คุณผู้หญิงหลายคนอาจเคยมีอาการอารมณ์เสีย (หรืออกหัก) แล้วทานอาหารมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะขนมหวาน ของขบเคี้ยว จั๊งฟู้ด เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น ล่าสุดนักวิจัยชาวอเมริกันออกมาอธิบายถึงสาเหตุนี้
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ของสหรัฐฯได้ทำการทดลองเพื่อตรวจสอบว่า คนที่มีอารมณ์ดีจะเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์จริงหรือไม่ และคนที่อารมณ์ไม่ดีจะเลือกทานอาหารขยะมากขึ้นตามที่ตั้งสมมติฐานไว้จริงหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่า อารมณ์ของคนเรามีผลต่อการเลือกทานอาหารจริง
นางเมอริล การ์ดเนอร์ หัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้ได้สรุปผลวิจัยไว้ว่า มุมมองต่อช่วงเวลาจะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เช่น การกิน นั่นคือ เมื่ออารมณ์ไม่ดี คนเรามีแนวโน้มที่จะเลือกทานอาหารขยะมากขึ้น ในทางกลับกัน เมื่ออารมณ์ดี ก็จะเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น
เนื่องจากว่า ความทุกข์จะทำให้คนเราไม่คิดถึงอนาคตและสุขภาพในระยะยาว จึงเลือกที่จะทานอาหารถูกปากแต่ไม่มีประโยชน์ เพื่อเป็นการให้รางวัลและปลอบใจตนเอง ตลอดจนเพื่อให้เกิดความพึงพอใจกับชีวิต ขณะที่ ความสุขจะทำให้คิดถึงอนาคตและสุขภาพในระยะยาว จึงเลือกทานอาหารดีๆ มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อบำรุงตนเองให้แข็งแรงต่อไปนั่นเอง
ทั้งนี้ เธอได้กล่าวสรุปว่า เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ที่เวลารู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ จะเบนความสนใจไปหาสิ่งที่ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด นั่นคือ สมองมัวแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้หายอารมณ์เสีย มากกว่าที่จะสืบหาต้นเหตุของเรื่องนั้นๆ ทำให้อาหารขยะที่หาทานได้ง่าย อย่างแฮมเบอร์เกอร์หรือขนมขบเคี้ยว จึงกลายเป็นทางออกของหลายๆ คน
ดังนั้น นางการ์ดเนอร์จึงเตือนว่า ทุกคนควรที่จะสังเกตตนเอง พยายามควบคุมจิตใจ และจัดการกับความรู้สึกเชิงลบด้วยวิธีที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น พูดคุยกับเพื่อน ออกไปเที่ยว หรือออกไปดูหนังฟังเพลง มากกว่าที่จะระบายอารมณ์ด้วยอาหารที่จะกลายเป็นโทษในภายหลัง
ซ้ำขออภัยค่ะ