เชอร์รี่แอน คดีเหยื่ออยุติธรรม รอยด่างพร้อยของวงการตำรวจไทย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            เชอร์รี่แอน ดันแคน จากคดีสะเทือนขวัญช็อกคนไทย สู่การจับแพะรับบาป และรอยด่างพร้อยในวงการตำรวจ

            หากย้อนไปเมื่อในช่วงปี 2529 คดีการหายตัวไปของนางสาว เชอร์รี่แอน ดันแคน ดูจะเป็นที่สนอกสนใจของผู้คนในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นการฆาตกรรมเด็กสาวลูกครึ่งผู้บริสุทธิ์อย่างเลือดเย็น นำไปสู่การจับกุม 5 ผู้ต้องหาที่ชาวบ้านร่วมประณามให้นำไปประหารชีวิต แต่แล้วคดีกลับพลิก !!! เมื่อพบว่าผู้ต้องหาที่ตำรวจจับกุมมานั้น เป็นผู้บริสุทธิ์ พวกเขาเป็นเพียงแพะรับบาปที่ต้องมารับโทษจากสิ่งที่ไม่ได้ก่อ ซ้ำร้ายสภาพหลังออกจากคุกยังน่าเวทนา บางคนติดโรคร้ายจนเสียชีวิต จนทำให้คดีนี้ กลายมาเป็นคดีแพะรับบาปชิ้นใหญ่ และกลายเป็นตราบาปครั้งสำคัญของวงการตำรวจไทย วันนี้ กระปุกดอทคอม จะมาย้อนรอยคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ เชอร์รี่แอน กันค่ะ

            ในช่วงเย็นของวันที่ 22 กรกฎาคม 2529 น.ส.เชอร์รี่แอน ดันแคน เด็กสาวลูกครึ่งไทย-สหรัฐอเมริกา วัย 16 ปี ได้ขึ้นรถแท็กซี่ที่หน้าโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา ซอยสุขุมวิท 101 เพื่อกลับบ้าน แต่เธอเองกลับหายตัวไปอย่างลึกลับ สร้างความกังวลใจให้ครอบครัวเป็นอย่างมาก จนต้องไปแจ้งความคนหายไว้กับตำรวจ

            กระทั่งวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 นางสงัดกับนางสายหยุด ศรีเมือง ชาวบ้านในละแวกตำบลบางปูใหม่ จ.สมุทรปราการ ได้ไปช่วยกันจับปูแถวป่าชายเลนเพื่อนำไปขาย แต่ปรากฏว่า ในวันนั้นทั้งสองคนเจอศพของผู้หญิงคนหนึ่งในร่องน้ำบริเวณป่าชายเลน ทั้งสองคนจึงรีบไปแจ้งความกับตำรวจ สภอ.สมุทรปราการ ซึ่งในตอนแรกตำรวจคาดว่าอาจเป็นสาวโรงงานในละแวกนั้น แต่เมื่อสืบไปสืบมากลับพบว่า ศพของหญิงสาวคนนั้น คือ น.ส.เชอร์รี่แอน ดันแคน
    
            เมื่อตำรวจเริ่มสืบสวน จึงมีการคาดการณ์ว่า น.ส.เชอร์รี่แอน ถูกฆาตกรรมอย่างเลือดเย็น โดยการบีบคอ และสภาพศพนั้นไม่พบบาดแผลใด ๆ ตำรวจจึงเริ่มสอบสวน มิสเตอร์โจ และนางกลอยใจ ดันแคน พ่อแม่ของ น.ส.เชอร์รี่แอน ก่อนจะสอบสวน นายวินัย ชัยพานิช เจ้าของธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งเป็นผู้ให้การอุปการะ น.ส.เชอร์รี่แอน

            ทั้งนี้ จากการสอบสวนเพื่อนสนิทของ น.ส.เชอร์รี่แอน เจ้าหน้าที่ก็พบว่า น.ส.เชอร์รี่แอน ได้เดินขึ้นแท็กซี่ที่มาจอดรับเธอหน้าโรงเรียน แต่ไม่มีใครจำรูปพรรณสัณฐานและทะเบียนของแท็กซี่ได้เลย ทำให้ตำรวจได้รับความกดดันอย่างหนัก เนื่องจากหาหลักฐานและพยานไม่ได้ ขณะที่หนังสือพิมพ์ในขณะนั้นก็กัดข่าวนี้ไม่ปล่อย เพราะเป็นคดีสะเทือนขวัญที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชน ตำรวจจึงต้องเร่งปิดคดีให้เร็วที่สุด

            ทีมสอบสวนใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการสืบคดี ก็สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ โดยมีพยานปากสำคัญคือ นายประเมิน โพชพลัด สามล้อรับจ้างที่ได้เข้ามาให้การว่า วันเกิดเหตุเห็นนายวินัย ชัยพานิช และพรรคพวก ได้แก่ นายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย, นายพิทักษ์ ค้าขาย, นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม, นายธวัช กิจประยูร ทั้งหมดเป็นลูกน้องของนายวินัย ได้ลงมาจากรถแท็กซี่ โดยที่นายรุ่งเฉลิม และนายพิทักษ์ กำลังประคองเหยื่อออกมาในสภาพสลบ ส่วนนายวินัย นายกระแสร์ นายธวัช เดินตามมาข้างหลัง ตนจึงเข้าไปถามว่า มีอะไรให้ช่วยหรือไม่ แต่ทั้งหมดก็ปฏิเสธ ซึ่งเมื่อนายประเมินได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ก็เริ่มจำได้ เพราะเด็กผู้หญิงที่ถูกประคองนั้นหน้าตาสวยเป็นลูกครึ่ง เขาจึงเดินทางมาเพื่อเป็นพยานในคดีนี้ 

            จากปากคำของนายประเมิน คนขับสามล้อรับจ้าง ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 5 คนโดยทันที ในวันที่ 21 สิงหาคม 2529 พร้อมกับแถลงข่าวการจับกุม ซึ่งเมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ก็มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้ประหารชีวิตฆาตกรกลุ่มนี้ เพราะมีพฤติกรรมที่โหดร้าย 

            และเมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณา นายวินัยกลับถูกปล่อยตัวออกมา ในวันที่  6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 เนื่องจากอัยการพิจารณาแล้วว่า หลักฐานและสำนวนนั้นอ่อนเกินไป ส่วนจำเลยที่เหลือ ได้แก่ นายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย, นายพิทักษ์ ค้าขาย, นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม, นายธวัช กิจประยูร ถูกศาลชั้นต้นสั่งตัดสินประหารชีวิต

            ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 4 คน ได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ และศาลอุทธรณ์ได้รับไว้พิจารณา แต่ระหว่างที่พวกเขาถูกคุมขังอยู่นั้น พวกเขากลับต้องเจอสภาพที่เลวร้ายภายในคุก ทั้งการทุบตีทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ สุขอนามัย โรคระบาด และทำให้นายรุ่งเฉลิม กนกชวาลชัย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2534 ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำบางขวาง ระหว่างที่รอศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี

            ต่อมานายวินัย และญาติพี่น้องของผู้เสียหาย ได้รวมตัวกันร้องเรียน พล.ต.อ.เภา สารสิน อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น เพื่อขอความเป็นธรรม จึงมีการมอบหมายให้กองปราบปรามเร่งสืบคดีนี้ รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดที่ตำรวจเจ้าของคดีมองข้าม มาร่วมสืบสวนใหม่ รวมทั้งภายหลังได้มีการสืบทราบว่า นายประเมิน คนขับรถสามล้อที่ให้การเป็นพยานว่าเห็นกลุ่มคนร้ายประคองผู้ตายออกมานั้น แท้จริงแล้วคือพยานเท็จที่ได้รับการว่าจ้างจากตำรวจ สภอ.เมืองสมุทรปราการ มาในราคา 500 บาท

