′ดารา-นักร้อง′ กับ...พิษเลือกข้าง

นับแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยใช้สัญลักษณ์สีเหลืองหรือเสื้อเหลือง

จนนำไปสู่การรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ 19 กันยายน 2549

จากนั้นเกิดกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร ภายใต้ชื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการหรือ นปก.และอีกหลายกลุ่มกระทั่งมายุบรวมกันเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใช้สัญลักษณ์สีแดงหรือเสื้อแดง

ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเคลื่อนไหวเลือกข้างอย่างชัดเจน 

กระทั่งเกิดวาทะ "อำมาตย์" และ "ไพร่" ขึ้นมา

ส่งผลให้เกิดการเลือกข้างอย่างชัดเจนและกระทบไปในกว้างเกือบทุกสาขาอาชีพ 

ในห้วงเวลานี้ความแตกแยกในสังคมก็หวนกลับมาอีกคำรบหนึ่ง 

เมื่อกลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และมีแกนนำ พธม.บางส่วนผสมโรงด้วย

ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มี นปช.เป็นแนวร่วมสำคัญ

ส่งผลให้บรรดาคนมีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ เจ้าของธุรกิจ ดารา นักร้อง นักแสดง ที่เปิดหน้าเชียร์หรือขึ้นเวทีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะถูกต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม 

ยิ่งไปปรากฏตัวหรือทำกิจกรรมในพื้นที่ที่เป็นแนวร่วมของฝ่ายตรงข้ามด้วยแล้ว จะถูกต่อต้านอย่างหนักถึงขั้นยกเลิกการแสดง ซึ่งมีนักร้อง นักแสดง ได้รับบทเรียนนี้มาแล้ว

นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่าการเเสดงความคิดความเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ระหว่างการต่อสู้ของผู้ขัดเเย้งทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแต่ว่าต้องระมัดระวังอย่าให้เกินเลยไปถึงขั้นยุยงส่งเสริมให้เกิดความขัดเเย้งเกลียดชังกัน 

"การเเสดงออกทางความคิดความเห็นของศิลปินดารา ขอให้ประชาชนรู้จักเเยกเเยะ อย่าปะปนกันระหว่างความสามารถในการเเสดงของตัวดาราศิลปินกับความคิดเห็นทางการเมืองของเขาหรือเธอ เพราะเเท้ที่จริงเเล้ว คำพูดเเละการกระทำของพวกเขา ถือเป็นเสรีภาพในการเเสดงออก ยกเว้นว่าดาราคนนั้นจะไปแสดงออกในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่นไปเเสดงออกถึงความเกลียดชัง หรือยุยงให้เกิดความรุนแรง ถ้าเป็นแบบนี้คนในวงการต้องตักเตือนกัน" นายโคทมกล่าว และว่า หากเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองระดับปกติ แล้วกลุ่มประชาชนที่เห็นต่างกลับไปบอยคอตศิลปินเหล่านั้น คิดว่าเป็นปฏิกิริยาที่เกินกว่าเหตุ

นายโคทมให้ความเห็นว่า ศิลปินดารา ผู้มีชื่อเสียง หรือบุคคลสาธารณะที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือร่วมขึ้นเวทีของฝ่ายใด อย่างน้อยต้องมีขอบเขต ไม่ใช่เอาเเต่ยุยง ด่าๆ ให้คนเกลียดชังกัน พูดเท็จบ้างจริงบ้างหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงจนนำไปสู่ความรุนเเรง เป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรรู้อยู่เเล้วว่าไม่ควรทำ ซึ่งศิลปินดาราต้องยิ่งระวัง เพราะดารามีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ สามารถทำให้หลายคนคล้อยตามได้อยู่เเล้ว

