รอยล รับน้ำปี 2557 ใกล้เคียง 2544 เตือนรับมือน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

        รอยล จิตรดอน รับปริมาณน้ำปี 2557 ใกล้เคียงกับปี 2544 เตือนรับมือน้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่ม พบกรุงเทพฯ เผชิญฝนตกหนักเช่นเดียวกับหลายภูมิภาคของประเทศไทย

        เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยถึงผลสถานการณ์น้ำในปี 2557 ว่า จากการคาดการณ์อากาศปี 2557 ด้วยการใช้แบบจำลองควบคู่ ซึ่งเป็นการคาดการณ์แบบ 5 มิติ ที่นำข้อมูลจากความชื้น ลม ฝน อุณหภูมิ และการแผ่รังสี มาประมวลผลร่วมกัน และจากการประมวลผลดังกล่าว พบว่า ปริมาณน้ำฝนในประเทศไทยค่อนข้างสูง เทียบเท่ากับปี 2544 โดยสามารถระบุ ปริมาณน้ำฝนในแต่ละภูมิภาคอย่างคร่าว ๆ ได้นี้

        1. เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม 2557 จะพบว่า ทางพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างและภาคตะวันออกมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ ขณะที่บริเวณตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงพื้นที่ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะพบว่ามีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ 

        2. เดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม 2557 ในช่วงเวลานี้ ทั่วทุกภาคของประเทศจะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ แต่ด้านตะวันออกของภาคเหนือและภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง พบว่า มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติ ขณะที่พื้นที่ตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ

        3. เดือนพฤษภาคม 2557 พบว่า ภาคตะวันออก จะมีปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ประมาณ 400 มิลลิเมตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ดังกล่าวได้

        นายรอยล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้เชื่อว่า ปี 2557 ในบางพื้นที่ของประเทศต้องเผชิญปัญหาฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่แคบอย่างพื้นที่ อ.น้ำก้อ จ.เพชรบูรณ์ รวมถึงกรุงเทพฯ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนัก จนไม่อาจระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทัน 

        นอกจากนี้ นายรอยล ยังได้เปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับแนวทางพัฒนาโครงสร้างน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ ขณะนี้ ได้มีการแบ่งการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำยมเป็น 3 ส่วน คือ ยมบน ยมกลาง และยมล่าง  และสำหรับแนวทางพัฒนาโครงสร้างน้ำครั้งนี้ จะไม่เน้นไปที่การสร้างเขื่อนเพียงอย่างเดียว แต่จะมีดำเนินการอย่างอื่นเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาควบคู่ไปด้วย อาทิ การปรับปรุงคลองดิน การสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังในเขตชุมชน การฟื้นฟูป่า สร้างป่าเศรษฐกิจ การจัดระเบียบน้ำ เป็นต้น




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

Credit: http://thaiflood.kapook.com/view85325.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...