            จากข้อมูลการสืบสวนใหม่ ก็ทำให้ในวันที่ 21 มกราคม 2535 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้อง นายพิทักษ์ ค้าขาย, นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม, นายธวัช กิจประยูร แต่ให้ขังไว้พิจารณาขณะที่คดีอยู่ในศาลฎีกา และวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2536 ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วยืนคำสั่งตามศาลชั้นอุทธรณ์ สั่งยกฟ้องคดีดังกล่าว จึงทำให้นายพิทักษ์ ค้าขาย, นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม, นายธวัช กิจประยูร ถูกปล่อยตัวออกมารับอิสรภาพ หลังจากที่ทั้ง 3 คนต้องเป็นแพะรับบาปชดใช้กรรมในคุกมาเนิ่นนาน 

            อย่างไรก็ตาม อิสรภาพที่พวกเขาแลกมา ก็มาพร้อมกับความขมขื่น เพราะนายพิทักษ์ ค้าขาย เสียชีวิตเมื่อปลายปี พ.ศ. 2536 หลังจากที่ติดโรคร้ายมาจากในคุก ขณะที่นายธวัช กิจประยูร เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไม่นานหลังจากนั้น

            ส่วนนายกระแสร์ พลอยกลุ่ม ผู้เหลือรอดจากคดีนี้เพียงคนเดียว ได้ออกมาเล่าให้ฟังว่า ชีวิตหลังได้รับอิสรภาพของเขาก็เหมือนกับตายทั้งเป็น ในตอนนั้นเขาบอกกับตำรวจว่าไม่ได้ฆ่า แต่ก็ไม่มีใครเชื่อ นักข่าวเองก็ประโคมข่าว ระหว่างที่อยู่ในคุกก็ถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ ถูกซ้อมจนกระดูกสันหลังร้าว ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่รอให้ศาลชั้นต้นตัดสิน เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินแล้วก็เข้าคุกเลย พอออกมากลับไปหาฟิล์มเอกซเรย์ก็ไม่มี หมอก็หาย เวลาเดินเร็ว ๆ ก็ไม่ได้ นอนหงายก็ไม่ได้ ก่อนที่ตนจะเข้าคุกไปก็มีครอบครัว มีภรรยา ลูกชายและลูกสาวอย่างละ 1 คน แต่ในระหว่างที่อยู่ในคุกนั้น ภรรยาเองก็เครียดจนเสียชีวิต ส่วนลูกสาวก็ถูกฆ่าข่มขืน ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้นลูกสาวกำลังจะสอบชิงทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น และพอออกมาจากคุกแล้ว ตำรวจกลับบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของเวรกรรม

            จากนั้น ตำรวจจึงเริ่มสอบสวนคดีนี้ใหม่ทั้งหมด และมาทราบว่า นายวินัย ชัยพานิช หรือ เสี่ยแจ็ค ซึ่งในขณะนั้นมีภรรยาคือ น.ส.สุวิบูลย์ หรือ กุ้ง ที่อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้แต่งงานกัน โดยนายวินัยเองเป็นคนที่เจ้าชู้ เมื่อมาพบกับ น.ส.เชอร์รี่แอน ก็รู้สึกหลงใหลได้ปลื้ม และแอบเลี้ยง น.ส.เชอร์รี่แอน เอาไว้อย่างลับ ๆ โดยความยินยอมของคุณแม่ของ น.ส.เชอร์รี่แอน เนื่องจากคุณแม่ของ น.ส.เชอร์รี่แอน ทนไม่ได้ที่พ่อมีพฤติกรรมในเชิงชู้สาวกับลูกหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะตอนเมา
    
            จากนั้น ตำรวจได้เข้ารื้อคดีเชอร์รี่แอนขึ้นมาใหม่ โดยสืบเสาะจากนิสัยเจ้าชู้ของนายวินัย และเริ่มแกะรอยคู่ขาแต่ละคนของนายวินัยไปเรื่อย ๆ จนสามารถจับกุมฆาตกรคือ นายสมัคร ธูปบูชาการ ได้เป็นรายแรก และนายสมัคร ก็ได้ซักทอดไปถึงทีมสังหารและผู้บงการ ได้แก่

             นางสาวสุวิบูลย์ พัฒน์พานิช ภรรยาของนายวินัย (ผู้บงการ)
             นายสมใจ บุญญฤทธิ์ (ผู้รู้เห็น)
             นายสมพงษ์ บุญญฤทธิ์ (ผู้ลงมือ)
             นายสมัคร ธูปบูชาการ (ผู้ลงมือ)
             นายพีระ ว่องไววุฒิ (ผู้รู้เห็น)

