ที่เกิดจากใจเป็นตัวควบคุมการสั่งการในการ ซื้อบ้านใหม่ เราอาจขาดความรอบคอบในการพิจารณา บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่จะขายความฝันด้วยภาพโฆษณา ตกแต่งห้องด้วยมูลค่าที่อาจแพงกว่าราคาห้องด้วยซ้ำไป แต่งเติมในโฆษณาด้วยคอมพิวเตอร์กราฟฟิค สร้างอารมณ์ให้อยากอยู่ในสภาพอย่างนั้น เมื่อตัดสินใจบนใจไม่ไม่เป็นปกติ จึงอาจก่อให้เกิดความผิดหวังในภายหลังเมื่อเข้าไปอยู่จริง

2. อย่าติดกับดัก “ผ่อนดาวน์น้อย”

ในยุค 4-5 ปีที่ผ่านมาโครงการส่วนใหญ่มักมีกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยการให้ผู้อยากได้ บ้าน-คอนโดฯ สามารถผ่อนดาวน์ได้ในอัตราต่ำมากๆ อาทิ บ้าน-คอนโดฯ ราคา 2 ล้านบาท แต่ให้ผ่อนดาวน์งวดละ 5 พันบาท คนเงินเดือน 2 หมื่นบาทไปเผลอคิดว่าผ่อนเดือนละแค่ 5 พัน เงินยังเหลืออีกตั้ง 15,000 บาท ไม่เป็นปัญหาแน่ ที่ไหนได้ พอผ่อนดาวน์จบ อาจเหลือยอดเงินที่ต้องกู้ธนาคารเกือบ 2 ล้าน รับรองว่าไม่มีสถาบันการเงินใดปล่อยกู้เต็มวงเงินจากฐานเงินเดือนของคุณแน่ จากนั้นก็ตัวใครตัวมัน เงินจอง เงินดาวน์อาจถูกยึดก็ได้ 

3. อย่าคิดไปตายเอาดาบหน้า น้ำบ่อหน้าอาจไม่มีจริง

หากคิดจะซื้อบ้านโดยที่ไม่มีเงินเก็บเลย หรือหากเป็นคนไม่มีระเบียบวินัยทางการเงินมาก่อน ทางที่ดีจงอย่าได้ตัดสินใจซื้อในขณะนั้น เพราะการหยิบยืมเงินญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมาทำสัญญา อาจทำให้ท่านสะดุดกับภาระดังกล่าวทีหลัง เพราะไหนจะต้องผ่อนดาวน์รายเดือน หรือบางโครงการอาจต้องจ่ายเงินก้อนอีกเป็นระยะๆ การไปคาดหวังว่าผ่อนๆ ไปก่อน เดี๋ยวเงินเดือนก็ขึ้น เดี๋ยวก็ได้โบนัส มันอาจไม่เป็นจริง ไม่มีใครล่วงรู้อนาคตว่าท่านจะยังได้ทำงานมีเงินเดือนเหมือนเดิมหรือไม่

4. อย่าเน้นของถูกเป็นหลัก เพราะของดีราคาถูกไม่มีจริงบนโลกใบนี้

บ้าน-คอนโดฯ เป็นทรัพย์ที่มีราคาผันแปรตามทำเล และคุณภาพวัสดุก่อสร้างเป็นหลัก ฉะนั้นอย่าได้หวังว่าจะเจอของดีราคาถูก ทำเลในเมืองย่อมดีกว่า แพงกว่าทำเลนอกเมือง โครงการที่ใช้สุขภัณฑ์เกรดดี ย่อมมีต้นทุนสูงกว่าสุขภัณฑ์ไม่มียี่ห้อ หากคุณเจอโครงการทำเลดี วัสดุดี แต่ราคาถูกแล้วละก้อ ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าเชื่อถือได้หรือไม่ โครงการจะไปรอดหรือไม่ เจ้าของโครงการเป็นใครกัน? 

