บรรดาเครื่องทองอันทำจากฝีมือช่างทองโบราณทั่วโลกนั้น ที่เหลืออยู่ จนถึงปัจจุบันโดยไม่ถูกยุบทำลายไปมีอยู่มาก ซึ่งบางชิ้นได้กลายเป็นหลักฐานบอกถึงเหตุการณ์ในยุคนั้นๆ แต่จากความมีค่าของทองเอง เครื่องทองจำนวนไม่น้อยได้ถูกยุบลงไป กลายไปเป็นของแลกเปลี่ยนทางการค้า
ในสมัยก่อน ทองเป็นวัตถุมีค่าที่มีการเปลี่ยนมือแย่งชิงกัน ทั้งในด้านส่วนตัวและการสงครามมากที่สุด และจากความรํ่ารวยทองของพวกอินเดียนแดงในภาคกลางของอเมริกา ตลอดจนภาคใต้ของอเมริกากลาง ซึ่งช่างโบราณอินเดียนได้ใช้ฝีมือที่เลอเลิศประดิษฐ์ ขึ้น และจากการกวาดชิงเอามาของชาวต่างชาติที่มีชัยเหนือพวกเหล่านั้น ฝีมือที่ช่างทองยุโรปได้พบเห็นเข้าก็ถ่ายทอดลักษณะ และเปลี่ยนแปลงไปตามศิลปะของตัวเข้าผสม ถ่ายทอดออกมาแก่ลูกหลาน ผ่านมาจนรุ่งเรืองในสมัยเรอเนสซองต์ในยุโรป
บรรดาเครื่องทองโดยฝีมือช่างโบราณเท่าที่ค้นพบมาและหาไม่ได้แล้วนั้น ทางยุโรปได้จัดยอดของเครื่องทองหรือ Golden Master Pieces ไว้รวมเก้าชิ้น เราจะมาดูกันว่าเครื่องทองโบราณที่ฝรั่งยกย่องกันนักว่า มีค่าสมควรแก่คำว่า โกลเด้นมาสเตอร์พีซทั้งเก้าชิ้นนั้นมีอะไรบ้าง
อันดับที่หนึ่ง นั้นเขายกให้แก่ รูปสลักทองเทพเจ้าโปโปโร (Poporo) อันเป็นฝีมือสลัก และทำรูปเทพเจ้า ที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร ทราบเพียงแต่ว่าเป็นรูปแบบที่นิยม ของอินเดียนแดงที่ชอบประดิษฐ์ทอง ลักษณะดังกล่าวในกลางศตวรรษที่ผ่านมา แม้ว่ารูปสลักของเทพเจ้าชิ้นนี้ จะขาดหายหรือชำรุดไปบ้าง แต่ก็เป็นฝีมือทำทองที่ไม่เห็นรอยต่อ และบางประดุจเปลือกหอยเลยละ ปัจจุบันเครื่องทองชิ้นนี้ตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ของกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย อันมีเครื่องทองตั้งแสดงอยู่ถึงหมื่นแปดพันชิ้น ล้วนแต่เป็นศิลปะฝีมือช่างอินเดียนแดงโบราณทั้งสิ้น แต่ถือว่าชิ้นนี้เด่นที่สุด
เครื่องทองชิ้นที่ 2 ที่ฝรั่งยกย่องก็คือ เครื่องทองรูปช้าง ที่พบที่ไอวอรี่โคสต์ (lvory Coast) เมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา กล่าวกันว่าเครื่องทองชิ้นนี้ทำขึ้น โดยประกอบด้วยทองเส้นลายละเอียดยิบ และจากฝีมือของช่างตระกูลเดียวกัน ได้ทำเครื่องทองเป็นรูปสัตว์ไว้หลายชิ้น แต่ชิ้นนี้เด่นที่สุด ปัจจุบันอยู่ ในพิพิธภัณฑ์อาฟริกันโกลด์สมิธ ของไอวอรี่โคสต์
เครื่องทองชิ้นที่ 3 นั้นเป็นเครื่องทองที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และคนรู้จักกันมากที่สุด นั่นก็คือ เครื่องโต๊ะอันเป็นที่ใส่เกลือ-พริกไทย ฝีมือของเบนเวนูโต เซลลินี่ ซึ่งเป็นเครื่องทองที่ถือกันว่าเลิศด้วยศิลปะ ที่เซลลินี่ทำขึ้น ถวายพระเจ้าฟรานซิสที่หนึ่ง เมื่อ ค.ศ. 1543 นับว่าเป็นฝีมือช่างอิตาลีที่งดงามที่สุด ชุดใส่เกลือ-พริกไทยนี้ทำด้วยทองสลักเป็นรูปของเนปจูนและซีเรส ราชาเจ้าทะเลและราชินีแห่งพื้นดิน กำลังทรงพระถกกันเรื่องมงกุฎที่จมอยู่ ณ ใต้ดินตามนิยายของกรีก
ทางด้านข้างมีโบสถ์ไอโอนิคเป็นที่ใส่พริกไทย อีกข้างหนึ่งเป็นที่ใส่เกลือรูปเรือโรมันโบราณ ฐานด้านล่างเป็นเรื่องราวในนิยายของเทพเจ้าต่างๆโดยรอบ และแม้จะเล็กถึงอย่างนี้ เซลลินี่ก็ฝากฝีมือไว้อย่างเลิศทีเดียว ทุกสัดส่วนแสดงอารมณ์ไปเสียทุกสิ่ง
