รับได้ไหม? เมื่อกะเทย เกย์ ชายรักชาย มีสิทธิจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย
Mthainews: เมื่อเอ่ยถึงสาวประเภทสองใน ประเทศไทย หลายคนเป็นที่ยอมรับ ถึงความสวย อรชร ราวกับผู้หญิง และสิ่งที่ตามมาพร้อมกับวิวัฒนาการ ของสาวประเภทสองคือ เทคนิคทางศัลยกรรม ที่จะช่วยแต่งเสริมเติมแต่งให้มีความเป็นหญิงทั้งร่างกาย และใบหน้า ดังจะเห็นได้จากสาวสวยหลายคน หากมองเห็น หรือรู้จักแค่ผิวเผิน ก็คงแยกไม่ออก
ขณะเดียวกันสิ่งที่ตามมาอีกประการ คือ สิทธิ ต่างๆทางกฎหมาย ที่สาวประเภทสองเรียกร้องมาโดยตลอดทั้งการเปลี่ยนชื่อนำหน้าเป็นนางสาว สิทธิในการจดทะเบียนสมรส หรือการละเว้นในการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
จะเห็นได้ว่า สาวประเภทสอง ได้รับโอกาสมากขึ้นในสังคม แม้กระทั่งในแวดวงการเมือง ที่ นายยลลดา เกริกก้อง สวนยศ นายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย ชนะเลือกตั้ง ส.อบจ.น่าน หรือน้องฟิล์ม ธัญญรัศม์ จิราภัทร์ภากร มิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์สปี 2007 ก็ได้โอกาสเป็น แอร์โฮสเตสสาวประเภทสองคนแรกของเอเชีย ในสายการบิน พี.ซี.แอร์ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่เปิดกว้างในทุกสาขาอาชีพ
การเปลี่ยนคำนำหน้าในบัตรประชาชนของผู้ที่แปลงเพศแล้ว จึงเกิดการถกเถียงกันมาโดยตลอด ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องในด้านการติดต่อราชการ การขอเอกสารต่างๆเดินทางไปต่างประเทศ ที่เป็นอุปสรรคให้เกิดความสับสน เข้าใจผิด และล่าช้า แต่ในขณะเดียวกัน เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า จะเกิด อะไรขึ้น หากสาวประเภทสองขึ้นต้นด้วยว่า นางสาว จะเป็นปัญหาสำหรับชายหนุ่ม ที่หวังสร้างครอบครัว แต่กลับไม่มีมดลูกไว้สืบพันธุ์ จึงเป็นเรื่องที่ดูวุ่นวายสับสน
ที่เห็นได้ชัด จากความสวยจนผู้หญิงยังอาย อย่างน้องพลอย สาวประเภทสองที่ เป็นข่าวโด่งดังกับ อาร์ต พศุตม์ บานแย้ม พระเอกหนุ่ม จนกลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ เป็นสาวที่ใครๆต่างพูดถึง หากต้องใช้นางสาวขึ้นมาอะไรจะเกิดขึ้น
ส่วนกรณีการจดทะเบียนสมรส ชายกับชาย หรือเกย์นั้น หลายประเทศมีการออกกฎหมาย ให้คู่แต่งงานที่เป็นเกย์ มีสิทธิเทียบเท่ากับคู่สมรสทั่วไป เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) แคนาดา อาร์เจนตินา นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และ เวียดนาม ที่กำลังพิจารณาเสนอร่างกฎหมายอนุญาตให้ชาวเกย์แต่งงานกันได้ ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน จะทำให้เวียดนามกลายเป็นแห่งแรกในทวีปเอเชีย ที่ให้สิทธิดังกล่าวแก่ชาวรักร่วมเพศ
สำหรับประเทศไทยนั้น นายนที ธีระโรจนพงษ์ อายุ 55 ปี แกนนำเครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศ พร้อมด้วยนายอรรถพล จันทวี แฟนหนุ่ม อายุ 38 ปี ได้เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่เพื่อขอจดทะเบียนสมรส หลังครองคู่ชีวิตกันมากว่า 19 ปี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา
แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้ เนื่องจากทั้งคู่เป็นชายทั้งสองฝ่าย ทำ ให้ขัดต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 10 พุทธศักราช 2533 หมวดที่ 2 เงื่อนไขแห่งการสมรส มาตรา 1448 ได้ระบุว่า การสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อ ชายและหญิงเท่านั้น แต่อย่างไรก็ ตาม นายนทีจะยังคงเดินหน้า นำเอกสารดังกล่าวไปปรึกษากับทางทนายความส่วนตัวอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะร้องศาลปกครองโดยอ้างว่า เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล
อย่างไรก็ดี แม้ว่าสังคมไทย จะเปิดโอกาสให้สาวประเภทสอง เกย์ มีจุดยืนในสังคมในหลายๆด้าน แต่ต้องพึงระวังว่า การไม่รู้จักพอ ได้เรื่องหนึ่งก็อยากได้สอง สาม สี่ ต่อไปอีกเรื่อย จะกลายเป็นปัญหา ที่ต้องมาไล่แก้กฎหมายไปเรื่อยๆ ว่า ต้องให้สิทธิเพศไหน ทั้งกะเทย กะเทยแปลงเพศ เกย์ จะแยกกันอย่างไร และจะเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่