            ทั้งนี้ คดีนี้ได้ถูกไขไปสู่ความกระจ่าง เมื่อตำรวจผู้สืบคดีนี้ใหม่ ได้รู้ว่า น.ส.สุวิบูลย์ หรือ กุ้ง ภรรยาของนายวินัย เกิดอาการหึงหวง น.ส.เชอร์รี่แอน ที่นายวินัยเลี้ยงเอาไว้ จึงสั่งลูกน้องให้ไปฆ่า น.ส.เชอร์รี่แอน นายสมพงษ์และนายสมใจเอง ก็มีความสนิทสนมกับ น.ส.เชอร์รี่แอน จึงได้ให้นายพีระ ว่องไววุฒิ โชเฟอร์มรณะ ขับรถไปรับ น.ส.เชอร์รี่แอนที่โรงเรียน จากนั้นจึงใช้อุบายอ้างชื่อนายวินัย จน น.ส.เชอร์รี่แอน เชื่อสนิท แล้วจึงหลอกขับรถไปที่บางปู ระหว่างทางเมื่อ น.ส.เชอร์รี่แอน พบความผิดปกติ ก็พยายามขัดขืน กลุ่มฆาตกรจึงบีบคอเธอจนหมดสติ และนำร่างไปทิ้งไว้ที่ร่องน้ำจนจมน้ำตาย ก่อนที่จะพบศพในอีก 2 วันต่อมา

            จากนั้น ในอีก 2 ปีต่อมา วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งประหารชีวิต นางสาวสุวิบูลย์ พัฒน์พานิช ผู้จ้างวาน รวมทั้งนายสมพงษ์ บุญญฤทธิ์ และนายสมัคร ธูปบูชาการ และศาลอุุทธรณ์ได้พิจารณายืนตามศาลชั้นต้น แต่ในชั้นศาลฎีกานั้น นางสาวสุวิบูลย์ ถูกตัดสินให้ปล่อยตัว เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ ไม่มีประจักษ์พยานว่าเป็นผู้จ้างวาน ส่วนนายสมพงษ์และนายสมัครนั้น ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากนายสมัคร ให้การรับสารภาพกับตำรวจในชั้นสอบสวนและจับกุม ขณะที่นายสมใจ ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว

            ส่วนฝั่งตำรวจ สภอ. เมืองสมุทรปราการ ที่สืบสวนคดีนี้และปั้นพยานเท็จนั้น ศาลตัดสินว่า นายตำรวจ 5 คน ทำไปตามหน้าที่ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับเรื่องนี้ มีเพียง พ.ต.ท.มงคล ศรีโพธิ์ รอง ผกก. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ไล่ออกจากราชการ

            ในส่วนของผู้บริสุทธิ์นั้น ได้มีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ รวมแล้วกว่า 10 ปี ทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งศาลแพ่งชั้นต้นได้พิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายในคดีนี้กว่า 26 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมเป็น 38 ล้านบาท

            เบื้องต้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งใจจะอุทธรณ์คดี แต่ นายกระแสร์ พลอยกลุ่ม หนึ่งในแพะรับบาป ได้ยื่นหนังสือต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เพื่อขอร้องไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติอุทธรณ์คดีดังกล่าว โดยในหนังสือขอความเป็นธรรมระบุว่า นายกระแสร์และพวกได้รับความเสียหายมาเป็นเวลานาน แต่กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือใด ๆ จากหน่วยงานราชการ ซึ่งคดีนี้มีข้อยุติแล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลแพ่งจึงได้มีคำสั่งพิพากษาให้ชดใช้เงิน เมื่อเทียบกับความเสียหายแล้วก็ไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ แต่ก็เพียงพอที่จะนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและครอบครัว จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาขอความเห็นใจและสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้

            ถือได้ว่าเรื่องนี้คืออีกหนึ่งบทเรียนของสังคมไทย และคดีนี้ได้กลายมาเป็นคดีตัวอย่างในการออก พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ในที่สุด

 

Credit: http://hilight.kapook.com/view/99535
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...