คำด่า "เหี้ย" นี้เราได้แต่ใดมา?

 

 

จู่ ๆ ก็มีกระแสข่าวออกมาว่านายชัชวาล พิศดำขำ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอให้มีการเปลี่ยนชื่อตัว "เหี้ย" เป็น "วรนุช" (หรือ "วรนุส") ตามชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสัตว์ประเภทนี้ที่ว่า Varanus salvator แม้ต่อมานายชัชวาลจะออกมาแก้ข่าวว่า ตนไม่เคยเสนอให้เปลี่ยนชื่อสัตว์ชนิดดังกล่าวแต่อย่างใด ทว่าสำหรับสังคมไทยแล้ว ก็อาจมีคำถามที่น่าสนใจเกิดขึ้นตามมาว่า ชื่อของสัตว์อย่าง "เหี้ย" นั้นถูกผู้คนนำมาใช้เป็นคำด่าในเชิงเสียหายด้วยเหตุผลใดกันแน่? มีผู้เสนอว่า ในสมัยอดีต ชาวบ้านมักจะเลี้ยงไก่ไว้ในบริเวณบ้าน แต่ตัวเหี้ยกลับชอบมาขโมยไก่เหล่านั้นแล้วลากไปกินในน้ำ ทำให้เหี้ยกลายเป็นสัตว์ที่ผู้คนเกลียดชังเป็นอย่างมาก กระทั่งชื่อของมันถูกนำมาใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีว่า"เหี้ย" และกลายเป็นคำด่าทอมาจนปัจจุบัน

 

 

สัตว์อย่างตัวเหี้ยยังมีความเกี่ยวพันกับคำด่าสำคัญอีกคำหนึ่งของสังคมไทย นั่นคือ"อีดอก" เพราะว่าลวดลายบนร่างกายของตัวเหี้ยนั้นจะเป็นลายดอก ต่างจากตะกวดหรือสัตว์ตระกูลเดียวกันที่มีลวดลายบนร่างกายเป็นลายอื่น ๆ ดังนั้นคำ ๆ นี้จึงถูกนำมาใช้เป็นคำด่าทอผู้หญิงที่ประพฤติตนไม่ดีในที่สุด นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อว่าถ้าเหี้ยขึ้นบ้านใคร บ้านนั้นจะมีแต่ความโชคร้าย ด้วยเหตุนี้จึงมีการเปลี่ยนชื่อเรียกของสัตว์ชนิดนี้ให้ฟังดูดีมีสิริมงคลว่า "ตัวเงินตัวทอง" ในทางกลับกัน สัตว์อย่างเหี้ยก็ถูกกล่าวถึงไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา โดยไม่ได้มีความหมายที่สื่อแสดงถึงความเลวร้ายน่าเกลียดน่ากลัวแต่อย่างใด ทั้งยังอาจมีนัยเปรียบเปรยไม่ให้เราตัดสินผู้คนจากรูปกายที่ดูดีภายนอกอีกด้วย

 

 

โดยพระสุตตันปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่ม 19 หน้า 45 โคธชาดก ได้กล่าวถึงตัวเหี้ยเอาไว้ในนิทานชาดกเรื่องฤๅษีหลอกกินเหี้ยว่า พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดเหี้ย อาศัยอยู่ที่จอมปลวกแห่งหนึ่ง ใกล้ที่จงกรมของดาบส และมักไปหาดาบสเป็นประจำทุกวัน เพื่อฟังธรรม ไหว้ดาบส ต่อมามีดาบสโกงเข้ามาอาศัยแทนดาบสคนเดิมที่ออกจากหมู่บ้านไป ชาวบ้านได้ทำอาหารปรุงจากเนื้อเหี้ยให้ดาบสโกงรับประทาน จนเขาติดใจในรสชาติ และวางแผนฆ่าเหี้ยตัวที่มักมาหาดาบสคนเดิมทำเป็นอาหาร แต่เหี้ยรู้ทันจึงหนีพ้นมาได้ และกล่าวติเตียนดาบสว่า "นี่เจ้าผู้โง่เขลา จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า ด้วยชฎาและการนุ่งห่มหนังเสือเหลือง ภายในของเจ้าแสนจะรกรุงรัง เจ้าดีแต่ขัดสีภายนอกเท่านั้น" อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามน่าสนใจอยู่ว่าผู้คนในสังคมไทยนั้นนำชื่อของ "เหี้ย" มาใช้เป็นคำด่าทอตั้งแต่เมื่อใด? ซึ่งนักภาษาศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์ หรือนักประวัติศาสตร์ผู้มีภูมิความรู้ทั้งหลาย น่าจะเป็นผู้ที่ให้คำตอบแก่คำถามดังกล่าวได้ดีที่สุด

 

 

Credit: http://campus.sanook.com/u_life/knowledge_05478.php
4 เม.ย. 57 เวลา 00:51 8,417 2 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...