ด้าน นายธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ นักการตลาดชั้นนำมองว่า ในภาวะปกตินักกลุยทธ์การตลาดจะระมัดระวังในการเลือกดารา และศิลปินอยู่แล้ว เวลาเลือกคนดังมาสร้างแบรนด์หรือกลยุทธ์เกี่ยวกับแบรนด์ที่เรียกว่า เซเลบริตี้ มาร์เก็ตติ้ง หรือการตลาดผ่านคนดัง นักการตลาดจะต้องคำนึงถึงกรอบ หลักๆ คือความน่าเชื่อถือของดาราคนนั้น พูดแล้วได้รับความเชื่อถือในกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ 

"ในสถานการณ์ภาวะปัจจุบันมันเป็นวิกฤต แนะนำว่านักการตลาดอาจต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของคนดัง หรือเซเลบเข้าไปด้วย ต้องดูว่ามีภาพลักษณ์อย่างไร เช่น แบรนด์อาจระวังดารา หรือเซเลบริตี้ที่มีเรื่องโยงใยการเมือง หากเลือกดาราหรือศิลปินที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของเป้าหมายอาจทำให้ถูกแอนตี้ (ต่อต้าน) ได้" นายธีรพันธ์กล่าว และว่า ในภาวะวิกฤตควรพิจารณาในเรื่องภาพลักษณ์ของดารา และเซเลบริตี้ ต้องไม่โยงใยเรื่องการเมือง เพราะหากไปโยงใยการเมือง ศิลปินหรือดาราคนนั้นอาจถูกแอนตี้ได้

ขณะที่ "แตงโม" หรือ ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์  นักแสดงชื่อดัง ประกาศตัวชัดเจนยืนข้าง กปปส.มาโดยตลอดพร้อมขึ้นเวทีปราศรัยให้ความเห็นว่าโมไม่มีผล และไม่ได้มีงานทัวร์คอนเสิร์ตด้วย ส่วนใหญ่เป็นงานโชว์ตัว งานโชว์ตัวนี่ก็ไม่ได้เรียกลูกค้าที่เป็นขาจรอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นงานโชว์ตัวเปิดตัวสินค้าหรืออะไรก็ตาม มีแขกที่ทางงานเขาเชิญอยู่แล้ว งานก็รับเป็นปกติเลยค่ะ โมคิดด้วยเหตุผลแล้วถ้าเขามีความคิดต่างเขาก็คงต้องไม่อยากได้เราไปงานของเขาอยู่แล้ว

พร้อมกับให้ความเห็นกรณีของ อ๊อฟ-ปองศักดิ์ ที่ถูกต่อต้านไม่ไปแสดงที่เชียงใหม่ว่า น่าเห็นใจเพราะว่าถ้าเกิดเป็นตามธรรมชาติ คือคนที่ไม่ชอบฟังเพลงพี่อ๊อฟก็ไม่ต้องมา คนที่ชื่นชอบก็ไปเชียร์ให้กำลังใจก็โอเค แต่คือคนที่ไม่มาดูแล้วไปป่วนที่ร้าน เหมือนว่ารุกล้ำงานเขาจนเจ้าของร้านต้องยกเลิก น่าเห็นใจ 

"ต้องแยกให้ออก เขาไปร้องเพลง เป็นการให้ความเป็นบันเทิง เป็นการทำงานของเขา ควรใช้วิจารณญาณ แต่กลับใช้อารมณ์ที่ออกไปป่วนเขา คือถ้ามีเหตุผล ให้วิจารณญาณที่ดีที่ถูกต้อง คงเห็นว่าถ้าเขาเห็นต่างกันอยู่คนละฝั่งไม่น่าจะเป็นอะไร อย่างร้านที่เป็นผับ หรือเป็นร้านอาหาร จะจ้างใครสักคนเขาต้องทำรีเสิร์ชก่อนอยู่แล้วว่าใครที่ลูกค้าชอบ อาจจะมีชอยส์มาสามถึงห้าคนหรือวงว่าใครที่น่าสนใจดึงดูดลูกค้ามากที่สุดแล้วก็เลือกมา แต่พอมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยว ก็คล้ายๆ กับอุบัติเหตุเหมือนกัน แล้วพี่อ๊อฟก็แค่ออกมาช่วยชาวนาเท่านั้นเองจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหนก็ช่วยชาวนาด้วยกันทั้งนั้น" ภัทรธิดาระบุ