5. อย่าฝากความหวังไว้กับโครงการสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคต

หลายคนที่ซื้อโครงการที่อยู่นอกเมืองที่ออกไปไกลมาก หรือไม่ก้ออยู่ในซอยลึกสุดๆ เพียงเพราะคิดว่ามันราคาถูก แต่อีกไม่นานน่าจะมีโครงการถนนเส้นโน้นตัดผ่าน เส้นนี้ตัดผ่าน หรือไม่ก็มีโครงการขยายถนนนั่นนี่ แต่ขอบอกไว้เลยว่ามันไม่ง่ายอย่างนั้น บางโครงการต้องรอ 10 ปี 20 ปี หรือบางโครงการอาจยกเลิกไปเนื่องจากการเมืองเปลี่ยนขั้ว แต่เมื่อท่านซื้อไปแล้วก็ต้องทนกับการเดินทางไกล หรือไม่ก็อันตรายจากการเดินทางในซอยเปลี่ยวลึก

6. อย่าลงนามสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่อ่าน เพียงเพราะเชื่อใจในชื่อเสียงบริษัท

เพื่อป้องกันความขัดแย้ง เข้าใจไม่ตรงกันในภายหลัง โดยเฉพาะตอนที่จะนัดโอนกรรมสิทธิ์กันนี่แหละ มาเห็นยอดเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้นเพราะขนาดพื้นที่ใช้สอยของห้องใหญ่ ขึ้น (มักเกิดขึ้นกับโครงการอาคารชุด) หรือไม่ว่าจะสร้างเสร็จก่อนกำหนด สร้างเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดก็เกิดปัญหาข้อขัดแย้งได้ทั้งสิ้น อาทิ ผู้ซื้อเตรียมยอดเงินโอนไว้ตามแผนตามที่ได้คุยกับพนักงานขายไว้เบื้องต้นว่า เป็นวันไหนเดือนใด แต่บังเอิญโครงการสร้างเสร็จเร็ว โครงการบังคับให้โอนเลย เพราะในสัญญาเปิดช่องไว้ หากไม่รับโอนตามที่เขาแจ้งมา อาจถูกปรับหรือริบเงินดาวน์ได้ คราวนี้เมื่อต้องโอนก่อนเวลา คุณจะบริหารจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ของตนเองอย่างไรล่ะ ทางที่ดีควรอ่านสัญญาให้ละเอียด ถามทุกคำถามที่สงสัย

7.อย่ามองโลกด้านเดียว บ้านติดสวน หรือสนามเด็กเล่นคอนโดวิวสระว่ายน้ำ ไม่ได้สวยงามเสมอไป

พวกโลกสวย มักมองเรื่องราวต่างๆ เพียงด้านเดียว ท่านอาจชอบความเป็นธรรมชาติของสวน ท่านอาจชอบวิวสระว่ายน้ำเพราะดูสบายตาดี แค่ท่านต้องรับกับสภาพความเป็นจริงให้ได้จากเสียงเล่นกันสนุกสนานของเด็กๆ ทั้งจากสนามเด็กเล่นที่มักอยู่ในส่วนเดียวกับสวน หรือเสียงการกระโดดเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ หากท่านต้องการความสงบเป็นส่วนตัวแล้ว ลองพิจารณาอีกสักนิดว่าจะเลือกบ้านแปลงไหน หรือคอนโดห้องไหนดี

8.อย่าซื้อบ้านที่ฟังก์ชั่นไม่ตอบสนองความต้องการของท่าน โดยคิดว่าต่อเติมทีหลังได้

เพราะการต่อเติมบ้านทีหลัง ไม่ว่าจะต่อห้องครัว ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น ห้องพระ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ส่วนที่ต่อเติมมักเกิดรอยแตกร้าว และทรุดตัว รักษาไม่ค่อยหายขาด อยู่ไปหงุดหงิดไป ฝนตก น้ำซึมเข้ารอยแยกเสมอ

9.อย่าซื้อบ้านที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรหรือซื้อคอนโดที่ยังไม่ได้ใบอนุญาตก่อสร้าง + EIA

การทำโครงการบ้านจัดสรร กฎหมายบังคับให้ต้องขออนุญาตจัดสรร ส่วนโครงการอาคารชุด นอกจากจะต้องมีใบอนุญาตก่อสร้างแล้ว เรื่องการผ่านEIA ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายโครงการไม่สามารถสร้างได้เพราะติดเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA

10.อย่ายอมรับโอนบ้านหรือห้องชุด ในสภาพที่ไม่เสร็จ หรือมีปัญหาต้องซ่อมแซม โดยเชื่อคำมั่นสัญญาของโครงการว่าจะดำเนินการให้

เพราะวันที่เขาได้เงินคุณไปแล้ว กับวันที่เขายังไม่ได้เงินของคุณ การปฏิบัติต่อคุณจะแตกต่างกันมาก มันอาจกลายเป็นภาระของคุณเองที่ต้องซ่อมแซมจัดการเองภายหลัง ทั้งหมดเป็นข้อแนะนำเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจครั้งสำคัญ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง

 


 
Credit: http://board.postjung.com/757611.html
4 เม.ย. 57 เวลา 09:25 952 130
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...