บริษัทเฟซบุ๊กเปิดตัวเทคโนโลยี 'ดีพเฟซ' เพื่อให้โซเชียลมีเดีย สามารถระบุหน้าคนในภาพที่อัพโหลดได้แม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม จนหลายคนกังวลว่า เทคโนโลยีนี้จะละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากเกินไป
เวลาที่เราดูภาพยนตร์เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้าย เรามักเห็นเทคโนโลยีที่เครื่องคอมพิวเตอร์จับคู่หน้าของคนร้ายกับฐานข้อมูล เพื่อระบุตัวคนร้ายได้อย่างถูกต้อง หลายครั้งเราคิดว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และคงมีแต่ในหน่วยงานสำคัญๆอย่างสำนักงานตำรวจเท่านั้น
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ได้เปิดตัวโปรแกรม "ดีพเฟซ" เพื่อให้เฟซบุ๊กสามารถระบุหน้าคนในภาพที่อัพโหลดได้แม่นยำมากกว่าเดิม ด้วยความที่บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ดังกล่าว เป็นเจ้าของคลังภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเทคโนโลยีตัวใหม่ล่าสุดนี้สามารถระบุหน้าคนได้เกือบทั้งหมด ทำให้ระบบการแท็กรูปภาพทำได้ง่ายดายขึ้นมาก
โปรแกรมนี้พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยของเฟซบุ๊ก 3 คน ร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเทล อาวีฟ ของอิสราเอล ทีมนักวิจัยกล่าวว่า หลังจากเฟซบุ๊กใช้โปรแกรมนี้ ความผิดพลาดในการระบุหน้าคนลดลงจากโปรแกรมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ลงกว่าร้อยละ 25 โดยการทดลองโปรแกรมครั้งแรกใช้ข้อมูลภาพกว่า 4 ล้านรูปของคนประมาณ 4,000 คน หมายความว่า จะมีรูปของกลุ่มตัวอย่างเฉลี่ยคนละประมาณ 1,000 รูป เพื่อทดลองความแม่นยำ และปรับแก้จุดบกพร่อง จนได้มาเป็นโปรแกรม "ดีพเฟซ" ในที่สุด
โปรแกรมนี้ใช้การจำลองแบบสามมิติรูปหน้าของแต่ละคนขึ้นมา ฉะนั้น แม้ว่าภาพของเราจะหมุนไปในมุมไหนก็ตาม โปรแกรมนี้ก็สามารถระบุได้ว่ารูปไหนเป็นรูปของเราบ้าง โดยการสร้างฐานข้อมูลที่เก็บจากรูปต่างๆของเราอย่างน้อย 2 รูป ระบบจะทำการเชื่อมโยงสัดส่วนรูปหน้าของเรา เช่น ความห่างของตา 2 ข้าง ความยาวของใบหน้า ลักษณะรูปปาก เป็นต้น นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยกำลังตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาระบบการจดจำหน้าตาในวิดีโอได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
แม้ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กจะมีระบบจดจำหน้าตาของคนอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความผิดพลาดอยู่มากหากโครงสร้างใบหน้าของบางคนคล้ายกัน แต่โปรแกรม "ดีพเฟซ" จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการทดสอบครั้งสุดท้ายก่อนใช้จริง พวกเขาให้กลุ่มตัวอย่างทำบททดสอบการจับคู่บุคคลในภาพ ว่าทั้งสองภาพเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ผลออกมาว่า กลุ่มตัวอย่างสามารถตอบได้ถูกต้องประมาณ 97.53 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ โปรแกรมนี้มีความแม่นยำสูงถึงกว่า 97.25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับความสามารถของมนุษย์มาก โดยมีเพียง 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่สามารถทำคะแนนได้เยอะกว่าโปรแกรมนี้
แม้โปรแกรมนี้อาจมีประโยชน์และสะดวกสำหรับคนที่ชอบถ่ายรูปแชร์ลงในเฟซบุ๊ก แต่หลายคนกลับรู้สึกกังวลว่า โปรแกรมดังกล่าวเหมือนกำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของเรา เพราะเมื่อโปรแกรมสามารถจับคู่หน้าตา และชื่อของเราได้ นั่นก็หมายความว่า หากใครมีภาพของเรา เขาก็สามารถรู้ชื่อ และข้อมูลส่วนตัวของเราได้ด้วย ทั้งที่ปัจจุบันนี้ก็มีปัญหาเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์มากอยู่แล้ว หลังจากนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ NSA ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯแอบสอดแนมข้อมูลต่างๆผ่านทางโลกออนไลน์
ต่อไปนี้ก็จะได้รู้สักที
ที่มา: http://shows.voicetv.co.th/world-update/100469.html