มเหสีที่ทรงโทมนัสที่สุดในประวัติศาสตร์

 

 

 

 

 

         สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า    

                                                                       

       หรือที่รู้จักกันในนาม พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา  ทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอองค์ที่ ๖0 ในรัชกาลที่ ๔ กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้า

                    พระพันวัสสามีพระราชโอรสธิดารวม ๘ พระองค์ ได้แก่

๑. เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

๒. เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์

๓. เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา

๔. เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์

๕.เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

๖.เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ

๗. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

๘. เจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม)

     นอกจากนี้ยังทรงรับอภิบาลพระเจ้าลูกเธอที่กำพร้าพระมารดาอีก ๔ พระองค์

๑. พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท

๒. พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์

๓.พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไล

๔.พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร

       แม้สมเด็จพระพันวัสสาจะทรงพระอิศริยยศสูงส่ง แต่ก็ทรงประสบกับความทุข์ด้วยพระราชโอรสธิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้แก่ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชันษาเพียง ๒๑ วัน ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ และปี พ.ศ.๒๔๒๔ ทรงสูญเสีย เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา พระชันษาเพียง ๔ เดือน

      ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๓๖ เจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม) ซึ่งประสูติได้เพียง ๓ วัน สิ้นพระชนม์ จากนั้นก็มีเหตุให้ทรงโทมนัสแสนสาหัสอีกหลายครา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสีย เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหันด้วยโรคไข้รากสาดน้อย ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗

       เล่ากันว่าสมเด็จพระพันวัสสาทรงล้มทั้งยืนในทันที สิ้นพระสติสมประดี ครั้นรู้สึกพระองค์ก็ทรงพระกันแสงอย่างรุนแรง ทรงใช้พระกรข้อนพระอุระด้วยปริเทวนาการดังจะสวรรคตตามไป ไม่ทรงฟังคำปลอบประโลมใดๆ ทรงโศกเศร้าจนไม่เสด็จกลับตำหนัก กั้นพระฉากบรรทมในที่ประดิษฐานพระบรมศพพระราชโอรส ไม่เสวยพระกระยาหาร จนทรงพระประชวรในที่สุด

      เวลาผ่านไป พระสุขภาพเริ่มดีขึ้น เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ พระชันษา ๑๐ ปี ก็สิ้นพระชนม์ พระพันวัสสาทรงเสียพระทัยถึงกับประชวรอีกครั้ง แพทย์ต้องกราบบังคมทูลขอให้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่ชายทะเล แต่ยังไม่ทันได้เสด็จไป เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ก็สิ้นพระชนม์ตามไปอีก ในปี พ.ศ.๒๔๔๒

      สมเด็จพระพันวัสสาทรงพระประชวรหนักถึงทรงพระดำเนินไม่ได้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ทรงโศกสลดและแทบจะทรงหมดกำลังพระทัย พระราชพิธีพระราชทางเพลิงศพจัดขึ้นต่อเนื่องกัน ณ พระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) พระพันวัสสาทรงโศกเศร้าเกินจะห้ามพระทัย ไม่ได้เสด็จไปพระราชทานเพลิงทั้งสามพระองค์

       ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสู่สวรรคาลัย สมเด็จพระพันวัสสาทรงพระประชวรสลบไปทันที 

        ในพ.ศ. ๒๔๘๑ เจ้าพนักงานตำรวจเชิญ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ขณะนั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจพระราชวัง ด้วยเหตุผลทางการเมือง (หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว) พระพันวัสสาทรงต่อรองรับประกันด้วยพระราชทรัพย์ทั้งหมดเพื่อแลกกับอิสรภาพของพระโอรส เมื่อไม่สำเร็จทรงรับสั่งว่า ทำไมรังแกกันอย่างนี้ มันจะเอาชีวิตฉัน เห็นได้เทียวว่ารังแกฉัน ลูกตายไม่น้อยใจช้ำใจเลย เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ทุกข์ที่สุดจะทุกข์แล้ว

       ภายหลัง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยพร้อมสมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่า) พระธิดาพระโอรสทั้ง ๓ (พระพี่นางฯ รัชกาลที่ ๘ รัชกาลที่ ๙)

         ความสุขในวังสระปทุมหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงประชวร พระอาการทรุดหนักสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จฯมาทอดพระเนตรพระอาการด้วยพระพักตร์สงบแม้จะตกพระทัยมาก ประทับอยู่ใกล้พระแท่น สมเด็จพระบรมราชชนกพระเนตรปรอย ลืมพระเนตรขึ้นแล้วเสด็จสวรรคตในทันที พระพันวัสสาทรงคุกพระชนฆ์ลง ยื่นพระหัตถ์ไปทรงปิดพระเนตร แล้วซบพระพักตร์ลง

         ความโทมนัสแสนสาหัสที่เกิดขึ้นน่าจะจบลงเพียงแค่นั้น เพราะพระพันวัสสาทรงปีติปลาบปลื้มกับพระนัดดาทั้งสาม พระสุขภาพที่ทรุดโทรมก่อนหน้านี้ค่อยดีขึ้น ด้วยพระราชหฤทัยที่ชื่นบาน  แต่.......

         พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดลฯ เสด็จสวรรคต ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูล ทรงรำลึกเสมอว่า "ทรงมีหลานชาย ๒ คน

         วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๙ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคต ณ วังสระปทุม ด้วยอาการพระทัยวาย รวมพระชนมายุ ๙๓ พรรษา ๓ เดือน ๗ วัน จากรัชกาลที่ ๔ ถึง รัชกาลที่ ๙ รวม ๖ แผ่นดิน ทรงผ่านทั้งความสุข ความทุกข์โศกใหญ่หลวง แต่ก็ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้จนบังเกิดพระขันติธรรม นำให้เข้าพระทัยในธรรมดาแห่งชีวิต

          เล่ากันมาว่าทรงอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูปว่า ขอให้ลืม ลืมให้หมด อย่าให้มีความจำอะไรเลย จำอะไรขึ้นมา ก็ล้วนแต่ความทุกข์ทั้งนั้น    

          นี่แหละค่ะ ความทุกข์ของผู้หญิงคนหนึ่ง ในฐานะมารดามิใช่ราชินี

       

Credit: http://board.postjung.com/747132.html
24 ก.พ. 57 เวลา 07:30 1,259 1 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...