รวมชุดแต่งงานจาก 10 ประเทศอาเซียน

 

 

 

 

 

ชุดแต่งงานของประเทศพม่า

คู่บ่าวสาวชาวพม่ายังคงนิยมสวมชุดประจำชาติในพิธีแต่งงาน   โดยทั้งสองฝ่ายจะสวมลองยี (Longyi) ผ้าโสร่งที่ใช้สำหรับวาระพิเศษ  ฝ่ายชายสวมเสื้อแขนยาวคอจีน และผ้าโพกศีรษะเรียกว่ากองบอง (Guang Baung) ฝ่ายหญิงสวมเสื้อกระดุมข้างและมีผ้าคลุมไหล่ทับอีกชั้น  ทรงผมนิยมเกล้าข้างหรือเกล้ามวยสูง ติดเครื่องประดับทองหรืออัญมณีสูงค่า

ชุดแต่งงานของประเทศฟิลิปปินส์

เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์มีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ  บ่าวสาวส่วนใหญ่จัดพิธีแต่งงานภายในโบสถ์  เจ้าสาวส่วนใหญ่นิยมสวมชุดแต่งงานแบบสากล  ส่วนฝ่ายเจ้าบ่าวและญาติฝ่ายชาย จะสวมเสื้อบารอง ตากาล็อก (Barong Taglog) ซึ่งเป็นเสื้อคอตั้ง แขนยาว ตัดเย็บจากใยสัปปะรด  ที่ด้านหน้าและปลายแขนปักลวดลายสวยงาม

ชุดแต่งงานของประเทศอินโดนีเซีย

เจ้าสาวชาวอินโดนีเซียจะสวมชุดเกบายา (Gebaya)  ชุดแขนยาวผ่าหน้า  มีกาปักลายฉลุหรือตกแต่งด้วยลูกไม้อย่างประณีตสวยงาม  สวมกระโปรงหรือผ้าถุงบาติกยาว  หากเป็นมุสลิมจะคลุมผ้าฮิญาบที่ศีรษะ  ส่วนฝั่งเจ้าบ่าวจะสวมเสื้อแขนยาว – กางแกงขายาวที่ตัดเย็บจากผ้าบาติก นุ่งโสร่งสั่นแบบชวาทับอีกชั้น  ถือเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมแบบมุสลิมและชวาออกมาได้อย่างสวยงามลงตัว

ชุดแต่งงานของประเทศสิงคโปร์

เพราะสิงคโปร์มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างหลากหลาย  คู่รักสมัยใหม่จึงนิยมสวมชุดแต่งงานตามแบบสากล  หากแต่ยังคงดำรงวัฒนธรรมของชนชาติตัวเองไว้ในพิธีการบางขั้นตอน  เช่น ชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน (ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ) จะยังคงสวมชุดแต่งงานแบบจีนในพิธียกน้ำชาตามธรรมเนียมโบราณ

 

ชุดแต่งงานของประเทศลาว

สาวลาวจะนุ่งซิ่นสวมเสื้อแขนกระบอก  ห่มสไบที่เข้ากับผ้าซิ่นทับเสื้อีกหนึ่งชั้น  พร้อมด้วยเครื่องประดับทองครบชุด  ทรงผมนิยมเกล้ามวยประดับด้วยปิ่นหรือสายสร้อยทอง  ส่วนฝ่ายเจ้าบ่าวสวมชุดสูทสากล หรือนุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อกระดุม 7 เม็ด คล้ายเสื้อพระราชทานของบ้านเรา 

 

ชุดแต่งงานของประเทศบรูไน

หนึ่งในกลุ่มประเทศมุสลิม ที่ยังคงสืบสานวัฒนธรรมการแต่งกายที่มิดชิดเรียบร้อยตามวิถีอิสลามอย่างแท้จริง  ในพิธีแต่งงานนั้นชาวบรูไนจะสวมชุดประจำชาติ ของฝ่ายชายเรียกว่าบาจู มลายู (Baju Melayu) ประกอบด้วยตัวเสื้อที่ยาวคลุมเข่า – แขนยาว  กางเกงขายาว และนุ่งโสร่งทับกางเกงอีกหนึ่งชั้น  ส่วนชุดของฝ่ายหญิงเรียกว่า บาจูกุรุง (Baju Kurung) ประกอบด้วยเสื้อแขนยาว – กระโปรงยาวสีสันสดใส ศีรษะคลุมด้วยฮิญาบ (Hijab) นิยมสวมเครื่องประดับครบชุดทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง 

ชุดแต่งงานของประเทศเวียดนาม

คู่บ่าวสาวจะสวมอ่าวหญ่าย (Ao dai) ชุดประจำชาติของชาวเวียดนาม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกี่เพ้าของจีน  ประกอบด้วยเสื้อผ้าไหมพอดีตัว สวมทับกางเกงขายาว  นิยมสวมหมวกทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว 

ชุดแต่งงานของประเทศมาเลเซีย

ชาวมาเลย์เชื้อสายมลายูจะแต่งกายชุดประจำชาติในพิธีแต่งงาน ซึ่งมีชื่อเรียกและรูปแบบคล้ายคลึงกับชาวบรูไน คือ บาจู มลายู (Baju Melayu) สำหรับฝ่ายชาย  และบาจูกุรุง (Baju Kurung) สำหรับฝ่ายหญิง  จะมีข้อแตกต่างกันในเรื่องของสีสัน ซึ่งชาวมาเลย์นิยมใส่สีเรียบๆ มากกว่าจะเน้นสีฉูดฉาดสดใส   และรายละเอียดของเนื้อผ้าและการตัดเย็บจะแตกต่างกันไปตามค่านิยมของแต่ละรัฐ  ส่วนชาวมาเลย์เชื้อสายจีน นิยมแต่งกายและจัดพิธีตามแบบสากล

ชุดแต่งงานของประเทศกัมพูชา

อีกหนึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมการแต่งกายคล้ายคลึงกับประเทศไทย  โดยฝ่ายชายจะนุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อราชปะแตน  เจ้าสาวนุ่งผ้าจีบหน้านาง ห่มสไบสีสันสดใส  ทรงผมเกล้าสูงและสวมเครื่องประดับศีรษะขนาดเล็ก ทั้งสองฝ่ายนิยมสวมเครื่องประดับทอง

 


ชุดแต่งงานของประเทศไทย

ปัจจุบัน คู่บ่าวสาวสมัยใหม่นิยมสวมชุดไทยในพิธีหมั้น หรือพิธีแต่งงานตามธรรมเนียมไทยในช่วงเช้า ก่อนจะสวมชุดแต่งงานสากลในงานเลี้ยงฉลองช่วงเย็น  ซึ่งชุดไทยที่นิยมสวมใส่กันนั้น มีทั้งชุดไทยพื้นถิ่น  ชุดไทยพระราชนิยม  และชุดไทยประยุกต์ ที่เน้นการสวมใส่ที่ง่ายและสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้น

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://wedding.bangkoksync.com/

ซ้ำขออภัยค่ะ  

Credit: http://board.postjung.com/754406.html
22 มี.ค. 57 เวลา 21:01 7,603 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...