เครื่องทองชิ้นที่ 4 ที่ฝรั่งยกนิ้วให้นั้นแปลกประหลาดที่สุด ฝรั่งเขายก โกลเด้นมาสเตอร์พีซชิ้นนี้ ไปให้จีน นั่นก็คือ ฉลององค์เต็มยศ ของพระจักรพรรดิจีน ในราชวงศ์หมิง อันเป็นฉลององค์ "ชุดใหญ่" โดยฉลององค์ชุดนี้ปักด้วยเส้นทองคำแท้ๆ และเงินเป็นรูปท้องฟ้า มีรูปนกยูงและสิงโต เส้นทองที่ปักนั้นละเอียดยิบตรึงด้วยไหมทอง ซึ่งเมื่อวัดแล้ว ฉลององค์ตัวนี้กินเนื้อที่ปักทองถึงเจ็ดพันตารางนิ้วทีเดียว
เครื่องทองชิ้นที่ 5 นั้น คือ จอกสุราทองของเปอร์เซีย เป็นจอกสุราทองประกอบรูปสิงโต อันเป็นถ้วยเหล้าที่งามเลิศที่สุดของสมัยนั้น ถ้วยใบนี้พบในตอนเหนือของประเทศอิตาลี มีขนาดยาวจากหูถ้วยที่เป็นรูปสิงโตห้านิ้วครึ่ง
เครื่องทองอีทรัสกัน (Etruscan) อีกชิ้นหนึ่งที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในเก้าชิ้นของเครื่องทองมาสเตอร์พีซ นั่นคือชิ้นส่วนของเครื่องประดับมีขนาดเล็กไม่ถึงหนึ่งนิ้ว ชิ้นส่วนของเครื่องประดับทองบริสุทธิ์นี้เมื่อขยายดูแล้วจะเห็นว่าเลิศด้วยฝีมือของช่าง และช่างนั้นจะต้องชำนาญมากที่เดียว เขาทำได้อย่างไรกัน เมื่อก่อนมีกล้องขยายภาพด้วรึ?
ความประณีตของ เครื่องทองชิ้นที่ 6 อันเป็นชิ้นมาสเตอร์พีซนี้อยู่ที่การทำรูปร่างดุนออกมา เป็นลายละเอียดยิบเป็นจุดเม็ดเล็กๆ มากมาย มีดอกไม้ช่อผลไม้ละเอียดดุจของจริง หลายดอกหลายช่ออยู่เบื้องล่าง โค้งบนสลักลายที่ทำได้ยังไงในเมื่อแว่นขยายยังไม่มี
ปัจจุบันเครื่องทองชิ้นนี้ อยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่อิตาลี ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า เจ้าหน้าที่ทูตอันเป็นทหาร ได้รับมาจากทหารที่ขุดพบในศตวรรษนี้
โกลเด้นมาสเตอร์พีซชิ้นที่ 7พนักทองของบัลลังก์ แห่งยุวกษัตริย์ตุตันคาเมน โกลเด้นมาสเตอร์พีซ ที่ลือชื่อนี้เป็นทองแผ่นสลักรูป ของตุตันคาเมนกับพระนางแอนเกสเซนนาเมน ประดับด้วยแก้วและหินสี คือ ลาพิซลาซุลลี่และเทอร์คว้อย ความประณีตบรรจง ของภาพสลักทอง เมื่อสามพันกว่าปีก่อนชิ้นนี้ ก็คือกิริยาท่าทางของพระมเหสีสุดที่รัก ของตุตันคาเมน บรรจงทาเครื่องหอมให้กับกษัตริย์หนุ่ม แววตาสีหน้าท่าทางอันเป็นภาพสลักแบนๆ นี่ดูแล้วประดุจภาพปั้นทีเดียว
โลงพระศพทองคำ
เครื่องทองชิ้นเอกชิ้นที่ 8 อียิปต์ก็กวาดเอาอีก และก็เป็นพระราชสมบัติ ของตุตันคาเมนเช่นเคย นั่นคือ โลงพระศพ... อย่าเชียว ท่านผู้อ่านอย่าได้คิดว่าเป็นโลงโซลิดโกลด์ชั้นในสุด ที่หนาตั้งเซ็นต์ ครึ่งนั้นนะ ฝรั่งเขายกย่องโลงบรรจุพระศพ ของตุตันคาเมนก็จริงอยู่ แต่เขายกย่องโลงบรรจุพระศพไม้หุ้มทอง ชั้นที่สองจากภายในสุด ตังหากเล่า ว่าเลิศด้วยฝีมือของช่างทอง ที่ตีแผ่ทองประกอบกับไม้ ประดับประดาสวยดุจภาพของคน จริงๆ สัดส่วนงดงามเลิศประณีตที่สุด
โกลเด้นมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้าย ตุตันคาเมนกวาดไปกินเสียเช่นเคย เครื่องทองชิ้นที่เก้านี้ก็คือ บานประตูทองของหีบศพชั้นต้น ซึ่งมีรูปแกะสลักเทวีไอซิสกางแขน เป็นยามเฝ้าพิทักษ์พระศพ ของตุตันคาเมน ลวดลาย แจ่มกระจ่างแววตาสีหน้า บอกถึงความเมตตาปรานีและเอื้ออาทรต่อยุวกษัตริย์