เมื่อถามว่าคิดต่างกันอย่างนี้จะอยู่ด้วยกันได้มั้ย ภัทรธิดาบอกว่า "ถ้าพอระยะเวลานานขึ้น คนจะเริ่มเบื่อปัญหา เหนื่อยกับการต่อสู้ จะนิ่งขึ้น พูดถึงเรื่องนี้น้อยลง อุดมการณ์หนักแน่นเหมือนเดิมล่ะค่ะ แต่จะโต้เถียงกันน้อยลง อันนี้คือถ้ายังยืดเยื้อต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้ารุนแรงขึ้นมาเมื่อใดคืออยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายก็บอกว่าตัวเองถูก บอกว่าอีกฝ่ายผิด ไม่ยอมแพ้กันทั้งสองฝ่าย ทางกลับกัน ยืดเยื้อแบบนิ่งๆ ไปตลอดอาจจะนิ่งก็ได้ แต่ถ้ารุนแรงจะน่ากลัว

"สำหรับโมไปเที่ยวเชียงใหม่ปกติดีสบายๆ แต่อาจจะเป็นเพราะว่างานพี่อ๊อฟไปเขาระบุสถานที่ ก็กลายเป็นเป้านิ่งในการไปป่วน" ภัทรธิดาระบุพร้อมบอกถึงการรับงานของแฟน "โตโน่" ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ว่า ของพี่โน่ค่อนข้างจะโชคดี เพราะตอนนี้ได้งานจากภาคใต้เยอะขึ้นมาก งานเข้าเยอะมาก ก็โอเค เป็นอะไรที่อบอุ่นมาก ตอนนี้งานเลยเยอะ

ด้านผู้จัดงานอีเวนต์ให้ความเห็นถึงผลกระทบว่า ช่วงนี้ไม่กระทบเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอีเวนต์อะไร เลื่อนไปอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไร อย่างดาราที่จะมาถ้าเป็นคนที่แรงมากๆ จะมีปัญหาบ้าง แต่ถ้าเป็นดาราที่แค่ขึ้นไปให้ความบันเทิงก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วแต่ว่าลูกค้าจะโอเคไหม แต่ส่วนใหญ่ที่เจอมาก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าคนที่ขึ้นไปปราศรัยด่าทอบนเวทีก็มีบ้าง 

เมื่อถามว่าขอเปลี่ยนตัวดารานักร้องที่ไปขึ้นเวทีปราศรัยบ้างไหม 

"ผู้จัดงานอีเวนต์" บอกว่า น้อยมาก แทบจะไม่ค่อยมี ที่เจอมามีคนสองคนเท่านั้นที่ทางงานขอเปลี่ยน เพราะว่าเขาแรงไปนิดนึงบนเวที สมัยนี้คนเราก็รู้นะว่าไปทำเพื่ออะไร ไปให้ความบันเทิง ไม่ได้ไปหาเสียงอะไร เขาน่าจะเข้าใจ คนไทยทุกคนคงเข้าใจอะไรมากขึ้นด้วยเพราะเป็นงานให้ความบันเทิง

"จริงๆ แล้วตอนนี้งานน้อยลงมากพราะพอมีปัญหาการเมือง เศรษฐกิจก็ชะลอตัว ทุกอย่างชะลอหมดเลย อีเวนต์ก็ช้าลง เอาง่ายๆ ว่าจะจัดได้รึเปล่า สิ่งที่น่าจะระวังคือระวังว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไงต่อไปมากกว่า ถ้าเหตุการณ์ไม่จบสักทีประเทศชาติจะเป็นยังไงมากกว่า ดารานักแสดงที่จะไปงานอีเวนต์รึเปล่านี่เป็นประเด็นรองมากกว่านะ เศรษฐกิจเป็นประเด็นหลัก"

 

ผู้จัดงานอีเวนต์กล่าวทิ้งท้าย

 

27 ก.พ. 57 เวลา 21:17 2,392
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...